สจล.เปิดตัว “SDN & Cloud Computing Center” พร้อมลุย Education 4.0

“ผศ.อัครินทร์ คุณกิตติ” ผู้อำนวยการสำนักบริการคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. มีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุน Digital Transformation ทางด้านการศึกษาของไทย และไม่เคยหยุดนิ่งในการเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันวงการการศึกษาไทยสู่ Education 4.0

“เราให้ความสำคัญกับหลักสูตรที่จะช่วยเสริมทักษะให้กับนักศึกษา ขณะเดียวกันก็รับเอาเทคโนโลยีที่ดีที่สุดเข้ามาใช้ เพราะเชื่อว่าเทคโนโลยีคือกระดูกสันหลังของระบบการศึกษาที่จะช่วยให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยเชื่อมต่อกับโลกการเรียนรู้ภายนอกห้องเรียนได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว โดยเราพร้อมแล้วที่จะก้าวเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล ด้วยการเปิดตัว SDN & Cloud Computing Center ระบบเครือข่ายสำหรับสถานศึกษาที่สมบูรณ์แบบที่สุดแห่งแรกในโลก ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ สจล. หัวเว่ย และจีเอเบิล”

สจล. หัวเว่ย และจีเอเบิล มีวิสัยทัศน์และจุดมุ่งหมายในการยกระดับการศึกษา จึงเกิดความร่วมมือครั้งสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้ และติดตั้งโครงข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วระดับ 100 กิกะบิต พร้อมเครือข่าย WiFi 3,000 จุดทั่วสถาบันฯ ซึ่งจะช่วยยกประสิทธิภาพการเรียนการสอนของ สจล.

“ในอนาคตเราวางแผนเปิดสอนออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถเรียนทางไกลจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่มีความร่วมมือกับ สจล. ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังได้วางแผนจัดตั้งห้องปฏิบัติการและสถาบันฝึกอบรมในขั้นต่อไป เพื่อผลิตบุคลากรคุณภาพที่มีทักษะและความสามารถด้านดิจิทัล”

“กริช เลิศวลีรัตน์” รองประธานส่วนงานบริการ กลุ่มบริษัทจีเอเบิล กล่าวว่า การยกระดับการศึกษาไทยเป็นก้าวสำคัญสำหรับจีเอเบิล เราตั้งคำถามเสมอว่าทำอย่างไรจึงจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างนวัตกรรมใหม่ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเชื่อมต่อประสบการณ์ของบุคลากรภายในสถาบันการศึกษา ซึ่งมองหาความสะดวกและรวดเร็วของการเชื่อมต่อในการใช้งานระบบเครือข่าย

“ในฐานะ Agent of Digital Transformation ที่เป็นพันธมิตรกับทางสจล. มามากกว่า 20 ปี เราตอบคำถามที่ตั้งไว้ด้วยการค้นหาสุดยอดเทคโนโลยีและโซลูชั่น พร้อมติดตั้งระบบเครือข่ายสำหรับสถานศึกษาที่สมบูรณ์แบบที่สุดที่หัวเว่ยเคยทำมา ณ สจล. โดยเลือกใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่คุ้มค่าในการลงทุน ประหยัดพลังงาน เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม มีความคล่องตัวในการเคลื่อนย้าย และใช้เวลาในการติดตั้งเทคโนโลยีที่สั้นกระชับ”

ด้าน “ดร.จุมพต ภูริทัตกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หัวเว่ยมีความมุ่งมั่นที่จะสร้าง Smart Education โดยพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งในไทยและทั่วโลกด้วยการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน โดยเทคโนโลยีและโซลูชั่นที่นำเข้ามาใน สจล. เพื่อเป็นสะพานเชื่อมต่อโลกการศึกษาไปสู่โลกดิจิทัล ประกอบด้วย

1) 100G Based Campus Core Network ระบบโครงข่ายคอมพิวเตอร์ที่สามารถส่งถ่ายข้อมูลที่ความเร็ว 100 กิกะบิตต่อวินาที 2) SDN หรือ Software-defined network ระบบเครือข่ายที่เชื่อมโยงทุกเครือข่ายในมหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งเดียว และรวมความเป็น Data Center เข้ากับ Campus Network เพื่อผู้ดูแลเครือข่ายสามารถใช้งานได้อย่างยืดหยุ่น และเอื้อต่อการขยายตัวของโครงข่ายในอนาคต

3) Educational Cloud Data Center in Container นำเอาอุปกรณ์การจัดเก็บข้อมูลทั้งหมดบรรจุไปในตู้คอนเทนเนอร์ที่เคลื่อนย้ายได้ ซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลจัดเก็บแบบบูรณาการ (All-in-one) ที่ประหยัดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งมากกว่าแบบเดิมถึง 3 เท่าและติดตั้งได้เร็วกว่า 5 เท่าเพราะไม่จำเป็นต้องสร้างอาคารดาต้า เซ็นเตอร์เหมือนเคยอีกต่อไป

4) WiFi coverage with whole campus Free Mobility เครือข่าย WiFi ที่เชื่อมต่อได้ถึงระดับกิกะบิตต่อวินาที ครอบคลุมทั่วมหาวิทยาลัยถึง 3,000 จุด ทำให้คณาจารย์และนักเรียนสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ทุกที่ภายในมหาวิทยาลัย

“ผศ.อัครินทร์” กล่าวทิ้งท้ายว่า นับตั้งแต่ติดตั้งระบบเครือข่ายและเปิดใช้งานจริงตั้งแต่เดือนก.ย.ที่ผ่านมา สจล.ได้พลิกโฉมการเรียนการสอนของทุกคนในรั้วมหาวิทยาลัยให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น โดยส่งเสริมการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ และพัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้มีคุณภาพในระดับสากล

“การเชื่อมต่อที่รวดเร็วเปิดโอกาสให้คณาจารย์ นักเรียน และบุคลากรในมหาวิทยาลัยได้เข้าถึงความรู้ที่อยู่ในโลกไร้พรมแดน ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาก้าวทันโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดได้ดียิ่งขึ้น โดยอาจารย์สามารถสืบค้นปัญหาและวิธีแก้ไขที่เกิดขึ้นจริงจากทั่วทุกมุมโลก และให้คำแนะนำแก่นักศึกษาเพื่อนำไปประยุกต์ใช้”

“ขณะเดียวกัน นักศึกษาก็สามารถค้นหาข้อมูล ทำงาน ดาวน์โหลด และอัพโหลดข้อมูลได้ในทุกที่ทุกเวลา ซึ่งเราหวังว่าระบบเครือข่ายที่สมบูรณ์แบบนี้จะเป็นพื้นฐานที่จะมารองรับ Internet of Things (IoT) ซึ่งจะช่วยยกระดับความสะดวกสบายให้กับการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยต่อไปในอนาคต”