“กูเกิล” เปิดตัว Internet Awesome Parents ร่วม ศธ. สร้างพลเมืองดิจิทัล

Google ประกาศความสำเร็จโครงการ Be Internet Awesome ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ฝึกอบรมครูและนักเรียนแล้ว 1.5 ล้านคน พร้อมเปิดตัว Internet Awesome Parents สร้างพลเมืองดิจิทัล

วันที่ 16 กันยายน 2564 Google ประเทศไทย จัดงาน Safer with Google ส่วนหนึ่งของงาน Google for Thailand ต่อยอดความสำเร็จจากโครงการ Be Internet Awesome ที่ได้ฝึกอบรมครูและนักเรียนไปแล้วถึง 1.5 ล้านคนทั่วประเทศ โดยครั้งนี้เปิดตัว Internet Awesome Parents ชุดวิดีโอคำแนะนำสำหรับผู้ปกครองในด้านความปลอดภัยทางออนไลน์แบบต่าง ๆ

นางแจ็คกี้ หวาง ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย Google ประเทศไทย กล่าวว่า โลกออนไลน์มีข้อดีหลายอย่างต่อเด็กและเยาวชน เช่น เป็นช่องทางเรียนรู้ทักษะใหม่ ใช้เรียนหนังสือ และทำให้การติดต่อสื่อสารง่ายขึ้น แต่ในอีกมุมก็มีเรื่องที่น่าเป็นกังวล สามารถแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ 1.การแฮกและความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้ 2.การแพร่กระจายของข่าวปลอม 3.ความปลอดภัยของเด็ก ๆ ในโลกออนไลน์

“Google มองว่าการปกป้องความเป็นส่วนตัวเป็นความรับผิดชอบของบริษัท จึงออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของทุกคน ให้ผู้ใช้เป็นผู้ควบคุมการตั้งค่าต่าง ๆ ด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังเล็งเห็นถึงความจำเป็นใน 3 ด้าน คือ 1.เด็กจะต้องเรียนรู้ข้อมูลและจัดเก็บให้ปลอดภัย 2.เข้าถึงสื่อต่าง ๆ ตระหนักรู้อย่างหมาะสม 3.พัฒนาผู้ปกครองให้เข้าใจเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับเด็ก”

แจ็คกี้ หวาง ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย Google ประเทศไทย

ดังนั้นเมื่อปี 2562 จึงเปิดตัวหลักสูตร Be Internet Awesome ในไทยเป็นครั้งแรกในงาน Google for Thailand ภายใต้การสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการ มูลนิธิมูลนิธิครูดีของแผ่นดิน และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

หลักสูตรดังกล่าวออกแบบมาเพื่อให้ความรู้กับเด็ก ๆ เกี่ยวกับพื้นฐานสำคัญของการเป็นพลเมืองดิจิทัลและความปลอดภัยในโลกออนไลน์ เพื่อให้พวกเขาออกไปท่องโลกออนไลน์ได้อย่างมั่นใจ ประกอบไปด้วยเกม Interland เกมออนไลน์สำหรับเด็กที่เต็มไปด้วยการผจญภัยที่สอนเรื่องความปลอดภัยในโลกออนไลน์และการเป็นพลเมืองดิจิทัล แหล่งข้อมูลสำหรับครูเพื่อนำไปใช้ในห้องเรียน และแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยในโลกออนไลน์สำหรับครอบครัว

จนถึงตอนนี้หลักสูตร Be Internet Awesome ได้จัดฝึกอบรมครูและนักเรียนไปแล้วจำนวน 1.5 ล้านคน โดยสามารถเข้าถึงครูและนักเรียนทั้งหมด 73 จังหวัด และเมื่อต้นปีที่แล้วจัดกิจกรรมโรดโชว์ เพื่อสอนเด็ก ๆ เกี่ยวกับพื้นฐานสำคัญของการเป็นพลเมืองยุคดิจิทัล และความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ ทำให้พวกเขาออกไปท่องโลกออนไลน์ได้อย่างมั่นใจ

“วันนี้เราเปิดตัวชุดวิดีโอ Internet Awesome Parents เป็นชุดวิดีโอ 6 ตอนที่ให้คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองเกี่ยวกับปัญหาด้านความปลอดภัยบนโลกออนไลน์แบบต่าง ๆ และการเลี้ยงดูบุตรหลานในยุคดิจิทัล รวมถึงวิธีพูดคุยกับเด็ก ๆ ในเรื่องของ digital wellbeing และครอบคลุมไปถึงเครื่องมือและแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ที่ผู้ปกครองสามารถนำไปใช้เพื่อช่วยให้สมาชิกในครอบครัวท่องโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย อาทิ Family Link, Google Safety Centre แหล่งการเรียนรู้ออนไลน์ และโปรแกรมต่าง ๆ เช่น CS First เป็นต้น”

ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ด้านนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้คนต้องใช้ชีวิตแบบปกติใหม่ (new normal) และเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส ดังนั้นเพื่อทำให้เกิดเพื่อการเรียนรู้ต่อเนื่อง ทาง ศธ.จึงมีแนวคิดการเรียน 5 รูปแบบตามบริบทของพื้นที่ ความเหมาะสมของแต่ละโรงเรียน และสามารถใช้หลายรูปแบบผสมกันได้ ดังนี้

  1. On-site การไปเรียนที่โรงเรียน ดำเนินการได้ในกรณีที่โรงเรียนอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย โดยมีมาตรการรองรับเว้นระยะห่างทางสังคม และได้รับการอนุมัติจาก สบค.จังหวัด
  2. On-line การเรียนผ่านอินเทอร์เน็ต ผ่านระบบ web conference เป็นการจัดการเรียนการสอนแบบสองทาง
  3. On-air การสอนทางทีวี
  4. On-hand การที่ครูเอาสื่อการเรียนไปให้ผู้เรียนที่บ้าน
  5. On-demand การส่งสัญญาณ DLTV ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (NEW DLTV) เป็นการจัดการเรียนการสอนแบบทางเดียวมีครูสอนจากต้นทาง สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ทั้งอินเทอร์เน็ตบ้านและมือถือ

นางสาวตรีนุชกล่าวด้วยว่า ไทยมีโรงเรียนในระบบของกระทรวงศึกษาธิการกว่า 3 หมื่นแห่ง (ไม่รวมเอกชน) โดย 50% ของโรงเรียนเหล่านี้เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ดังนั้น ถ้าพวกเขาสามารถเข้าถึงเทคโนยีด้านการศึกษาได้มากขึ้น ก็จะลดความเลื่อมล้ำในสังคมให้น้อยลง

“นอกจากนั้น ประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนครูที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น ครูภาษาอังกฤษ การมีสื่อการเรียนการสอนผ่านดิจิทัลจะช่วยเติมช่องว่าง ให้เด็กเข้าถึงการเรียนรู้วิชาเอกที่ขาดแคลนครู”

หลักสูตร Be Internet Awesome ถือว่าเป็นโครงการที่ดีที่ทาง ศธ.ได้ทำงานร่วมกับ Google ประเทศไทย และมูลนิธิครูดีของแผ่นดิน เพื่อทำให้เด็กตระหนักได้ว่าอะไรคือสิ่งที่พวกเขาต้องเรียนรู้ อะไรคือสิ่งที่เหมาะสมสำหรับพวกเขา และมีความเข้าใจในเรื่องของความปลอดภัยในโลกออนไลน์

ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่กระทรวงเองให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญหลักสูตร Be Internet Awesome ได้ถูกออกแบบมาเป็น game-based จึงทำให้เด็กและเยาวชนมีความเข้าใจ เข้าถึงได้ง่าย และไม่น่าเบื่อ

ไมเคิล จิตติวาณิชย์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด Google ประเทศไทย

นายไมเคิล จิตติวาณิชย์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด Google ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า การเปิดตัว Internet Awesome Parents เป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจของ Google ประเทศไทย ภายใต้แนวคิด Leave no Thai Behind เดินหน้าในการช่วยลดช่องว่างดิจิทัลและช่วยให้คนไทยทุกคนมีโอกาสที่เท่าเทียมกันในโลกดิจิทัล

โดยหลักสูตร Be Internet Awesome ประกอบด้วยหัวข้อพื้นฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยและการเป็นพลเมืองในโลกดิจิทัลสำหรับเด็ก 6 ประการ ได้แก่ 

  1. คิดก่อนแชร์-ฉันไม่ได้หมายความอย่างนั้น : ได้เรียนรู้ความสำคัญของการตั้งคำถามว่า คนอื่นจะมองเห็นข้อความนี้ต่างจากเราอย่างไร รวมทั้งได้เรียนรู้เกี่ยวกับภาพสื่อความหมายที่ผู้คนใช้ในการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับตนเองและเพื่อสรุปเกี่ยวกับคนอื่น
  2. คิดก่อนแชร์-การวางกรอบ : ได้เรียนรู้ถึงการมองเห็นภาพตัวเองในฐานะผู้สร้างสรรค์สื่อ และเข้าใจว่าผู้สร้างสื่อจะตัดสินใจเลือกว่าจะแสดงสิ่งใดและเก็บสิ่งใดไว้นอกกรอบ ได้ใช้แนวคิดในการวางกรอบเพื่อเข้าใจความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ทำให้มองเห็นและเป็นสาธารณะกับสิ่งที่ต้องเก็บไว้ให้ปลอดภัยหรือมองไม่เห็น
  3. ไม่ตกหลุมพรางกลลวง-เรื่องจริงหรือเปล่านะ : ได้เรียนรู้วิธีใช้การคิดวิเคราะห์เพื่อแยกแยะระหว่างสิ่งที่เชื่อถือได้และสิ่งที่เชื่อถือไม่ได้ในสื่อประเภทต่าง ๆ ที่พบเจอในโลกออนไลน์
  4. ไม่ตกหลุมพรางกลลวง-การระบุข้อมูลเท็จในโลกออนไลน์ : ได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิธีระบุเบาะแสที่บ่งชี้ว่าข้อมูลที่พบในโลกออนไลน์เชื่อถือได้หรือไม่
  5. เป็นคนดีเท่จะตาย – ถ้อยคำเปลี่ยนความหมายของภาพได้อย่างไร : ได้เรียนรู้การสร้างความหมายจากการผสมของรูปภาพและถ้อยคำ และเข้าใจว่าคำบรรยายภาพเปลี่ยนสิ่งที่เราคิดว่าภาพกำลังสื่อสารอยู่ได้อย่างไร นอกจากนี้ เด็ก ๆ ยังจะได้รับรู้ถึงคุณค่าของพลังแห่งถ้อยคำ โดยเฉพาะเมื่อนำมารวมกับรูปภาพที่โพสต์
  6. สงสัยเมื่อไหร่ก็ถามได้เลย-การมีความกล้าหาญหมายความว่าอย่างไร : สอนให้คิดว่าอะไรหมายถึงการมีความกล้าหาญ ทั้งในโลกออนไลน์และในชีวิตจริง รวมทั้งระบุที่มาของแนวคิดเกี่ยวกับความหมายของความกล้าหาญ และเรียนรู้ว่าสื่อส่งผลกระทบต่อความคิดในเรื่องความกล้าหาญของพวกเขาอย่างไรบ้าง

ตอนนี้หลักสูตร Be Internet Awesome ได้เข้าสู่เวอร์ชั่นที่ 2 โดย Google ได้นำหลักสูตรนี้เข้ารับการประเมินของศูนย์วิจัยอาชญากรรมต่อเด็กแห่งมหาวิทยาลัยนิวแฮมป์เชียร์ ทั้งนี้ นักวิจัยของศูนย์ พบว่านักเรียนที่ผ่านหลักสูตร Be Internet Awesome มีความเข้าใจในด้านต่าง ๆ ดีขึ้น เช่น การเป็นพลเมืองดิจิทัล การทำความเข้าใจว่าเว็บไซต์ใดปลอดภัย และการรับมือกับการกลั่นแกล้งทางออนไลน์อย่างมั่นใจมากขึ้น เป็นต้น การวิจัยยังได้แนะนำโอกาสที่เด็ก ๆ จะได้รับประโยชน์จากคำแนะนำเพิ่มเติม ซึ่ง Google ได้นำไปต่อยอดในการพัฒนาหลักสูตร

Google ได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยออนไลน์ เช่น Committee for Children และ The Net Safety Collaborative พัฒนาหลักสูตร Be Internet Awesome โดยได้เพิ่มเติมบทเรียนใหม่ 11 บท รวมถึงแหล่งความรู้เพิ่มเติมสำหรับครูอาจารย์และครอบครัว รวมถึงคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับเกมออนไลน์ เครื่องมือค้นหา และการรับชมวิดีโอ พร้อมทั้งเพิ่มบทเรียนเพื่อการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมเพื่อช่วยให้นักเรียนสามารถรับมือกับการกลั่นแกล้งและการล่วงละเมิดทางออนไลน์”

นายไมเคิลกล่าวด้วยว่า Google มีแอปพลิเคชั่น Family Link ที่ช่วยให้ผู้ปกครองรับรู้ความเคลื่อนไหวเมื่อบุตรหลานท่องโลกออนไลน์ โดยผู้ปกครองสามารถเชื่อมต่อโทรศัพท์ของตนเองเข้ากับโทรศัพท์หรือแท็บเลตของบุตรหลานเพื่อตั้งกฎกติกาพื้นฐานสำหรับการใช้สื่อดิจิทัลที่เหมาะสมกับครอบครัว ได้แก่  

  • จัดการแอปของบุตรหลาน-อนุมัติหรือบล็อกแอปที่บุตรหลานต้องการดาวน์โหลด
  • คอยติดตามเวลาอยู่หน้าจอ-ตรวจสอบว่าบุตรหลานใช้เวลาไปกับแอปโปรดของพวกเขานานเพียงใดได้จากรายงานกิจกรรมทั้งแบบรายสัปดาห์และรายเดือน และทำการตั้งค่าเพื่อจำกัดเวลาอยู่หน้าจอต่อวัน 
  • กำหนดเวลาเข้านอนในอุปกรณ์-ล็อกอุปกรณ์ของบุตรหลานจากระยะไกลเมื่อถึงเวลาเข้านอน หรือเมื่อถึงเวลาพักสายตา

“เป้าหมายคือการช่วยให้เด็ก ๆ ได้สำรวจเทคโนโลยี ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้ปกครองสามารถติดตามกิจกรรมในโลกออนไลน์ของบุตรหลาน และมอบทางเลือกให้ผู้ปกครองกำหนดได้ว่าต้องการให้บุตรหลานใช้เทคโนโลยีอย่างไร นอกจากนั้น ยังส่งเสริมการใช้ YouTube Kids ที่ช่วยให้เด็ก ๆ ค้นพบวิดีโอในหัวข้อที่ต้องการสำรวจได้ง่ายขึ้น”