4 ข้อเสนอ ปฏิรูปอุดมศึกษา หนุนตลาดแรงงานให้ก้าวทันโลก มีอะไรบ้าง

4 ข้อเสนอ ปฏิรูปอุดมศึกษา หนุนตลาดแรงงานให้ก้าวทันโลก มีอะไรบ้าง

คณะกรรมการปฏิรูปฯ การศึกษา แนะอุดมศึกษาเร่งปรับ 4 บทบาท รับแนวโน้มตัวเลขนักศึกษา-วัยแรงงานมีอัตราส่วนลดลง พร้อมชี้กลไกจัดสรรงบฯ ต้องยึดหลักดีมานด์ตลาด

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ. ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา แนะอุดมศึกษาเร่งปฏิรูปด้านการพัฒนาคนใน 4 บทบาทสำคัญ หนุนความต้องการตลาดแรงงานและสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของโลก ได้แก่ 1. พัฒนากำลังคน 2. สนับสนุนงานวิจัย 3. บริการวิชาการแก่สังคม และ 4. พัฒนาศิลปวัฒนธรรมของสังคม

พร้อมชูหลักคิด ‘พัฒนาคนวัยทำงาน’ ทั้งในภาคการผลิตและการบริการสำคัญเทียบเท่าการผลิตบัณฑิตใหม่ โดยเฉพาะทักษะสำคัญต่อการทำงาน อาทิ การสื่อสารระหว่างบุคคล การทำงานร่วมกับผู้อื่น การจัดสรรเวลาให้เหมาะสมกับงานที่ได้รับมอบหมาย ฯลฯ และยกระดับการพัฒนาทักษะเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-long Learning) เพื่อให้สามารถปรับตัวได้เท่าทันในยุคดิสรัปชัน

นอกจากนี้ การจัดสรรงบฯ แก่สถาบันอุดมศึกษา มีส่วนสำคัญยิ่งในการกระตุ้นให้สถาบันเร่งปรับตัวหรือปฏิรูปอุดมศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันนำไปสู่เป้าหมายในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศยั่งยืน

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เปิดเผยว่า ปัจจุบันจำนวนของนักศึกษาและวัยแรงงานจะลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร แต่หน้าที่ของอุดมศึกษากลับมีมากขึ้น ถือเป็นโอกาสในการพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อยกระดับความสามารถของกำลังคนในประเทศ โดยเฉพาะวัยแรงงานภาคการผลิตและบริการ เพื่อให้สามารถก้าวข้ามกับดักทางรายได้อย่างยั่งยืน

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา จึงได้เร่งดำเนินการและติดตามผลการดำเนินงานตามกรอบนโยบายอย่างใกล้ชิด ผ่าน “การปฏิรูปอุดมศึกษา” ซึ่งถูกบรรจุใน “แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาที่5” (Big Rock 5) ที่เน้นการพัฒนาคนในระดับอุดมศึกษาและวัยแรงงาน ผ่านการสร้างคุณค่าและความหมายต่อสังคมในมุมที่มากกว่าการผลิตบัณฑิตอย่างในอดีตที่ผ่านมา

จึงมีข้อเสนอแนะในการปรับบทบาทหน้าที่ใน 4 ด้านของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อเร่งพัฒนาระบบให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนี้

1. สร้างคนให้ตรงโจทย์ สถาบันการศึกษาต้องพัฒนาศักยภาพวัยทำงาน/วัยแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญไปไม่น้อยกว่าการพัฒนาบัณฑิตใหม่ ผ่านการยกระดับการพัฒนาทักษะและการเรียนรู้สำหรับคนวัยทำงาน ในรูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต

2. สนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรม ผลักดันการคิดต่อยอดความรู้ความเชี่ยวชาญ เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลงานวิจัยหรือโปรดักต์ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในภาพรวม

3. เพิ่มบริการวิชาการแก่สังคม การทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนโดยรอบ ในลักษะการลงพื้นที่ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้กับชุมชน ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมทักษะการสื่อสารกับคนต่างวัย การทำงานร่วมกับผู้อื่นแล้ว ยังเป็นการยกระดับศักยภาพชุมชน/คนในท้องถิ่นให้ตรงต่อความต้องการของประเทศ

4. เสริมการพัฒนาวัฒนธรรม นอกเหนือจากการบ่มเพาะนักศึกษาให้พร้อมด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะทาง มีหลักคิดในการสร้างมูลค่าเพิ่มงานวิจัย ตลอดจนส่งต่อความรู้สู่ชุมชนแล้ว การพัฒนานักศึกษาให้เข้าใจถึงวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นที่ตั้งสถาบัน จะช่วยส่งเสริมค่านิยมอนุรักษ์ ตลอดจนสืบสานประเพณีท้องถิ่นแก่นักศึกษาในรุ่นต่อไปอีกด้วย

นอกจากนี้ การจัดสรรงบประมาณให้แก่สถาบันอุดมศึกษา โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ถือมีส่วนสำคัญยิ่งในการกระตุ้นให้สถาบันอุดมศึกษาดำเนินการปรับตัว หรือเร่งเครื่องการปฏิรูปอุดมศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหลักการจัดสรรงบฯ ดังกล่าว จะอิงข้อมูลตามหลักการ “ความต้องการกำลังคน” (Demand-Side Financing) ที่ระบุไว้ในระบบฐานข้อมูลประเมินความต้องการ

ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของแต่ละสถาบันอุดมศึกษา เพื่อความสะดวกต่อการจัดการงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม หรือที่เรียกว่า “การยึดหลักการตัดสินใจบนหลักฐานเชิงประจักษ์” (Evidence-Based)

ทั้งนี้ ในยุค Disruption ที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี อีกทั้งยังถูกกระตุ้นด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคอุดมศึกษาที่ต้องปรับบทบาทและกลไกในการพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบโจทย์สังคมและประเทศ

เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้ต้องการคนที่อยู่ในระบบการศึกษา แต่ต้องการคนที่อยู่ในระบบแรงงาน การพัฒนากำลังคนวัยทำงานทั้งในภาคการผลิตและบริการ จึงเป็นภารกิจสำคัญและเร่งด่วนไม่น้อยไปกว่าการพัฒนาบัณฑิตใหม่

โดยเฉพาะการพัฒนาความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานยุคใหม่ อาทิ การสื่อสารระหว่างบุคคล การทำงานร่วมกับผู้อื่น การจัดสรรเวลาให้เหมาะสมกับงานที่ได้รับมอบหมาย เพื่อนำไปสู่การยกระดับการพัฒนาทักษะเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life long Learning) รศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย