รมว.ศึกษาฯ ของบฯพิเศษเพิ่ม 3.4 หมื่นล้าน จ้างครูธุรการ

ตรีนุช เทียนทอง
ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

รมว.กระทรวงศึกษาธิการ ยื่นของบฯปี 2565 เพิ่ม 3.4 หมื่นล้านบาท กระจายให้หน่วยต่าง ๆ ใช้โครงการจำเป็นเร่งด่วน เช่น จัดจ้างครูธุรการ บริการอินเทอร์เน็ต และการพัฒนาหลักสูตรแกนกลาง

วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ขอเพิ่มงบประมาณรายจ่าย และงบประมาณกองทุนและเงินทุนหมุนเวียน ประจำปีงบประมาณ 2565 เพิ่ม 34,890 ล้านบาท จากเดิมที่ได้รับการพิจารณาจัดสรรงบประมาณตามร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 จำนวน 332,398.6370 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากปีงบฯ 2564 เป็นจำนวน 24,051 ล้านบาท หรือคิดเป็นลดลง 6.7% จากปีงบฯ 2564

รมว.กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า มีความจำเป็นต้องเสนอคำของบฯเพิ่ม สำหรับปี 2565 เพื่อรายการที่สำคัญจำเป็นและเร่งด่วน รวมทั้งสิ้น 34,890 ล้านบาทเศษ โดยจำแนกเป็นงบประมาณรายจ่าย จำนวน 34,800 ล้านบาท และงบประมาณกองทุนและเงินทุนหมุนเวียน ในส่วนของกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการจำนวน 90 ล้านบาท

“ดิฉันขอเดินหน้าผลักดันให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ อินเทอร์เน็ตสำหรับเรียนออนไลน์ ให้กับเพื่อนครูและผู้เรียน และช่วยเหลือการจ้างบุคลากรครู เพื่อช่วยสนับสนุนการศึกษาไทยในยุคที่มีสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) อย่างเร่งด่วน ให้มีจัดการเรียนการสอนให้เหมาะกับบริบทในปัจจุบันมากขึ้น”

“ที่ผ่านมา เราไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาค่าใช้จ่ายในการเรียนการสอนออนไลน์ของเพื่อนครู และผู้ปกครอง และเชื่อว่าอาจต้องใช้ระยะเวลาอีกสักพักกว่าจะสามารถกลับมาเรียนกันตามวิถีปกติได้ จึงได้ของบประมาณสนับสนุนสำหรับการจัดหาบริการอินเทอร์เน็ตไว้ใช้ในการเรียนการสอนออนไลน์ของครูและนักเรียนในสถานการณ์เช่นนี้”

“ส่วนอีกเรื่องที่มีความสำคัญคือ การช่วยเหลือการจ้างบุคลากรครู เช่น ครูธุรการ ครูคลังสมอง (ครูวิทย์-คณิต) เพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ ในขณะนี้ ศธ.ได้เสนอคำขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ไปแล้ว ดิฉันจะผลักดันและติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้กระทรวงฯ ของเราได้รับงบประมาณมาช่วยพัฒนาการศึกษาต่อไป”

ทั้งนี้ สำหรับงบประมาณรายจ่ายที่ ศธ.เสนอขอเพิ่ม 34,800 ล้านบาท จำแนกได้เป็น

สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ขอเพิ่ม 559 ล้านบาท

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขอเพิ่ม 33,364 ล้านบาท

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ขอเพิ่ม 575 ล้านบาท

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ขอเพิ่ม 70 ล้านบาท

หน่วยงานในกำกับฯ และองค์การมหาชน ขอเพิ่ม 231 ล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งเป็น สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา 40 ล้านบาท และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) 191 ล้านบาทเศษ

รมว.กระทรวงศึกษาธิการ อธิบายต่อว่า โครงการสำคัญที่จำเป็นเร่งด่วน ขอแปรญัตติเพิ่ม เช่น โครงการคืนครูให้นักเรียน สำหรับโรงเรียนในส่วนของค่าจ้างครูธุรการ, โครงการจัดหาบริการอินเทอร์เน็ตให้กับครูผู้สอนและนักเรียนสำหรับการเรียนการสอนออนไลน์ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019,

โครงการทดลองส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลเพื่อการศึกษา จำนวน 12 ช่องรายการ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19, โครงการการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล, โครงการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ,

โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มระบบการพัฒนาศักยภาพและสมรรถนะครูอย่างต่อเนื่องตามระดับคุณภาพของมาตรฐานวิชาชีพ MOOCs for Teachers (M4T), โครงการยกระดับการผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ, โครงการพัฒนากฎหมายการศึกษา, โครงการช่วยเหลือเยียวยาครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้เสียชีวิตอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น