“โสภณพนิช” รุกการศึกษา ผุด “โชรส์เบอรี” แห่งที่ 2-ปักธงจีน

หลังจากประสบความสำเร็จอย่างมากกับ โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี กรุงเทพ (Shrewsbury International School Bangkok) ซึ่งตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยา และมีชื่อเสียงติดตลาดมาถึง 15 ปี ล่าสุดตระกูล “โสภณพนิช” เพิ่มพอร์ตธุรกิจการศึกษา โดยทุ่มเงินลงทุน 2,600 ล้านบาท เปิดโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี กรุงเทพ-ซิตี้ แคมปัส

แคมปัสแห่งใหม่นี้เป็นโรงเรียนระดับอนุบาลและประถมศึกษา ตั้งอยู่บนพื้นที่ 15 ไร่ ระหว่างถนนสุขุมวิท และถนนพระราม 9 หรือบริเวณด้านหลังโรงพยาบาลปิยะเวท

“ชาลี โสภณพนิช” ผู้ก่อตั้งโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี กรุงเทพ กล่าวว่าเหตุผลหลักที่เปิดซิตี้ แคมปัส เป็นเพราะช่วง 3 ปีที่ผ่านมาต้องปฏิเสธเด็กที่สมัครเข้าศึกษาระดับอนุบาลและประถมศึกษาที่ริเวอร์ไซด์ แคมปัส มากกว่า 650 คน ถึงแม้เด็กจะมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์การคัดเลือก แต่ด้วยพื้นที่จำกัดของโรงเรียน จึงสามารถรับเด็กได้เพียงปีละ 75 คนเท่านั้น ส่งผลให้มีเด็กรอคิวเพื่อเข้าศึกษาเป็นจำนวนมาก

“เมื่อริเวอร์ไซด์ แคมปัส ได้รับการตอบรับจากผู้ปกครองเป็นอย่างดี เราจึงขยายการลงทุนมาที่นี่ เพราะทำเลสามารถเดินทางไปมาสะดวก เป็นทางผ่านของรถไฟฟ้าสายสีส้ม อีกทั้งมีชาวต่างชาติอาศัยอยู่เยอะ และมีความต้องการส่งลูกเข้าเรียนอินเตอร์อยู่แล้ว รวมถึงยังมีพื้นที่สีเขียวอีกมาก ซึ่งเหมาะกับการเปิดโรงเรียนได้”

ในส่วนของโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี กรุงเทพ-ริเวอร์ไซด์ แคมปัส มีพื้นที่ 35 ไร่ ประกอบด้วยระดับชั้นอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา จำนวน 1,700 คน ขณะที่แคมปัสแห่งใหม่รองรับเด็กนักเรียนระดับอนุบาลและประถมศึกษาได้ 640 คน โดยจะเปิดการเรียนการสอนในเดือน ส.ค. 2561 ค่าเทอมประมาณ 640,000 บาทต่อปี

นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับอนุบาล และประถมศึกษา จากโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี กรุงเทพ-ซิตี้ แคมปัส จะได้รับสิทธิเข้าศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี กรุงเทพ-ริเวอร์ไซด์ แคมปัส ทันที ซึ่งตอนนี้มีผู้ปกครองจองสิทธิ์เข้าศึกษาที่โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี กรุงเทพ-ซิตี้ แคมปัส ให้แก่บุตรหลานของตนเองแล้ว 40 ที่

“เราไม่มีแผนขยายพื้นที่ของซิตี้ แคมปัส เพิ่มเติม จะคงการรองรับเด็กไว้ที่ 640 คน อย่างไรก็ตาม ยังมีพื้นที่บริเวณโรงเรียนอีก 30 ไร่ ซึ่งเรามีแผนพัฒนาให้เป็นโครงการ Mixed Useโดยอยู่ระหว่างการศึกษาและวางแผน คาดว่าอีก 5 ปีจะเห็นภาพของการพัฒนาพื้นที่ได้ชัดเจนมากขึ้น”

“เบื้องต้นแบ่งพื้นที่ 5-6 ไร่สำหรับการก่อสร้างอพาร์ตเมนต์สูง 8 ชั้น300 ห้อง งบประมาณก่อสร้างอยู่ที่ 800-1,000 ล้านบาท เพื่อเป็นที่พักให้กับครู 40-50 คน ส่วนห้องที่เหลือจะปล่อยเช่าให้กับผู้ปกครอง และบุคคลภายนอก คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีหน้า ใกล้เคียงกับช่วงเวลาของการเปิดโรงเรียน”

สำหรับจุดเด่นของโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรีคือ การศึกษาแบบองค์รวม ซึ่งช่วยพัฒนาเด็กทั้งด้านวิชาการ และอารมณ์ พร้อมทั้งปรับการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับบริบทต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้แบบเกื้อกูล ซึ่งจะช่วยให้เด็กนักเรียนมีความพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตในระดับมหาวิทยาลัย และใช้ชีวิตในโลกที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต

นอกจากนี้ จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการเรียนการสอน พร้อมกับผนวกหลักสูตรภาษาไทยและภาษาจีนกลาง ดังนั้น นักเรียนทุกคนจะมีทักษะภาษาอังกฤษที่เป็นเลิศ และสามารถใช้ภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว รวมถึงมีพื้นฐานการใช้ภาษาจีนกลางที่ดีทั้งนั้น เพราะเป็นโรงเรียนที่รองรับเด็กวัยแรกเรียนโดยเฉพาะ โชรส์เบอรีจึงให้ความสำคัญกับการออกแบบโรงเรียน โดยจัดวางผังห้องเรียนเป็นกลุ่มอย่างมีเอกลักษณ์ ผ่านออกแบบของสถาปนิกที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบโรงเรียน เพื่อให้ทุกพื้นที่ของโรงเรียนลงตัว และสร้างประสิทธิภาพให้กับนักเรียนมากที่สุด

โดยห้องเรียนอยู่ภายในอาคารสูง 3 ชั้น สร้างสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่ดียิ่งขึ้น ด้วยการเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างห้องเรียนและเด็กนักเรียน ทำให้เด็กสามารถเข้าถึงกันได้ง่าย ซึ่งการออกแบบห้องเรียนเป็นกลุ่มในลักษณะนี้จะกระตุ้นให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้นระหว่างชั้นเรียนต่าง ๆ ทั้งช่วยเสริมให้เด็กทุกคนมีโอกาสผูกมิตรกับเด็กวัยใกล้เคียงกันได้เป็นอย่างดี

ขณะเดียวกัน พื้นที่ของโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี กรุงเทพ-ซิตี้ แคมปัส ยังประกอบด้วยห้องประชุมขนาด 520 ที่นั่ง, ห้องสมุดที่ทันสมัย, ห้องแสดงดนตรี, ห้องการแสดงและเต้นรำ, ศูนย์ยิมนาสติก และห้องรับประทานอาหาร

นอกจากนั้น ยังมีอาคารออกกำลังกายขนาดใหญ่ ซึ่งมีทั้งสระว่ายน้ำ สนามเด็กเล่นที่เป็นสนามหญ้าธรรมชาติ และลู่กีฬาในร่มและกลางแจ้ง

“ชาลี” กล่าวว่า เรามีแผนขยายโรงเรียนไปยังตลาดต่างประเทศ โดยได้รับเป็นที่ปรึกษาในการก่อตั้งโรงเรียนโชรส์เบอรีที่ฮ่องกง ซึ่งจะเปิดการเรียนการสอนในปี 2561 ขณะเดียวกัน จะร่วมลงทุนกับนักธุรกิจในประเทศจีน สำหรับการเปิดโรงเรียนโชรส์เบอรีที่เมืองกว่างโจว ในปี 2562

“ระบบการศึกษาของจีนมีความคล้ายคลึงกับการศึกษาของไทย มีเด็กจำนวนมากที่แข่งขันกันสอบเข้ามหาวิทยาลัย การเตรียมความพร้อมตั้งแต่เด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น ตลาดในจีนยังมีดีมานด์อีกมาก และเป็นโอกาสของธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ”