ALL FOR EDUCATION สร้างโอกาส-ลดเหลื่อมล้ำ

ประสาร+ตรีนุช
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ในฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (ซ้าย) ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) (ขวา)

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้กลายเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญทำให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ที่ต้องการยกระดับการศึกษาให้กับประเทศรวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในกลุ่มยากจนให้เข้าถึงระบบการศึกษาในรูปแบบของ “ทุนและโอกาส”

โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยิ่งสะท้อนปัญหาความยากจน เพราะตัวเลขของนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาเนื่องจากผู้ปกครองเสียชีวิตและตกงานเพิ่มขึ้น ความเหลื่อมล้ำขยายวงตอกย้ำให้สังคมต้องเร่งฟื้นฟู สร้างโอกาสและหลักประกันทางการศึกษา คู่ขนานไปกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เกิดเป็นแคมเปญ “ALL FOR EDUCATION”

ฟื้นฟูการศึกษา คู่ขนานฟื้นฟู ศก.

“โจทย์นี้ท้าทายประเทศมาก ในขณะนี้ไม่ได้มีแค่การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เท่านั้น แต่ต้องฟื้นฟูพร้อมกับสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชนที่อาจหลุดออกนอกระบบด้วย” ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในงานเปิดแคมเปญ “ALL FOR EDUCATION” เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนยากจนที่สุดทั่วประเทศกว่า 15% ของจำนวนเยาวชนรวมทั่วประเทศ

โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิต รวมถึงการศึกษาโดยเฉพาะเด็กยากจนและด้อยโอกาส และกลุ่มเปราะบาง จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการขาดเรียนเป็นเวลานาน ปัญหาการขาดอาหารกลางวัน เศรษฐกิจของครอบครัว และความเสี่ยงอื่น ๆ ในสังคม

รัฐบาลจึงมีมาตรการป้องกัน ฟื้นฟู ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยการอนุมัติการเยียวยาให้ทั้งผู้ปกครองและเด็ก ทั้งสายสามัญ สายอาชีพในสถาบันการศึกษารัฐและเอกชนกว่า 10.8 ล้านคน รวมกว่า 21,600 ล้านบาท เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษา

กลไกอย่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จึงมาเป็นตัวเสริมเพื่อบรรเทาผลกระทบและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักเรียนว่าจะได้เรียนต่อแน่นอน จากก่อนหน้านี้รัฐบาลมีมาตรการดูแลเยียวยาที่สำคัญ คือ

1) โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข สังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำหรับเยาวชนที่ยากจนที่สุด 15% ของประเทศในการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปี 2564 ที่ผ่านมารวมกว่า 1.2 ล้านคน และมีมาตรการพิเศษเพื่อช่วยอุดหนุนนักเรียนกองทุนเสมอภาคในช่วงชั้นรอยต่อคือ อนุบาล 1 ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ให้ได้เรียนต่อระดับที่สูงขึ้น 294,454 คน

2) สร้างระบบฐานข้อมูลดูแล ส่งต่อให้ครอบคลุมนักเรียนทุกมิติ เชื่อมโยงการทำงานอย่างมีส่วนร่วม รวมถึงระบบเฝ้าดูแล ระวัง ส่งต่อนักเรียนยากจน และได้โอกาสเรียนต่อ ครอบคลุมกว่า 240 พื้นที่การศึกษาในปี 2565 นี้

“ตรีนุช” กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาถือเป็น “ปัญหาใหญ่” การแก้ไขจะอาศัยกลไกภาครัฐเพียงลำพังไม่ได้ ต้องร่วมมือกัน บวกรวมกับแนวคิดชุมชนเพื่อการศึกษาอย่าง “ALL FOR EDUCATION” ที่ต้องการให้แต่ละพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์จากจุดแข็งที่มีอยู่คือ รวมทุกทรัพยากรที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์

เป้าหมายเพื่อให้เข้าถึงการศึกษาอย่างเป็นธรรม เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือฟื้นฟูประเทศไทย ภาคประชาสังคม มูลนิธิต่าง ๆ องค์กรเอกชน ร่วมเป็น “เครือข่าย”

น.ร. 4.3 หมื่นคนหายจากระบบ

“ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ในฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า กองทุนเป็นเครื่องมือทรงประสิทธิภาพในการกระจายโอกาสทางการศึกษาของเด็กยากจนมากว่า 3 ปีแล้ว และมีเครือข่ายเข้าร่วมมากขึ้นต่อเนื่อง ได้สนับสนุนโอกาสทางการศึกษาราว ๆ 2 ล้านคนต่อปี ข้อมูลล่าสุดภาคเรียนที่ 1 ปี 2564 ประเทศมีเด็กยากจน และยากจนพิเศษ 1.9 ล้านคน

เครื่องชี้วัดของ กสศ. ระบุว่า มีเด็กในช่วงชั้นรอยต่อกว่า 43,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 4 ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ซึ่งยังไม่ได้รับข้อมูลว่าได้เข้าสู่ระบบการศึกษาหรือไม่ หรือเข้าเรียนต่อในภาคเรียนที่ผ่านมาหรือไม่ จึงได้จัดทีมงานเข้าสำรวจสถานศึกษาช่วงเปิดเทอมที่ผ่านมา ผลการสำรวจพบว่าเด็กกลุ่มนี้ตัดสินใจ “ไม่เรียนต่อ” เนื่องจากต้องช่วยผู้ปกครองทำงานหารายได้ช่วยเหลือครอบครัวช่วงวิกฤตโควิด

จากนั้น กสศ.ได้ประสานให้ สพฐ.ส่งต่อข้อมูลเด็กนักเรียนช่วงชั้นรอยต่อกลุ่มนี้เพื่อวิเคราะห์เชื่อมโยงรายชื่อผู้ได้รับการเยียวยาทั้งสายสามัญและสายอาชีพร่วมกับเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขตทั่วประเทศ

เก็บข้อมูลครอบคลุม 3 หมื่น ร.ร.

สำหรับตัวเลขนักเรียนที่หายจากระบบการศึกษา “ดร.ประสาร” ระบุว่า จะนำมาพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศมากกว่า 10 ล้านคน จากสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สพฐ. กระทรวงมหาดไทย กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน

และ กสศ. ทั้งข้อมูลสารสนเทศ สถานการณ์ ความสามารถทางการศึกษาในรายพื้นที่ ครอบคลุมสถานศึกษามากกว่า 30,000 แห่ง ใน 3 สังกัดทั่วประเทศ เพื่อชี้เป้าผลของกลุ่มเยาวชนที่ได้รับการช่วยเหลือด้วยทรัพยากรของทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับการทำงานจากเยียวยาสู่ระบบที่ยั่งยืน

ก่อนการจัดตั้งกองทุนนี้ขึ้นมาเมื่อ 3 ปีก่อน มีการจัดสรรงบประมาณแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพียง 0.5% เท่านั้น ทั้งที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ เพื่อช่วยเหลือเด็กกว่า 1,200 คน ใน 114 โรงเรียนในพื้นที่ยากลำบากที่สุดของประเทศ

เด็กกำพร้าที่ผู้ปกครองเสียชีวิตจากโควิดจำนวน 399 คนให้ได้รับการศึกษาต่อในระบบการศึกษา เด็กพิการ 103 คนในศูนย์การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย รวมทั้งการศึกษานอกระบบ (กศน.)

เอกชนขานรับร่วมเครือข่าย

แคมเปญ ALL FOR EDUCATION มีภาคเอกชนประกอบด้วย มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มูลนิธิพุทธรักษา มูลนิธิธนินท์ ทวี เจียรวนนท์ มูลนิธิยุวพัฒน์ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย มูลนิธิเอสซีจี บจ.เคพีเอ็มจี ประเทศไทย บมจ.เอสโซ่ (ประเทศไทย)

กลุ่มเซ็นทรัล กรุ๊ป บจ.มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) บมจ.เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป กลุ่มบริษัท TCP บจ.ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ร่วมเป็นฟันเฟืองยกระดับการศึกษา และช่วยเหลือเด็กยากจนให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา

“สุวิมล จิวาลักษณ์” กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิ SCG กล่าวว่า มูลนิธิให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนมากว่า 50 ปีแล้ว มีทุนการศึกษาตั้งแต่ ป.1 จนถึงระดับสูงสุดคือปริญญาตรี โดยไม่มีภาระผูกพันกว่า 1 แสนทุน รวมกว่า 1 พันล้านบาท ที่ผ่านมาพยายามเติมเสริมแต่งในเรื่องการเป็น “คนเก่ง” และ “คนดี” เชื่อมั่นว่าเมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตไปจะทำหน้าที่ของตัวเอง มีความพร้อมทั้งเรื่องกายและสภาพจิตใจ ให้รู้จัก “แบ่งปัน” และการเป็น “ผู้ให้”

ด้าน บมจ.เอสโซ่ (ประเทศไทย) โดย “ดร.ทวีศักดิ์ บรรลือสินธุ์” กรรมการ กล่าวว่า เอสโซ่ได้ปักหมุดความร่วมมือกับ กสศ.มอบทุนการศึกษา เริ่มที่โครงการเอสโซ่ปันน้ำใจ พาน้องกลับห้องเรียน ของ กสศ. โดยมุ่งเน้นให้เด็กสามารถกลับมาเรียนได้ และนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดด้วยตัวเอง เช่น ทำงานด้านเกษตรกรรมคือ ปลูกกาแฟ เน้นการติดตามผลกับเด็กนักเรียนที่ได้รับผลกระทบ

ขณะที่ “ดร.ชาติชาย นรเศรษฐาภรณ์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ระบุว่า คนถือเป็นทรัพยากรสำคัญที่สุด ปัจจุบันภาครัฐได้สร้างคนเก่ง คนดี คนมีน้ำใจ เรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความร่วมมือของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนในการสร้างทรัพยากรที่จะดูแลอนาคตของชาติรวมกว่า 500 ทุน

นอกจากนี้ มีโครงการร่วมกับ กสศ.ภายหลังจากได้รับข้อมูลว่า มีเด็กที่ได้รับผลกระทบผู้ปกครองเสียชีวิตจากโควิดโดยเฉพาะเด็กในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้ร่วมมือกับเครือข่าย และ กสศ.จัดทำโครงการ “Million Gifts Million Smile” ให้ทุนการศึกษากับเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิดไม่ต่ำกว่า 130 ทุน

ขณะที่ “แคทลียา ธีระโกเมน” รองผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่สายงานย่อยความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) บมจ.เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป กล่าวว่า เริ่มมีความหวังในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษามากขึ้นหลังได้ร่วมงานกับ กสศ. และจะนำประสบการณ์ที่ได้มาวิเคราะห์ต่อยอดจัดทำโครงการที่มีประโยชน์ในอนาคต