เทียบเท่าระดับโลก! “มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล” นำร่องสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าคอมพิวเตอร์-วิศวกรรมซอฟต์แวร์ ปี”61 นี้

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2560 มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน และ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมเปิดมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ที่ลานเอนกประสงค์ชั้น 1 สำนักอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อนำร่องเปิด สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์-สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ในปี 2561 เพื่อรองรับโครงการ EEC ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ด้วยอุตสาหกรรมขั้นสูง

การจัดตั้งมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เเละมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำทางด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา จึงถือได้ว่าเป็นต้นแบบการจัดการศึกษาขั้นสำคัญ ที่จะเป็นการถ่ายทอดวิทยาการและองค์ความรู้ ภายใต้การส่งเสริมการจัดการศึกษา โดยสถาบันอุดมการศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์เริ่มก้าวไกล สิ่งที่รัฐบาลทำก็เพื่อเกิดการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ มีการแลกเปลี่ยน โดยมีการติดต่อกับสจล.ร่วมปี ในการดำเนินโครงการ

ทั้งนี้ แนวทางที่จะช่วยพัฒนาประเทศไทยนั้น จำเป็นต้องถ่ายทอดความรู้สู่ระบบการศึกษาไทย เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นเครื่องมือในการสร้างบุคลากรรวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้มีการขยายตัวมากขึ้นไปอีก

ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า โครงการนี้ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์ไทย หากไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ประวัติศาสตร์ขององค์การสถาบันศึกษาไทย คงไม่เกิดขึ้นแน่นอน

“นับได้ว่ามหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล เป็นสถานที่เเห่งเดียวในภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้สุดยอดมหาวิทยาลัยของโลก ทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ อย่างคาร์เนกีเมลลอน เข้าร่วมด้วย”

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคเเอลจะใช้มาตรฐานเดียวกับมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ตั้งแต่กระบวนการรับ คัดเลือก หรือแม้แต่การวิจัยนั้น โดยมีเป้าหมายการสอนเพื่อต้องการให้นักศึกษาได้ทำงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม รูปแบบการสอนจะเน้นไปที่องค์ความรู้ทางด้านวิชาการเพื่อตอบสนององค์ความรู้ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจหลักสำคัญในการพลิกโฉมการศึกษาไทย

ไม่เพียงแต่ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน เเละสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โครงการนี้ยังได้รับความร่วมมือจากกลุ่มอุตสาหกรรมลาดกระบัง รวมทั้งยังมีศิษย์เก่าของคาร์เนกีเมลลอนร่วมอยู่ด้วย

“เราต้องการเปลี่ยนการศึกษาไทย อยากจะเห็นการศึกษาไทยดีขึ้น โดยเฉพาะในด้านการศึกษาที่เน้นถึงเรื่องการผลิตขั้นสูงให้สามารถแข่งขันได้ โดยจะใช้หลักสูตรของคาร์เนกีเมลลอนในการสอน” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวเเละว่า

สาขาที่จะเปิดรับในปีแรกมี 2 สาขา คือ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ ในระดับปริญญาเอกและปริญญาโท และสาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ในระดับปริญญาโท โดยทางคาร์เนกีเมลลอนเป็นมหาวิทยาลัยที่มีอาจารย์ทางด้าน คอมพิวเตอร์และไฟฟ้า ที่เกี่ยวข้องมากกว่า 200 คน ล้วนแต่เป็นผู้มีประสบการณ์และมีชื่อเสียงในวงการสาขาวิชาดังกล่าว ซึ่งการเรียนการสอนนี้จะครอบคลุมเเละเชื่อมโยงกับไทยแลนด์ 4.0 ของประเทศไทย

สำหรับผู้เข้าศึกษาจะได้ทำงานวิจัยร่วมกับทางคณะอาจารย์จากคาร์เนกีเมลลอน ร่วมทั้งจะมีอาจารย์จากประเทศไทย ที่จะมาจาก สจล. หรือจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศที่จะเข้าร่วมในโครงการ ร่วมมือกันในการวิจัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศอย่างแท้จริง

มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอลได้เปิดรับสมัครเข้ารับคัดเลือก เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกและปริญญาโท สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ WWW.cmkl.ac.th สมัครได้ตั้งแต่วันนี้-สิ้นเดือน ธ.ค 60 ในขณะนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมสมัครเป็นจำนวนมากแล้ว ส่วนการเปิดสอนอย่างเป็นทางการ จะเริ่มเปิดในเดือน ส.ค 61 เป็นต้นไป