ตรีนุช เปิด 3 แผนงาน แก้หนี้ 1.4 ล้านล้าน ครู-บุคลากร 9 แสนคน

ภาพจาก มติชน

ตรีนุช กาง 3 แผนงาน แก้หนี้ 1.4 ล้านล้านบาท ของ ครู-บุคลากรทางการศึกษากว่า 9 แสนคน จับมือสหกรณ์ออมทรัพย์ สถาบันการเงินปรับโครงสร้าง-ลดดอกเบี้ย  

วันที่ 25 กันยายน 2564 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เผยว่า ศธ.ได้จัดทำแผนแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา 3 แผนงาน ดังนี้

1. โครงการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน จำนวน 12 แห่ง 4 ภาค ภาคละ 3 แห่ง ทำงานร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่ง ภายในเดือนตุลาคมนี้ และขยายผลไปยังสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศในเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป

โดยแนวทางแก้ไขปัญหาสำคัญ คือ

  • ปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากของสหกรณ์ออมทรัพย์ให้ต่ำลงไม่เกิน 3%
  • ลดดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับสินเชื่อความเสี่ยงต่ำ 4.5-5%
  • จัดสรรผลกำไรมาเพิ่มเงินเฉลี่ยคืนเงินกู้ให้มากขึ้นไม่น้อยกว่า 30%
  • ลดค่าธรรมเนียมและการค้ำประกันที่ไม่จำเป็น
  • ปรับโครงสร้างหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ยกเลิกการฟ้องคดี รวมหนี้จากทุกสถาบันการเงินมาไว้ที่สหกรณ์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ในอัตรา 2.5% ปรับโครงสร้างหนี้ครูก่อนเกษียณ อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และลดดอกเบี้ยเงินกู้แก่ครูที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ 0.25-0.50.% ปรับลดการส่งค่าหุ้นรายเดือน
  • จัดทำฐานข้อมูลสมาชิกและการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับสถาบันการเงินและต้นสังกัด
  • ร่วมกับส่วนราชการต้นสังกัดหัก ณ ที่จ่าย จะต้องมีเงินเดือนเหลือไม่น้อยกว่า 30%
  • สร้างระบบพัฒนาและดูแลสมาชิก

2.เจรจากับสถาบันการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาครูที่ถูกฟ้อง แก้ปัญหาของผู้ค้ำประกัน และการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

3.การจัดอบรมพัฒนาครู 1 แสนคนต่อปี เริ่มวันที่ 1-15 ตุลาคม ผ่านระบบออนไลน์

ทั้งนี้ พบว่าครูและบุคลากรทางการศึกษากว่า 9 แสนคน หรือ 80% มีหนี้รวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท เจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดคือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู 8.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 64% รองลงมาคือ ธนาคารออมสิน 3.49 แสนล้านบาท คิดเป็น 25% ของหนี้สินทั้งหมด