Sci-business “มธ.ลำปาง” ผลิตคนป้อนภาคเหนือ

เนื่องจากการพัฒนาใด ๆ มักเริ่มด้วยการใช้พื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ด้วยเหตุผลนี้ จึงทำให้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จึงมุ่งพัฒนา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาโดยตลอด และด้วยปณิธานที่จะจัดการศึกษาสำหรับประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ทุกชนชั้น จึงเริ่มขยายโอกาสทางการศึกษาออกสู่ส่วนภูมิภาคในจังหวัดลำปาง

โดยล่าสุด คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. เปิดตัวหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ วิชาเอกเทคโนโลยีการเรียนรู้ ณ มธ.ศูนย์ลำปาง เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัลสู่ภูมิภาค พร้อมกับตั้งเป้าเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ และแหล่งผลิตบุคลากรด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลของภาคเหนือ เติมเต็มระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ (ecosystem)

“รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ” คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ มธ. มีอายุกว่า 31 ปี มีจุดเด่นแตกต่างจากที่อื่น เพราะเน้นโครงการที่ทำร่วมกับชุมชน มีความเข้มแข็งด้านสังคมศาสตร์ และคนจบจากคณะวิทยาศาสตร์ของเราไม่ใช่คนที่ต้องอยู่แต่ในห้องแล็บเท่านั้น แต่ต้องรู้ธุรกิจ และการลงทุน เป็น Sci-business ที่หมายถึงผู้สามารถสร้างนวัตกรรมและเป็นผู้สร้างงานในฐานะผู้ประกอบการได้ด้วย

รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ

“หลังจากที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต มีความเข้มแข็งแล้ว เราจึงอยากขยายอุดมการณ์ และสร้างความรู้ให้เท่าเทียมกันในทุกชุมชน อีกทั้งยังเป็นการตอบสนองแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ของภาครัฐ ที่มีแนวคิดในการขับเคลื่อนประเทศไทย ผ่านการเพิ่มขีดความสามารถ และศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในระดับนานาชาติ”

“ผนวกกับแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2557-2561) ที่เน้นการใช้กลยุทธ์การเชื่อมโยงการผลิต และการตลาด สู่สากลด้วยดิจิทัล การกระจายความรู้จากศูนย์กลางสู่ชุมชนท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาค จึงเป็นประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการเร่งผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตที่ศูนย์ลำปางมีศักยภาพ และความเข้มข้นเช่นเดียวกับที่ มธ.ศูนย์รังสิต ดังนั้น นักศึกษามั่นใจได้ว่าจะได้องค์ความรู้ที่มีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับในสังคม”

ทั้งนั้นเพื่อเป็นการกระตุ้น และสร้างแรงจูงใจให้นักศึกษาในภาคเหนือไม่ย้ายถิ่นฐานไปเรียนอย่างแออัดกันในกรุงเทพฯ ทางคณะจึงมีทุน บุญชู ตรีทอง ให้นักศึกษาที่มีเกรดระหว่างการศึกษาไม่ให้ต่ำกว่า 2.00 ได้เรียนฟรีในภาคการศึกษานั้น และหากทำเกรดได้มากกว่า 2.5 จะมีทุนให้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นด้วย ซึ่งจะเปิดรับสมัครรอบที่ 2 แบบโควตาในเดือน ม.ค. 2561

“รศ.ดร.สายฝน สุเอียนทรเมธี” รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์ลำปาง รองประธานกรรมบริหารศูนย์ลำปาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า นักศึกษาของ มธ.ศูนย์ลำปาง มีนักศึกษาทั้งปริญญาโท และเอก ทุกสาขาวิชารวมแล้วกว่า 2 พันคน โดยเป็นนักศึกษาที่มาจากภาคเหนือ 60%

“จุดแข็งของเด็ก มธ.ศูนย์ลำปาง คือ มีความโหยหาความรู้ พอได้รับโอกาสเรียนในมหาวิทยาลัยดี ๆ พวกเขาจะเรียนอย่างเต็มที่ เพราะไม่ได้มีตัวเลือกมากเหมือนเด็กในกรุงเทพฯ นอกจากนั้น นักศึกษาที่มาจาก จ.ลำปาง กว่า 70-80% เลือกประกอบอาชีพในท้องถิ่นของตนเอง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราส่งเสริมให้นักศึกษาเห็นคุณค่าของทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น ทั้งสมุนไพร เซรามิก และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ”

ทั้งยังนำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มาประยุกต์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อสอดรับกับแผนพัฒนาจังหวัดลำปาง 4 ปี (พ.ศ. 2561-2565) ที่มีทิศทางการพัฒนาลำปางบนพื้นฐานของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ด้วยการใช้องค์ความรู้แบบผสมผสานความรู้นวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผนวกเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น

“ตอนนี้ที่ มธ.ศูนย์ลำปาง มีอาจารย์ 72 คน และทยอยเพิ่มจำนวนมากขึ้น เพื่อรองรับการขยายคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณะเศรษฐศาสตร์มาที่ มธ.ศูนย์ลำปาง โดยวางไว้ว่าจะทำหลังจากที่อาคารนวัตกรรมบริการสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปีหน้า และในอนาคตเราตั้งเป้าขยาย มธ.ศูนย์ลำปางให้สามารถรองรับนักศึกษาได้ถึง 4 พันคน”

อาคารนวัตกรรมบริการมูลค่า 400 ล้านบาท มีแนวคิดในการออกแบบให้มีความสอดคล้องกับการประหยัดพลังงานตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงานกำเนิด ตัวอาคารเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และใช้วัสดุที่มีความเหมาะสมในการประหยัดพลังงาน มีความคงทนแข็งแรง เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ทันสมัยโดยมีห้องสมุดบุญชู ตรีทอง เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าบริการให้นักศึกษาและประชาชน

นับว่า เป็นการมุ่งสร้างบัณฑิตตามแนวทาง Sci-Business ให้มีความรู้เชิงลึกในองค์ความรู้ใหม่ ๆ และเชี่ยวชาญจากการฝึกปฏิบัติด้วยการทำโครงงานอย่างเข้มข้น เพื่อออกไปประกอบอาชีพอย่างมืออาชีพ และสามารถประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ให้เป็นประโยชน์ สร้างความก้าวหน้าให้กับสังคม ธุรกิจ เศรษฐกิจของชุมชน องค์กร ประเทศชาติต่อไป