สถานทูตนิวซีแลนด์ ถอดบทเรียนแนะเทคนิคครูไทย สอนอังกฤษให้ได้ผล

NeONBRAND/Unsplash

หน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ สถานทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย แนะนำเทคนิคการสอนภาษาอังกฤษให้ครูไทย ใช้วิธีการร่วมสมัย สร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียน และลดความเครียดเรื่องการบ้าน

วันที่ 19 สิงหาคม 2564 หน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ (Education New Zealand ; ENZ) สถานทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย เผยเทคนิคการสอนภาษาอังกฤษให้ครูสอนภาษาอังกฤษชาวไทย ทั้งในรูปแบบการเรียนออนไลน์และในชั้นเรียนปกติ โดยมีแนวทางการสอน การสื่อสาร และการให้การบ้านแบบที่โรงเรียนในประเทศนิวซีแลนด์ใช้แล้วเกิดประสิทธิภาพกับผู้เรียนมาแนะนำ

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา หน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ได้ร่วมกับสำนักงานจังหวัดศรีสะเกษ และสำนักงานจังหวัดอุบลราชธานี จัดงานสัมมนาวิชาการออนไลน์ (webinar) ในหัวข้อเรื่อง “เทคนิคการสอนภาษาอังกฤษให้ได้ผล ถอดบทเรียนจากประเทศนิวซีแลนด์” ให้กับครูสอนภาษาอังกฤษระดับมัธยมศึกษาของไทย เกือบ 300 คน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงประสบการณ์การเรียนการสอนภาษาอังกฤษแนวใหม่ของนิวซีแลนด์

โดยมี อ.เอริน่า ฮันท์ (Erina Hunt, Online Blended English Language Programmes Coordinator) วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยโอทาโกของประเทศนิวซีแลนด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเนื้อหาหลักสูตร e-Learning รวมถึงการสอนและการเรียนรู้ภาษาอังกฤษแบบผสมผสานผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศ นำกรณีศึกษามาเปิดให้ดู หารือเกี่ยวกับปัญหา นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา และรูปแบบวิธีการเรียนรู้ภาษาและการสื่อสารที่เหมาะสม เปิดบันทึกวิดีโอคำแนะนำและกลยุทธ์การสอนในชีวิตจริง พร้อมแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการเรียนการสอนของนิวซีแลนด์

เอริน่า ฮันท์

อ.เอริน่า แนะนำแนวปฏิบัติในการสอนภาษาอังกฤษ เทคนิคพิชิตความเป็นเลิศด้านภาษาอังกฤษสำหรับครูและนักเรียนไทย (Conquering Mount English for Thai teachers and learners) ไว้ดังนี้

เทคนิคการสอนภาษาอังกฤษของนิวซีแลนด์ ที่ช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้และเข้าใจหลักภาษาอังกฤษได้ง่ายมากขึ้น คือ

  1. ใช้วิธีการร่วมสมัย และการสื่อสารที่มีส่วนร่วมแบบไดนามิก ด้วยแนวทางทักษะแบบบูรณาการที่สร้างแรงบันดาลใจ สร้างผลลัพธ์เชิงบวก และส่งเสริมการคิดเชิงวิพากษ์ในผู้เรียน
  2. ใช้วิธีการที่หลากหลาย ผสมผสานระหว่างการสื่อสาร กิจกรรม ความร่วมมือ การประเมิน และการจัดการ รวมถึงการมีส่วนร่วมของทุกคน ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ไม่ว่าจะทางออนไลน์หรือแบบตัวต่อตัวในห้องเรียน ควบคู่ไปกับความสมดุลที่ดีของทักษะการรับรู้ (receptive skill) ที่เน้นการอ่านและการฟัง และทักษะการสร้างภาษา (productive skill) ที่เน้นการพูดและการเขียนที่มีประสิทธิผล ผสมผสานกับแรงบันดาลใจ และความสนใจของนักเรียน อันจะส่งผลให้เกิดผลลัพธ์การเรียนที่ดี และเพิ่มพูนการคิดอย่างมีวิจารณญาณของผู้เรียน
  3. ทักษะที่ครูสอนภาษาอังกฤษชาวไทยต้องมีหรือเรียนรู้เพิ่ม เพื่อเพิ่มศักยภาพการสอน แน่นอนว่า คือการสั่งสมประสบการณ์ เรียนรู้วิธีวิเคราะห์ภาษา วิธีที่การเรียนรู้ภาษา ตลอดจนวิธีการสอนภาษาอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญมาก ต้องมีพื้นฐานและความเข้าใจด้านการฟัง การพูด การอ่านและการเขียน การเรียนรู้คำศัพท์และไวยากรณ์ การวิเคราะห์วาทกรรม และระบบเสียงภาษาอังกฤษอย่างถ่องแท้
  4. ครูผู้สอนจะต้องมีปฏิสัมพันธ์และเข้าใจลักษณะของผู้เรียน และให้อิสระในการเรียนกับพวกเขา เช่น เรียนภาษาผ่านการใช้คอมพิวเตอร์

เทคนิคในการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูผู้สอนและผู้เรียนภาษาอังกฤษ มีดังนี้

  1. ต้องสร้างความไว้วางใจและความสามัคคีภายในกลุ่มผู้เรียน โดยการเล่าแบ่งปันเรื่องเล่าส่วนตัว ระบุจุดแข็งและจุดอ่อนของกลุ่มผู้เรียน ตระหนักถึงความสามารถในการเรียนรู้ของแต่ละบุคคลภายในกลุ่ม
  2. สภาพแวดล้อมในห้องเรียนต้องเป็นที่ปลอดภัยที่ทุกคนกล้าจะผิดพลาดได้ สำหรับเทคนิคนี้ สามารถใช้กับห้องเรียนออนไลน์และห้องเรียนจริง
  3. ต้องเอื้อให้ผู้เรียนเข้าถึงแหล่งข้อมูลภาษาอังกฤษที่หลากหลาย เช่น เกม โปสเตอร์ การ์ดสนทนา หนังสือ นิตยสาร ฯลฯ สร้างบรรยากาศให้ผู้เรียนได้สัมผัสการเรียนภาษาอังกฤษรอบตัวด้วย

เทคนิคการสอนไม่ให้ผู้เรียนเกิดความเครียดและมีสมดุลทั้งการเรียนและการทำงาน มีดังนี้

  1. การสอบแบบเปิดหนังสือ หรือให้การบ้าน ที่มีการใบ้คำตอบไว้บ้างแล้ว คำตอบไม่จำกัดตายตัว หรือไม่จำกัดเวลาในการคิด
  2. การบ้านเป็นการเขียนบทความ แล้วนำมาพูดคุยกับเพื่อน ๆ ในชั้นเรียนของอีกวัน ซึ่งผู้เรียนจะเริ่มต้นกระบวนการคิดเชิงวิพากษ์ และได้พิจารณาคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ใช้อธิบายภาพ ไปจนถึงแนวคิดที่จำเป็นในการอธิบายภาพ

อ.เอริน่ากล่าวด้วยว่า สำหรับช่วงล็อกดาวน์ ที่ทำให้ผู้เรียนต้องเรียนออนไลน์ตลอดทั้งวัน การให้การบ้านแบบที่กล่าวไว้ข้างต้น จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้เรียน ช่วยให้พวกเขาได้ใช้เวลานอกหน้าจอคอมพิวเตอร์ เพื่อทำกิจกรรมที่ช่วยให้ร่างกายและจิตใจมีสุข

ดร.วัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า จังหวัดศรีสะเกษให้ความสำคัญกับการจัดการและพัฒนาการศึกษา ได้รับการประกาศเป็นจังหวัดนำร่อง 1 ใน 6 จังหวัด เป็นพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษาเพื่อบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และได้กำหนดเรื่องนวัตกรรมทางการศึกษาเป็น 1 ใน 10 วาระจังหวัดในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่


ขณะนี้ได้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 3 ได้พัฒนามาสู่การจัดกรอบหลักสูตรการจัดการศึกษาของจังหวัด ที่มีชื่อจากอักษรย่อว่า SISAKET ASTECS ซึ่งประกอบด้วยสมรรถนะหลักพื้นฐานและสมรรถนะหลักทั่วไป การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารเป็นหนึ่งในสมรรถนะพื้นฐานด้วย ดังนั้นการสัมมนาเรื่องเทคนิคการสอนภาษาอังกฤษให้ได้ผล ถอดบทเรียนจากประเทศนิวซีแลนด์ จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงการส่งเสริมและการพัฒนาศักยภาพทักษะด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ