มติ ครม. อนุมัติกรอบสินเชื่อฟื้นฟูโรงเรียนเอกชน กู้ได้ 20 ล้าน ดอก 2%

ที่มาภาพ: Reuters/Nathan Denette/Pool via

มติ ครม.อนุมัติกรอบสินเชื่อฟื้นฟูโรงเรียนเอกชน กู้ได้ 20 ล้าน ดอก 2% รวมถึงเห็นชอบตามที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภา เสนอ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านนโยบายภาษาแห่งชาติ (พ.ศ. 2564–2565)

วันที่ 30 มิถุนายน 2654 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ 2 เรื่อง คือ อนุมัติหลักการและกรอบหลักเกณฑ์การขอยื่นกู้สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) เพื่อช่วยโรงเรียนเอกชน และเห็นชอบตามที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภา เสนอ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านนโยบายภาษาแห่งชาติ (พ.ศ. 2564-2565)

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

น.ส.ตรีนุชกล่าวว่า ทางคณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง เสนอหลักการและกรอบหลักเกณฑ์การขอยื่นกู้สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) ซึ่งจะช่วยโรงเรียนเอกชน ประเภทที่เก็บเงินค่าธรรมเนียมการศึกษา หรือค่าธรรมเนียมอื่น ได้แก่ โรงเรียนเอกชนที่รับเงินอุดหนุน โรงเรียนเอกชนที่ไม่รับเงินอุดหนุนทั้งประเภทสามัญ โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนเอกชนนอกระบบประเภทวิชาชีพ โรงเรียนเอกชนนอกระบบประเภทศิลปะและกีฬา โรงเรียนเอกชนนอกระบบประเภทสร้างเสริมทักษะชีวิต

“โรงเรียนเอกชนสามารถกู้ได้ไม่เกินรายละ 20 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2% ระยะเวลา 6 เดือนแรก รัฐบาลจะช่วยเหลือด้วยการจ่ายดอกเบี้ยแทน”

น.ส.ตรีนุชกล่าวถึง กรอบแนวคิดหลักในการพัฒนาแผนปฏิบัติการฯว่าคือ “ภาษาเพื่อสันติสุขที่ยั่งยืน” ประกอบด้วยหลักการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1) ภาษาเพื่อการดำรงอยู่ของอัตลักษณ์ชุมชนและความสมานฉันท์ของคนในชาติ 2) ภาษาเพื่อการรับรู้ เข้าใจ และการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน 3) ภาษาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

ประเด็นที่สำคัญที่สุดในการพัฒนากรอบแนวคิดนี้คือ การใช้ภาษาแม่เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาการเรียนรู้ภาษาไทยที่เป็นภาษาราชการ และเชื่อมโยงไปสู่การเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ เนื่องจากสอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ภาษาของมนุษย์ โดยไม่ละเลยการใช้ภาษาท้องถิ่นและภาษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส ตรงตามวิสัยทัศน์ รู้ใช้-รู้รักษ์ภาษาไทย เปิดใจรับสิทธิทางภาษา พัฒนาทักษะภาษาระดับสากล สู่สังคมสันติสุขอย่างยั่งยืน

ส่วนเป้าหมายคือการทำให้คนในสังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของภาษา เห็นคุณค่า และยอมรับความแตกต่างของภาษาและสังคมวัฒนธรรม สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมไทยและสังคมโลกอย่างสันติสุขและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายรองรับคือ 1) ภาษาไทยได้รับการธำรงรักษาและพัฒนาอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง 2) คนทุกกลุ่มในสังคมไทยสามารถใช้ภาษาไทยในการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3) คนในท้องถิ่นใช้ภาษาท้องถิ่นอย่างกว้างขวางขึ้น อีกทั้งส่งเสริมให้ใช้ภาษาท้องถิ่นในการศึกษาควบคู่กับภาษาไทย 4) นักแปลและล่ามแปลมีมาตรฐานวิชาชีพ ล่ามภาษามือที่มีคุณภาพมีจำนวนมากขึ้น 5) คนไทยที่สามารถใช้ภาษาต่างประเทศและภาษาเพื่อนบ้านมีจำนวนมากขึ้นและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น