ดร.สุวิทย์ แนะถอดรหัส SDGs 17 ข้อให้เยาวชนกำหนดอนาคตประเทศ 

ดร.สุวิทย์ ชี้แนวทางขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องถอดรหัส SDGs 17 ข้อ ให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน และสนับสนุนเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดอนาคตประเทศ 

วันที่ 9 กันยายน 2564 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้ทรงคุณวุฒิแวดวงการศึกษา และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวในงานเสวนา ฟื้นตัวอย่างมั่นคง ก้าวต่ออย่างยั่งยืน ที่จัดโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 

ถึงเรื่องการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นวาระระดับโลก ที่ทุกประเทศกำลังช่วยกันขับเคลื่อน เพราะเรากำลังเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่า “one world one destiny” หรือ “หนึ่งโลกหนึ่งชะตากรรมร่วม” จากการเกิดภัยคุกคามทั้งโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งภัยคุกคามดังกล่าวทำให้แผนภาพของโลกเปลี่ยนแปลงไป หากเราสุขก็จะสุขด้วยกัน ทุกข์ก็จะทุกข์ด้วยกัน และอีกหนึ่งชะตากรรมที่เห็นชัดบนโลกนี้คือ เรื่องความเหลื่อมล้ำ กับความไม่ยั่งยืน เพราะผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะเห็นว่าคนด้อยโอกาส คนจน หรือคนไม่แข็งแรงพอนั้น จะโดนผลกระทบมากกว่าคนที่มีความพร้อม นี่จึงเป็นโจทย์ท้าทายอย่างยิ่ง เพราะปัจจุบันเรื่องความเหลื่อมล้ำมีทุกประเทศ ส่งผลให้แต่ละประเทศขาดความยั่งยืน ซึ่งถ้าหากเราก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำได้ เราก็จะไปสู่ “Bright future” หรืออนาคตที่สดใสขึ้น แต่ถ้าเราไม่พร้อม ไม่แข็งแรงพอ เราอาจจะตกเหวได้ ก็อาจจะเป็น “Bleak future” หรืออนาคตที่มืดมนกว่าที่เราเป็นอยู่ปัจจุบัน

ดร.สุวิทย์ กล่าวต่อว่า คนที่จะช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่ Bright future มีหลายภาคส่วนไม่ว่าจะภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม แต่ที่เรายังให้ความสำคัญน้อยไปคือ “เยาวชน” ซึ่งมองว่าเป็นพลังสำคัญที่จะเชื่อมต่อการเปลี่ยนแปลงระหว่างปัจจุบันกับอนาคตได้ดี เพราะเยาวชนรุ่นใหม่นั้นเต็มไปด้วยพลัง กล้าที่จะเผชิญกับความท้าทาย กล้าที่จะกำหนดอนาคตตนเอง ดังนั้นคนที่จะเป็นตัวเชื่อม SDGs จากปัจจุบันไปสู่อนาคตที่ดีกว่านั้นได้ดีก็คือเยาวชน แล้วเราจะส่งเสริมให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้นอย่างไร ประการแรกมองว่าคือการเปลี่ยน Mindset แบ่งออกเป็น 2 มติ คือ

1.เปลี่ยนจาก Ego Centric Mindset เป็น Eco Centric Mindset หมายถึง เปลี่ยนจากความเป็น “ตัวกู ของกู” ไปสู่การอยู่ร่วมกับคนอื่นให้ได้ เช่น จากเดิมระบบความคิดของเราเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ คิดว่าตนเองคือผู้ควบคุมทรัพยากรธรรมชาติ มีการแข่งขันแย่งชิงทรัพยากรกัน ตอนนี้เราต้องเปลี่ยนความคิดในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ หรือผู้อื่นให้ได้อย่างกลมกลืน

2.เปลี่ยนจาก Fixed Mindset เป็น Growth Mindset เปิดรับโลกภายนอกให้มากขึ้นและยอมรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำอนาคตก้าวไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน 

Advertisment

“ถ้าเราทำให้เยาวชนเปลี่ยนไปทิศทางนี้ได้ทั้งหมด ผมเชื่อว่าเราจะสามารถสร้าง Bright future ได้ และที่สำคัญผมมองว่าเราต้องสร้างอีโคซิสเต็มให้เขาอยากเปลี่ยนด้วย และทำให้เขาเชื่อว่าเปลี่ยนแล้วต้องดีขึ้น เพราะตอนนี้เราอยากให้เด็กเปลี่ยน midsets แต่อีโค่ซิสเต็มที่จะเอื้อให้เขาเปลี่ยนคืออะไร นี่คือประเด็นสำคัญ ฉะนั้นเราต้องสร้างบรรยากาศให้ clean & clear society ,free & fair society หรือสร้างสังคมที่เป็นธรรม เพื่อให้เกิด caring & sharing society ขึ้น นี่เป็นปฐมบทของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่”

“นอกจากนี้ เราควรปรับเป้าหมาย SDGs 17 ข้อ ให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ในการเป็นลีดเดอร์เพื่อเปลี่ยนอนาคต เราจำเป็นต้องถอดรหัสความหมายของ 17 ข้อให้ตรงกับบริบท สังคม ที่เยาวชนอาศัยอยู่ เพราะเยาวชนมีหลายเลเยอร์ เช่น เยาวชนในสังคมเมือง ชนบท 

Advertisment

ฉะนั้นเยาวชนจะมีสองบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน SDGs คือ ขับเคลื่อนด้วยตนเอง ในสังคมตนเอง เชื่อว่าเขาน่าจะมีสิ่งที่อยากทำหลายอย่าง มีโจทย์ให้เขาทำมากมาย และจากนั้นก็รวมพลังกับภาคส่วนอื่น ๆ ในการเปลี่ยนแปลงประชาคมโลกให้ดีขึ้น ทั้งหมดนี้จะเป็นไปได้ถ้าเราสร้างสังคมที่มีกติกาเอื้อต่อเยาวชนในการขับเคลื่อนทุกๆ ด้าน ส่วนผู้ใหญ่ก็มีบทบาทสนับสนุน อย่าทำให้เกิดช่องว่างในความฝันเล็กๆ ของเยาวชน”