1 ปี “CONNEXT ED” ยกระดับ 3,351 ร.ร. สู่ความยั่งยืน

ครบรอบ 1 ปี กับโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน หรือคอนเน็กต์-อีดี (CONNEXT ED) หนึ่งในแนวทางการทำงานด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ (E5) ของโครงการสานพลังประชารัฐ ซึ่งหลังจากที่ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และ 12 บริษัทเอกชนผนึกกำลังขับเคลื่อนการศึกษาไทยมาอย่างเข้มแข็ง จึงปรากฏดอกผลของความร่วมมือที่เกิดขึ้น

“นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ โครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ กล่าวว่า ประเทศที่ประสบผลสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษาส่วนใหญ่มีทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจน และมีภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

“ประเทศไทยมีโครงการประชารัฐเป็นกลไกที่กระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเราสร้างผู้นำรุ่นใหม่ หรือ school partners จำนวน 711 คน จาก 12 องค์กรผู้ร่วมก่อตั้ง เข้าไปในโรงเรียน เพื่อร่วมกับผู้อำนวยการโรงเรียน และครูในการจัดทำกิจกรรมและพัฒนาการเรียนการสอน”

ทั้งนั้น การขับเคลื่อนโครงการ CONNEXT ED เป็นไปตามยุทธศาสตร์ 10 ข้อ ของโครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐาน และการพัฒนาผู้นำ ได้แก่ ความโปร่งใสของข้อมูลสถานศึกษา, กลไกการตลาดและการมีส่วนร่วมของชุมชน, การพัฒนาและส่งเสริมผู้นำรุ่นใหม่, หลักสูตรการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้เด็กนักเรียนเป็นศูนย์กลาง, การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานศึกษา

การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน, การยกระดับทักษะความรู้ ความสามารถด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ, การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และการมีจิตสาธารณะให้นักเรียน, การสร้างมาตรฐานการจูงใจด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษี และการมีส่วนร่วมของผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ และการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาเทคโนโลยีแห่งอนาคตในระดับภูมิภาค

“1 ปีที่ผ่านมา โครงการสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการยกระดับให้นักเรียนเข้าถึงชุดอุปกรณ์ไอซีที และสื่อมัลติมีเดียเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งเชื่อมโยงองค์ความรู้จากทั่วทุกมุมโลกสู่ 39,829 ห้องเรียนอัจฉริยะ ได้อย่างทัดเทียมกับโรงเรียนในเมืองใหญ่ อีกทั้งส่งเสริมการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นเด็กนักเรียนเป็นศูนย์กลาง (child centric)”

นอกจากนี้ยังสร้างเด็กดี และเด็กเก่ง749,349 คน ควบคู่กับการปั้นคุณครูมืออาชีพ 36,397 คน พร้อมกับส่งเสริมศักยภาพผู้อำนวยการโรงเรียน 3,351 คนเพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21 ซึ่งภาคเอกชนได้ร่วมสนับสนุนงบประมาณกว่า 310 ล้านบาท ในการพัฒนาโรงเรียน 3,351 แห่ง

“ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน โครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ฉายภาพถึงแผนการดำเนินงานของโครงการในปีหน้าว่า จะเน้น 5 ยุทธศาสตร์สำคัญที่จะสร้าง ecosystem ให้เหมาะกับการเรียนรู้ กล่าวคือในด้านความโปร่งใสของข้อมูลสถานศึกษา จะทำระบบกลางแสดงตัวชี้วัด (KPI) ที่สามารถวิเคราะห์ และประเมินผลข้อมูลเชิงลึกได้อย่างถูกต้อง และเป็นระบบตามมาตรฐานสากล

“เราได้รวบรวม KPI ที่มี 43 ตัวชี้วัดแล้ว แต่ยังไม่สามารถประเมินผลได้ว่า โรงเรียนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นจะมีการจัดทำ school grading โดยแบ่งออกเป็น 5 ระดับ คือ poor-fair-good-great-excellent เพื่อวิเคราะห์ และยกระดับมาตรฐานโรงเรียนนั้น ๆ ได้อย่างถูกต้อง และสอดคล้องกับข้อเท็จจริง ซึ่งจะช่วยให้เกิดกลไกการแข่งขันในการยกระดับและพัฒนาตนเองโดยอัตโนมัติ”

ขณะเดียวกันจะส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนมากขึ้น ด้วยการผลักดันให้องค์กรท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็น school partners ในการจัดการศึกษาและพัฒนาโรงเรียน พร้อมกันนั้นยังมุ่งสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจจะมีการขับเคลื่อนเรื่องผู้อำนวยการโรงเรียนว่า หากเขาเกษียณแล้ว จะมีการวาง successor อย่างไร หรือผู้อำนวยการคนถัดไปควรมีคุณลักษณะแบบไหน เพราะผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อการจัดทำข้อมูลสถานศึกษาให้มีความโปร่งใส และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน

อีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่ “ศุภชัย” เน้นย้ำ คือ การเรียนการสอนที่เน้นให้เด็กนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งมีการจัดทำระบบ knowledge badsed learning และ connext ED studio เพื่อส่งเสริมการพัฒนา

ทักษะและกระบวนการเรียนรู้ที่ทันสมัย และเพิ่มประสิทธิภาพของผู้เรียนให้รู้จักตั้งคำถาม คิดวิเคราะห์ ค้นหาคำตอบและนำไปสู่การลงมือปฏิบัติจริง

“สิ่งที่เชื่อมโยงกับการวัดผลการเรียนรู้ของเด็กคือเทคโนโลยี โดยเราจะพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้ครูเก็บข้อมูลของเด็ก แล้วสามารถเชื่อมต่อไปยังผู้ปกครองได้ทันที นอกจากนั้นตอนนี้มีการจัดทำ KPI dashboard เพื่อแสดงผลชี้วัดภาพรวมของโรงเรียนในโครงการประชารัฐแล้ว”

“สำหรับปีหน้า เราจะขยายการดำเนินงานไปยังโรงเรียนอีก 1,400 แห่งเมื่อรวมกับโรงเรียนประชารัฐในปัจจุบันก็จะเป็น 4,700 กว่าโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ถ้าเราสามารถขับเคลื่อนโรงเรียนเหล่านี้ได้ดี และมีกลไกที่แข็งแรง จะเป็นเหมือนโดมิโนที่สามารถสร้างผลกระทบไปยังโรงเรียนอื่น ๆ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่ง school partners มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้โดมิโนเกิดขึ้น”

ทั้งนั้นจะมีการชักชวนบริษัทในกลุ่ม SET 100 ให้เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อขยายจำนวน school partners ในการขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้มีความเข้มแข็งต่อไป