เคล็ดเรียน “MBA” ตปท. เตรียมพร้อมสู่ความสำเร็จ

ปัจจุบันยอดคนสมัครเข้าศึกษาหลักสูตร MBA ยังคงได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ ในมหาวิทยาลัยประเทศไทย และต่างประเทศ โดยพบว่ากว่า 40% ของคนไทยต้องการศึกษาต่อในระดับ MBA และต้องการศึกษาต่อในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศยอดนิยมอย่างสหรัฐอเมริกา เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยต่างมีความโดดเด่นต่างกัน รวมถึงรายวิชาก็มีความน่าสนใจแตกต่างกันออกไป

ด้วยเหตุนี้ “กรุงศรี เอ็กซ์คลูซีฟ” ผู้ให้บริการพิเศษทางการเงิน และการลงทุนสำหรับลูกค้าคนสำคัญของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จึงจัดสัมมนาพิเศษ “ก้าวแรกสู่ความสำเร็จ : ไขเคล็ดลับการสมัครเข้าหลักสูตร MBA ในสถาบันชั้นนำของโลก” เพื่อบอกเล่าถึงเส้นทางการศึกษาในหลักสูตรยอดนิยมอย่าง MBA

“พอล เดมโบว์สกี้” อดีตเจ้าหน้าที่แอดมิสชั่น Chicago Booth School of Business กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียน MBA จะไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่มีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อให้ผ่านหลักการพิจารณาด้วย 3 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย

หนึ่ง ตัวบ่งชี้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา คือ เกรดเฉลี่ยสะสม (GPA) และการสอบ G-MAT (Graduate Management Admission Test) โดยปกติมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร จะมีมาตรฐานในการพิจารณารับนักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ยตั้งแต่ 3.00 ขึ้นไป

ถ้ามีเกียรตินิยมพ่วงท้าย ยิ่งมีเปอร์เซ็นต์ที่จะสามารถเข้าศึกษาต่อง่ายขึ้น ส่วนคะแนนสอบ G-MAT ประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ ข้อสอบการเขียน (analytical writing assessment), ข้อสอบคณิตศาสตร์ (quantitative) และสุดท้าย ข้อสอบภาษาอังกฤษ (verbal) โดยคะแนนขั้นต่ำสำหรับโปรแกรม MBA ชั้นนำเช่น wharton จะอยู่ที่ประมาณ 720-730 โดยเฉลี่ย

สอง การเขียนเรียงความแนะนำตัว (personal statement) สิ่งสำคัญในการเตรียม application เพื่อสมัครในหลักสูตร MBA นอกเหนือไปจากการนำเสนอคุณสมบัติทางการศึกษา และประสบการณ์ในสายอาชีพแล้ว การเขียนเรียงความแนะนำตัว (personal statement) จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเป็นตัวเราได้ดีที่สุด โดย 4 เคล็ดลับสำคัญในการเขียนเรียงความแนะนำตัว ได้แก่

1.be original-เป็นตัวของตัวเอง สิ่งสำคัญคือการบอกเล่าถึงความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ที่ประทับใจ หรือเรื่องราวที่แฝงไว้ด้วยอารมณ์ขันก็ได้ โดยหลักการสำคัญคือการขยายความว่า สิ่งเหล่านั้นส่งผลต่อตัวคุณอย่างไร และให้บทเรียนอะไรบ้าง

2.connect your narrative tothe questions asked-ตอบคำถามให้ตรงประเด็น โดยการเชื่อมโยงเรื่องเล่าของคุณเข้ากับคำถามที่มหาวิทยาลัยถาม จะแสดงให้เห็นถึงทักษะการเชื่อมโยงว่า ทุกสิ่งที่คุณเขียนไปล้วนมีความเกี่ยวข้องกันทั้งสิ้น

3.establish fit with the school-โปรแกรมไหนที่โดนใจคุณ และเหมาะกับคุณที่สุด โดยคุณจำเป็นต้องอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผล และน่าสนใจให้ได้ว่า เหตุใดหลักสูตรที่คุณต้องการสมัครจึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับตัวคุณที่สุด ทางที่ดีคือควรบอกให้ได้ว่า ประสบการณ์ที่ผ่านมามีส่วนช่วยจุดประกายความสนใจในหลักสูตรที่สมัครอย่างไรบ้าง

4.use good writing skill-เขียนให้ดี เขียนให้โดน แม้ภาษาอังกฤษจะไม่ใช่ภาษาหลักของหลาย ๆ คน

แต่การเขียนให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก


สาม จดหมายรับรอง (recommendation letter) จดหมายรับรองที่ดีไม่จำเป็นว่าจะต้องถูกเขียนขึ้นโดยบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือมีตำแหน่งที่ใหญ่โต แต่ควรจะเป็นจดหมายรับรองที่มาจากคนที่รู้จักมีความเกี่ยวข้อง หรือร่วมงานกับผู้สมัครจริง ๆ ซึ่งจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือในด้านคุณสมบัติของผู้สมัคร และเพิ่มโอกาสในการถูกรับเข้าศึกษาต่อได้มากกว่าอีกด้วย