โรงเรียนเปิดออนไซต์แล้ว 1.3 หมื่นแห่ง จะทยอยเปิดเพิ่มวันที่ 15 พ.ย.นี้

โรงเรียน
ภาพจาก pixabay

โรงเรียนเปิดออนไซต์แล้ว 1.3 หมื่นแห่ง จะทยอยเปิดเพิ่มอีกจำนวนมาก วันที่ 15 พ.ย.นี้ ศธ. กำชับเข้มมาตรการป้องกันโควิด ย้ำหากต้องใช้ ATK คัดกรองอย่ารับบริจาค ให้ประสานอนามัยหรือหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้หารือร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศถึงนโยบายการเปิดเรียน on-site ว่า ขณะนี้มีโรงเรียนที่เปิดเรียนon-site แล้ว กว่า 13,000 โรงเรียน และจะทยอยเปิดในวันที่ 15 พฤศจิกายน และวันที่ 1 ธันวาคมอีกจำนวนมาก ขอให้โรงเรียนทุกแห่งเร่งยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมทั้งได้มอบทิศทางการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยให้นโยบายที่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต้องนำไปขับเคลื่อน ดังนี้

1.การจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์โควิด 19 ฝากให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง นักเรียน ให้มีความเข้าใจในเรื่องการปรับการเรียนการสอนในสถานการณ์โควิด 19 ทั้งเรื่องการปรับชั่วโมงเรียน การยกเลิกการใช้คะแนน O-NET รวมทั้งขอให้แต่ละเขตพื้นที่การศึกษาได้จัดทำแผนที่จะดำเนินการเปิดเรียน on-site ยึดพื้นที่จังหวัด อำเภอ ตำบล เป็นฐาน

โดยต้องพิจารณาดำเนินการให้ครบถ้วนทุกกระบวนการตามคู่มือที่ สพฐ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ซึ่งเป็นไปตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข สำหรับกรณีที่โรงเรียนเปิดเรียน on-site แล้ว ขอให้ดูความสมัครใจของผู้ปกครองและนักเรียนที่จะมาเรียน ซึ่งหากผู้ปกครองยังไม่เชื่อมั่น โรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานเพื่อให้นักเรียนได้เรียนครบทุกคน

สำหรับกรณีการใช้ชุดตรวจ ATK ขอให้ประสานกับอนามัยหรือหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้มีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้เข้ามาตรวจสอบคัดกรอง มีความห่วงใยและไม่อยากให้รับบริจาคชุดตรวจ ATK มาใช้ในการคัดกรอง และยังคงต้องดำเนินการตามมาตรการไทยเซฟไทย

ทั้งนี้ การเปิด on-site ควรเน้นไปที่โรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในชุมชนขนาดเล็ก สำหรับโรงเรียนขนาดใหญ่ให้พิจารณาจัดการเรียนการสอนได้หลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องเปิด on-site ทั้งโรงเรียน

2. การบริหารการจัดการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อน ขอให้ดำเนินการแบบมีส่วนร่วม ใช้นวัตกรรมที่มีอยู่ โดยให้ประธานคลัสเตอร์ร่วมดำเนินการ โดยใช้นวัตกรรมที่มีอยู่ และเป็นผู้ประสานการทำงาน ซึ่งต้องมิใช่การบังคับบัญชา ทั้งนี้ การทำงานในแต่ละพื้นที่ให้มีการประสานงานระดับจังหวัดด้วย ในรายละเอียดการดำเนินการอาจแตกต่างกันได้ แต่ขอให้มีหลักการเดียวกัน

สำหรับการขับเคลื่อน สพฐ. ได้ออกแบบองค์ประกอบของการดำเนินงานไว้แล้ว ขอให้ทุกเขตพื้นที่การศึกษาได้ศึกษา และใช้กลไกการทำงานที่มีการประกันคุณภาพและมีการควบคุมคุณภาพ

3. นโยบายเรื่องความปลอดภัย/โอกาสและการลดความเหลื่อมล้ำ/คุณภาพ และประสิทธิภาพ

-ความปลอดภัย มีเป้าหมายที่ต้องดำเนินการเฝ้าระวังจากโรคภัยต่าง ๆ โดยยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องโควิด 19 ภัยจากเทคโนโลยี ภัยจากภัยพิบัติ (อุทกภัย) และภัยจากยาเสพติด โดยขอให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีมาตรการที่เข้มงวด

-การสร้างโอกาสและการลดความเหลื่อมล้ำ ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้ไปติดตาม ค้นหา จากการจ่ายเงิน 2,000 บาท ในกลุ่มเด็ก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ไม่สามารถจ่ายเงิน 2,000 บาทได้ ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กตกหล่นหรือออกกลางคันหรือไม่ ให้ติดตามช่วยเหลือให้กลับเข้าสู่ระบบ โดยให้วางแนวทางค้นหาติดตามว่าเด็กอยู่ที่ไหน อยู่กับใคร และจะมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไร สำหรับกลุ่มที่มารับเงิน 2,000 บาท แต่มีความยากลำบาก ก็ให้วางแนวทางช่วยเหลือว่าต้องดำเนินการอย่างไร

-คุณภาพ มุ่งหวังให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประกาศเป็นนโยบายของเขตพื้นที่ ในเรื่องของการอ่านออกเขียนได้ รักการอ่าน คิดเลขเป็น โดยเฉพาะในระดับชั้น ป.1 ป.2 และป.3 ซึ่งหากเด็กอ่านออกเขียนได้ รักการอ่าน จะทำให้สามารถเรียนรู้วิชาอื่นได้ และค้นพบความชอบความถนัดของตัวเอง