ศธ. สรุปผลตรวจสอบชุดนิทานวาดหวัง พบ 5 เล่มเข้าข่ายควรระวัง

คณะทำงานชุดเฉพาะกิจ ศธ.สรุปผลตรวจสอบหนังสือชุดนิทานวาดหวัง จำนวน 8 เล่ม หลังถูกมองมีเนื้อหาปลุกปั่น สร้างความเกลียดชัง พบ 3 เล่มเป็นประโยชน์ ส่วนอีก 5 เล่ม เข้าข่ายควรระวัง พร้อมส่งข้อสรุปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้พิจารณาต่อ

วันที่ 14 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับหนังสือนิทานภาพสำหรับเด็ก จำนวน 8 เล่ม จากเพจ “วาดหวังหนังสือ” ที่ถูกกระทรวงศึกษาธิการมองว่า เป็นนิทานที่มีเนื้อหาปลุกปั่น สร้างความเกลียดชัง และครอบงำความคิดเด็ก จนเมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมา ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้สั่งการให้จัดตั้งทีมเฉพาะกิจ โดยมีนายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เเละนโยบาย เป็นประธานตรวจสอบเรื่องนี้ พร้อมด้วย นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกประจำตัวรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และพร้อมประสานงานกับฝ่ายความมั่นคงต่อไปว่าเนื้อหาในนิทานมีเจตนาปลุกระดม ล้างสมอง หรือปลุกปั่นเด็ก ๆ หรือไม่ และมีใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งหากพบว่าผิดจริง จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

และล่าสุดวันนี้ (14 ตุลาคม) เมื่อช่วง 09.00-11.00 น.ที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประชุมสรุปการดำเนินงานของคณะทำงานชุดเฉพาะกิจตรวจสอบหนังสือนิทานชุดวาดหวัง พร้อมด้วยแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยผลตรวจสอบคณะทำงานให้ความเห็นว่า มี 3 เล่มเป็นประโยชน์ แนะนำเด็กและเยาวชนนำไปใช้ได้ ส่วนอีก 5 เล่มเข้าข่ายเนื้อหาควรเฝ้าระวัง พร้อมส่งข้อสรุปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้พิจารณาต่อ

นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เเละนโยบาย ในฐานะประธานคณะทำงานชุดเฉพาะกิจตรวจสอบหนังสือนิทานชุดวาดหวัง กล่าวว่า คณะทำงานชุดเฉพาะกิจตรวจสอบหนังสือนิทานชุดวาดหวัง ที่แต่งตั้งโดย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินงานมากว่า 3 สัปดาห์แล้วเนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงต่อการรับผิดชอบเยาวชนในช่วงวัยเรียน มีหน้าที่ปกป้องเยาวชน โดยการทำงานดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน รวมถึงนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ความเห็นตกผลึกออกมาเป็นข้อสรุป เป็นความเห็นทางวิชาการถึงความเหมาะสมของหนังสือในแต่ละเล่มว่ามีประโยชน์อย่างไร และจะส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหนต่อเด็กและเยาวชนในอนาคต โดยไร้อคติใด ๆ ทั้งสิ้น

“ความขัดแย้งทั่วโลกถือเป็นเรื่องปกติ แต่เราต้องแก้ไขด้วยการสร้างพลังบวก เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีไม่ใช่ความรุนแรง ซึ่งคุณหญิงกัลยาท่านให้ความสำคัญตรงนี้มาก การทำงานของคณะทำงานชุดเฉพาะกิจ มีจุดประสงค์เพื่อจะช่วยตรวจสอบสิ่งที่สังคมกำลังมีความขัดแย้ง ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต และกระทรวงศึกษาธิการมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการปกป้องเด็กและเยาวชน” นายภูมิสรรค์ กล่าว

นายภูมิสรรค์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ข้อสรุปที่ได้ในวันนี้ จะนำไปรายงานต่อ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รวมถึงข้อคิดเห็นทั้งหมดจะส่งต่อถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาของแต่ละหน่วยงาน อาทิ สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นต้น เพื่อให้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ด้านนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกประจำตัวรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) ประธานร่วมคณะทำงานชุดเฉพาะกิจ กล่าวว่า มุมมองจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษาคณะทำงานชุดเฉพาะกิจครั้งนี้คือ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ให้ความเห็นว่าหนังสือนิทานชุดนี้ ผู้จัดทำระบุไว้ว่าเหมาะกับเด็กในระดับอายุ 5-12 ปี โดยในข้อเท็จจริงทางการแพทย์ เด็กที่มีอายุ 6 ขวบปีแรกจะยังไม่สามารถแยกแยะโลกแห่งจินตนาการและโลกความเป็นจริงได้ หากได้รับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมก็อาจทำให้เด็กเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันสร้างสังคมคุณธรรมที่เป็นสังคมเชิงบวก เพื่อปลูกฝังสิ่งที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน และสร้างสื่อที่สร้างสรรค์

ซึ่งจากการประชุมพิจารณาหนังสือชุดนิทานวาดหวังทั้ง 8 เล่ม นั้นที่ประชุมมีความเห็นว่า หนังสือชุดนิทานวาดหวังมีทั้งที่เป็นเนื้อหาที่เป็นประโยชน์และเนื้อหาที่อาจนำไปสู่การบ่มเพาะปลูกฝังความขัดแย้ง รุนแรง โดยนิทานเรื่องที่เป็นประโยชน์และควรให้การสนับสนุน ได้แก่

1.นิทานเรื่องตัวไหนไม่มีหัว ซึ่งมีจุดอธิบายและขมวดปมได้ว่าตัวอักษรทุกตัวมีความเท่าเทียมกัน สอนเด็กให้เรียนรู้ถึงความเท่าเทียม และเคารพความเห็นต่างของแต่ละบุคคล ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี

2.เรื่องแค็ก แค็ก มังกรไฟ สอนให้เด็กรู้จักรักสิ่งแวดล้อมส่งเสริมการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ปกป้องไฟป่า ร่วมมือร่วมใจดับไฟป่า

3.เรื่องเด็กๆ มีความฝัน ถือเป็นหนังสือที่ตอบโจทย์ทุกคนรวมถึงเยาวชน เพราะท้ายที่สุดเด็กทุกคนมีความฝัน เป็นเสรีภาพในการใช้ชีวิต

ซึ่งในมุมมองนักวิชาการหนังสือทั้ง 3 เล่มนี้เป็นหนังสือที่ดี น่าชื่นชม เด็กเยาวชนสามารถนำไปใช้เรียนรู้ได้ทุกช่วงอายุ

“ส่วนหนังสือที่มีเนื้อหาเข้าข่ายควรระวังตามความเห็นของนักวิชาการที่มองว่าอาจบ่มเพาะเยาวชนให้นำไปสู่การแก้ไขความขัดแย้ง โดยการใช้ความรุนแรงมาตัดสินในอนาคตได้นั้น ได้แก่ 1.หนังสือเรื่องแม่หมิมไปไหน 2.เรื่องเป็ดน้อย 3.เรื่องเสียงร้องของผองนก 4.เรื่อง 10 ราษฎร และ 5.เรื่อง จ จิตร

ซึ่งหนังสือทั้ง 5 เล่มนี้ไม่มีเนื้อหา มีแต่การเล่าเรื่องโดยภาพ ซึ่งน่าเป็นห่วงเพราะเด็กวัยนี้จะเกิดการจดจำและแยกแยะความเป็นจริงไม่ได้ อาจเกิดพฤติกรรมการเลียนแบบ ส่วนนี้จึงเป็นข้อกังวลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อาจจะบ่มเพาะความรู้สึกรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนได้ จึงมีความไม่สบายใจหากหนังสือทั้ง 5 เล่มนี้ถูกนำไปใช้ จึงอยากวิงวอนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งครู ผู้ปกครอง ช่วยตรวจตราให้คำชี้แนะ พึงระวังบุตรหลานของท่าน”

“ข้อสรุปจากการประชุมในวันนี้ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า คณะทำงานชุดเฉพาะกิจดำเนินงานโดยปราศจากอคติโดยสิ้นเชิง และใช้หลักวิชาการในการตรวจสอบ โดยไม่ได้ทำหน้าที่ในการตัดสินถูกผิด แต่ยึดถือประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ” นางดรุณวรรณ กล่าว