มหิดลจัดมหกรรม MUSEF 2021 โชว์งานวิจัยเพื่อสังคม แก้ปัญหาประเทศ

มหิดลเตรียมจัดงานมหกรรมมหิดลเพื่อสังคม “MUSEF 2021” รวบรวมองค์ความรู้วิชาการ งานวิจัย ของบุคลากรในแวดวงวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์การแพทย์ หวังผลักดันไปสู่การกำหนดเป็นนโยบายแก้ปัญหาประเทศ พร้อมวงเสวนาถอดบทเรียนโควิดจากแพทย์ผู้มีบทบาทสำคัญ จัดแสดงในรูปแบบ Virtual Conference วันที่ 7 ต.ค.นี้

วันที่ 21 กันยายน 2564 ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การจัดงานมหิดลเพื่อสังคม หรือ Mahidol University Social Engagement Forum : MUSEF 2021) มีวัตถุประสงค์ต้องการนำงานวิชาการ ผลงานวิจัย ที่อาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยได้สร้างสรรค์ขึ้นไปสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน สังคม และประเทศให้ได้มากที่สุด ซึ่งมหิดลมีนักวิชาการในหลากหลายสาขาวิชา ทั้งด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ได้ผลิตลงานวิจัยจำนวนมากมาย สามารถสร้างคุณูปการให้กับประชาชน รวมถึงสังคมและประเทศได้ การสานต่อผลงานเพื่อเชื่อมโยงกับเครือข่ายทุกภาคส่วนจะก่อให้เกิดประโยชน์ขึ้นอีกมาก 

มหาวิทยาลัยมหิดลจึงเห็นสมควรจัดเวทีให้นักวิชาการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายภาคประชาสังคม รวมถึงประชาชนทั่วไปได้มาพบกัน เพื่อร่วมกันสร้างกลไกในการขับเคลื่อน หรือผลักดันงานวิจัยไปสู่การกำหนดเป็นนนโยบายที่จะช่วยแก้ปัญหาประเทศ รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิชาการและภาคสังคม เกิดการผลักดันกระบวนการเชิง Policy Advocacyให้เกิดความยั่งยืน จึงเป็นโอกาสใหม่สำหรับนักวิชาการที่จะได้นำเสนองานวิชาการต่อสาธารณชน และพูดคุยถึงผลงานเหล่านั้น รวมถึงรับฟังความต้องการของผู้ร่วมงานจากทุกภาคส่วน 

ทั้งนี้ สำหรับไฮไลต์ของงานอัดแน่นไปด้วยความรู้ทางด้านวิชาการ จากการบรรยายพิเศษโดยผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยมหิดล กับการบรรยายและเสวนาใน 4 หัวข้อ โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยมหิดล  โดยศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ที่จะบรรยายหัวข้อ “มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อสังคม” และ “มหาวิทยาลัยมหิดลกับ Sustainable Development Goals” บรรยายโดย ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และข้อคิดดี ๆ จากศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี กรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิ ในหัวข้อ “มหาวิทยาลัยมหิดลเขยื้อนสังคม”

อีกหนึ่งสาระสำคัญในงานมาจากการเสวนาหัวข้อ มหาวิทยาลัยมหิดลกับการชี้นําสังคม : กรณีศึกษา COVID-19 โดยคณะแพทย์ทั้ง 2 แห่งที่กำลังมีบทบาทสำคัญในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา-คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา-คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่จะถ่ายทอดความรู้ และข้อมูลสำคัญ ทั้งการรักษาพยาบาล การป้องกันการแพร่ระบาด วิธีการดูแลสุขภาพเบื้องต้น รวมถึงการมีส่วนผลักดันให้รัฐบาลกำหนดมาตรการและนโยบายเพื่อควบคุมโรคและป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง 

การนำเสนอผลงานเชิงวิชาการรับใช้สังคมจากนักวิจัยของมหาวิทยาลัย ในผลงานประเภท Poster Presentation และ Oral Presentation เพื่อนำเสนอข้อค้นพบที่ได้จากงานวิจัย นำไปสู่การผลักดันให้เกิดความร่วมมือและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความคิดเห็นระหว่างนักวิจัยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การขับเคลื่อนเป็นนโยบาย ในท้ายที่สุด

ภายในงานมหกรรมมหิดลเพื่อสังคม MUSEF 2021 ยังมีพื้นที่เปิดกว้างสำหรับ Workshop จากกลุ่มนักวิจัย และกลุ่มผู้ทำงานภาคสังคม ได้แก่  เวิร์กช็อป “MU Organic” วงสนทนาเกี่ยวกับการพัฒนาเครื่องหมายมาตรฐานการรับรองเกษตรอินทรีย์จากความร่วมมือของนักวิจัยและเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงการรับรองมาตรฐานอย่างไม่เสียค่าใช้จ่าย

รวมไปถึงการได้ทดลองตรวจสอบแปลงผักแบบ Live ที่จะพาผู้เข้าร่วมไปตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพแปลงผักด้วยกัน รวมถึงการรณรงค์ลดการบริโภคเกลือโซเดียมในประชากรไทยเพื่อลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การเวิร์กช็อปเกี่ยวกับ Social Engagement : แผนภาพแสดงผลกระทบทางสังคม (Social Impact Canvas) ที่จะชวนคนรุ่นใหม่มาเรียนรู้เครื่องมือ และวิธีการใช้เครื่องมือกับงานประเภทต่าง ๆ ในการออกแบบและประเมินผลกระทบทางสังคม และที่พลาดไม่ได้ กับการทำเวิร์กช็อปที่เกี่ยวกับนวัตกรรมเพื่อการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19

กิจกรรม Spatial Chat-Speed Networking ชวนทุกคนมาทำความรู้จักนักวิจัยและผู้ทำงานภาคสังคม และร่วมพูดคุยกับคนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน กับ Sharing Space เพื่อทำความรู้จัก แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ใน 6 กลุ่มประเด็นหลัก ได้แก่ กลุ่มงานบริการชุมชน  กลุ่มตัวกลางในการสร้าง Impact เช่น Social Accelerator, Social Impact หรือ Corporate CSR  กลุ่มประเด็นเด็กและเยาวชน  กลุ่มประเด็นสุขภาพ กลุ่มประเด็นผู้สูงอายุ และ Inclusiveness และ กลุ่มประเด็นวัฒนธรรม

จากการพบกันของ 3 sectors ได้แก่ กลุ่มผู้ทำงานวิจัย กลุ่มผู้กำหนดนโยบาย และภาคประชาสังคม ในงานมหกรรมมหิดลเพื่อสังคม MUSEF 2021 ครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของเครือข่ายระหว่างอาจารย์หรือนักวิจัย ของมหาวิทยาลัยมหิดลกับองค์การภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อต่อยอดและร่วมพัฒนางานวิจัยไปสู่การขับเคลื่อนทางสังคมที่เกิดประโยชน์กับประเทศในภาพรวม

สำหรับ “มหกรรมมหิดลเพื่อสังคม MUSEF 2021” จะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม 2564 ติดตามรายละเอียดที่เฟซบุ๊ก MUSEF Conference