นิวซีแลนด์เจาะตลาด มทร. เสริมแกร่งอาจารย์-นักศึกษาทุกระดับ

นิวซีแลนด์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาอันดับ 7 ของโลก จาก The Annual Universitas 21 league table อีกทั้งมหาวิทยาลัยทั้ง 8 แห่งของนิวซีแลนด์ล้วนติดท็อป 3 ของโลก โดย QS World University Ranking 2018

ที่ผ่านมาประเทศนิวซีแลนด์กับสถาบันการศึกษาไทยมีความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนเมื่อเร็ว ๆ นี้ คือการผนึกกำลังของหน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ (Education New Zealand : ENZ) กับ 9 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) จัดโครงการ “การพัฒนาการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อของคณาจารย์กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล” โดยจัดฝึกอบรมในประเทศไทย พร้อมไปศึกษาเทคนิคและกระบวนการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาชั้นนำที่นิวซีแลนด์

อย่างไรก็ดี แผนความร่วมมือยังมีต่อเนื่อง โดย “กรานท์ แมคเฟอร์สัน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ ให้ข้อมูลว่า ได้มีการพูดคุยกับทางกลุ่ม มทร. ในการต่อยอดโครงการดังกล่าว ซึ่งจะจัดรุ่นต่อไปในเดือน ก.พ. 2561 พร้อมขยายกลุ่มเป้าหมายโครงการเป็นอาจารย์ที่สอนด้านวิชาชีพ จากเดิมที่เป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาอังกฤษ

นอกจากนั้นในปีหน้าจะมีการฝึกอบรมศักยภาพขั้นสูงด้านความคิดสร้างสรรค์ และคิดเป็นเหตุเป็นผล (critical thinking) โดย Auckland University of Technology (AUT) เพื่อให้คณาจารย์ของ มทร.มีเทคนิคการสอนที่สร้างสรรค์มากขึ้น สามารถสร้างการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการคิดที่สำคัญในห้องเรียนได้

“การร่วมมือกันระหว่างเรากับ มทร.จะสามารถแก้ไขปัญหาการศึกษาได้ ซึ่งเราเห็นว่าไทยมุ่งเน้นพัฒนาภาษาอังกฤษ และศักยภาพของครู และนิวซีแลนด์ก็มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ ในทางกลับกัน เราจะดูว่าสถาบันการศึกษาของไทยมีความเชี่ยวชาญด้านไหนที่จะสามารถสนับสนุนการศึกษาของนิวซีแลนด์ได้ด้วย”

“กรานท์” บอกอีกว่า มหาวิทยาลัยของนิวซีแลนด์หลายแห่งได้ทำความร่วมมือกับ มทร.แห่งต่าง ๆ อาทิ มทร.อีสานได้ประชุมหารือกับ University of Otago Language Center เพื่อร่วมจัดตั้งวิทยาลัยนานาชาติ ขณะที่ มทร.ธัญบุรีได้หารือกับ AUT ในการสร้างวิทยาเขตระดับปริญญาตรี-โท และการทำหลักสูตร 2 ปริญญาในสาขาวิชาบริหารธุรกิจ

ไม่เพียงเท่านั้น มทร.กรุงเทพ และ Waikato Institute of Technology (WINTEC) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อเปิดศูนย์การฝึกอบรมภาษาอังกฤษไทย-นิวซีแลนด์ ขึ้นแห่งแรกในประเทศไทย โดยระยะแรกจะเป็นการฝึกอบรมคณาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยก่อน แล้วระยะที่ 2 ช่วงเดือน มี.ค. 2561 มทร.แห่งอื่น ๆ จะเข้าร่วมในการพัฒนาภาษาอังกฤษ เพื่อพัฒนาแนวคิดด้านการเรียนการสอน รวมถึงเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ๆ

รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์

สำหรับ 1 ใน 9 มทร.ที่เป็นพันธมิตรกับนิวซีแลนด์ “รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์” อธิการบดี มทร.พระนคร กล่าวว่า จากการส่งอาจารย์ไปอบรมโครงการการพัฒนาการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อฯ ซึ่งมีการสอนด้านภาษาอังกฤษและวิชาชีพ ปรากฏว่าอาจารย์ได้เทคนิคการสอนแบบ active learning เป็นการสอนที่ทำให้นักศึกษามีส่วนร่วม รู้จักคิด และวิเคราะห์ ขณะเดียวกันได้สัมผัสกับรูปแบบการสอนที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสอน ทั้งไอโฟนและไอแพด โดยเราจะนำมาปรับใช้กับ มทร.พระนคร ที่มีเป้าหมายในการเป็น digital university

“นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่มีจุดเด่นด้านการสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งจุดอ่อนของเด็กไทยหรือเด็ก มทร.คือด้านนี้ ซึ่งเมื่ออาจารย์ไปอบรมแล้ว เขาได้กลับมาทำ Knowledge Management (KM) ให้กับอาจารย์สอนภาษาอังกฤษทั้งหมด เพื่อขยายผลและกระจายความรู้ให้อาจารย์ท่านอื่นไปปรับใช้ในการสอนนักศึกษา”

“ด้วยความที่ มทร.เน้นผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ ดังนั้นนักศึกษาของเราเรียนจบออกไปแล้วไม่ตกงาน และสามารถทำงานได้เลย นักศึกษา มทร.จึงเป็นที่ยอมรับของตลาดแรงงาน กระนั้น สิ่งที่เด็กของเราขาดคือภาษาอังกฤษ ถ้าเราติดอาวุธด้านภาษาอังกฤษให้กับเขา นักศึกษาจะสามารถเติบโตในวิชาชีพได้มากขึ้น ทั้งในตลาดแรงงานของไทยและต่างประเทศ”

“รศ.สุภัทรา” ระบุด้วยว่า มทร.พระนครกำลังจัดทำหลักสูตรนานาชาติ ระดับปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ ร่วมกับ AUT ซึ่งจะมีการฝึกงานเป็นระยะเวลา 3-4 เดือน ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้จะมีโครงการแลกเปลี่ยนครูและบุคลากรเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกด้วย
ทั้งนั้น “กรานท์” กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศนิวซีแลนด์มีนักเรียนต่างชาติกว่า 1.3 แสนคน จาก 180 ประเทศทั่วโลก โดยมีคนไทยที่เรียนในนิวซีแลนด์กว่า 3,500 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของโรงเรียนและคอร์สเรียนภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ดี นิวซีแลนด์ยังโฟกัสต่อเนื่องกับกลุ่มผู้เรียนระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งการร่วมมือกับ มทร.เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สัดส่วนของตลาดมหาวิทยาลัยโตได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ในส่วนของอาชีวศึกษา เราต้องการให้เกิดความร่วมมือและมีนักเรียนไทยไปเรียนระดับนี้ที่นิวซีแลนด์มากขึ้น

“จำนวนผู้เรียนไทยโตขึ้น 8% จากปีที่แล้ว หากเทียบเม็ดเงินที่ได้จากตลาดการศึกษาของไทยของปี 2559 อยู่ที่ 120 ล้านเหรียญนิวซีแลนด์ ซึ่งตลาดการศึกษาต่อต่างประเทศของประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้น อีกทั้งตลาดอาเซียนมีสัดส่วนการเติบโตถึง 34%”

“อย่างไรก็ดี นอกจากการร่วมมือกับกลุ่ม มทร. นิวซีแลนด์ยังเดินหน้าส่งเสริมการศึกษาไทยผ่านความร่วมมือกับหลากหลายหน่วยงาน ซึ่งล่าสุดเราได้เข้าหารือกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ในการจัดทำความร่วมมือระหว่างโรงเรียนนิวซีแลนด์กับโรงเรียนเอกชนของไทย รวมถึงได้พูดคุยกับสถาบันพระบรมราชชนก สำหรับการจัดทำหลักสูตรด้านสาธารณสุขให้เข้มแข็งมากขึ้น”