“เกาหลีใต้-ฟินแลนด์”แนะไทยปฏิรูปการศึกษาต้องเชื่อมโยงอุตสาหกรรม ห่วงไอทีสมองไหล

“เกาหลีใต้-ฟินแลนด์”แนะไทยปฏิรูปการศึกษาต้องเชื่อมโยงอุตสาหกรรม! ชี้อาชีพไอทีสมองไหลทำไร้เทคโนโลยี-การค้าอืด

วันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานข่าวสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าเเละพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD จัดเวทีประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ประจำปี 2560 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ โดยการประชุมในช่วงที่ 7 ว่าด้วยเรื่อง “การศึกษาแห่งอนาคตเพื่อการค้าและการลงทุนแห่งอนาคต (Future education for future trade and investment)” โดยมุ่งเน้นหาการเชื่อมโยงในการศึกษาสาขาวิชาต่างๆ กับการลงทุนและการประกอบการ

@วิชาชีพไอทีสมองไหลสะเทือนการค้าอืดไร้เทคโนโลยี

Jeong Hyop Lee จากสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่ง KMUTT มองสถานการณ์ปัญหาการศึกษาไทย ขณะนี้ว่า ยังขาดความเชื่อมต่อระหว่างสถาบันที่ผลิตบุคลากร องค์ความรู้ และการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดปัญหาสมองไหลไปยังต่างประเทศ หรือผู้มีความรู้ย้ายไปทำงานในต่างประเทศแทน ซึ่งนำไปสู่การขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะสร้างฐานเศรษฐกิจการค้าที่ถือเป็นเรื่องสำคัญ

“ผมเจอคนไทยหลายคนที่จบการศึกษาจากเอ็มไอทีในด้านปัญญาประดิษฐ์และคอมพิวเตอร์ แต่ประเทศไทยกลับไม่มีงานเนื่องจากไม่มีงานนั้นๆ รองรับแม้ว่าเขาจะฉลาดแค่ไหนก็ตาม นี่เป็นวิกฤตเรื่องการไร้งานอันเป็นผลมาจากโครงสร้างที่ไม่สอดคล้องกัน ตั้งแต่มหาวิทยาลัยกับความรู้ที่สอน และภาคอุตสาหกรรมกับสถาบันการศึกษา ผมจึงมองว่าการเชื่อมโยงระหว่างการค้าและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มีความสัมพันธ์กัน ถ้าไม่มีเทคโนโลยีอะไรเลย จะสร้างอำนาจการซื้อได้อย่างไร”

@เล่นแร่แปรธาตุดิจิทัล พลิกอาชีพดับสิ้นสู่โอกาสตลาดใหม่

ในภาพรวมของยุคดิจิทัลที่ก้าวเข้ามามีบทบาทในหลายๆ ส่วน โดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและการศึกษา ซึ่ง Emmanuel A. San Andreas ตัวแทนจาก สำนักงานสนับสนุนนโยบาย APEC มองว่า ระบบการศึกษายังสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาตอบโจทย์ความต้องการตลาดได้ และย้ำว่ายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในเรื่องที่หุ่นยนต์จะส่งผลให้เกิดการสูญเสียการจ้างงาน เนื่องจากหลายอาชีพยังจำเป็นต้องใช้มนุษย์ เช่น นักแปล การทำบัญชี อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของดิจิทัลสร้างทั้งผลดีและผลเสียที่ต่างกันไป

“สถิติบอกว่า 65% ของเด็กประถมที่ถูกฝึกให้ทำงานอาจไม่มีงานทำเมื่อโตขึ้นเพราะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ ซึ่งสหรัฐฯ มีการใช้เอทีเอ็มมาตั้งแต่ปี 1980 เพื่อเบิกเงิน ทำให้พนักงานธนาคารสูญเสียงาน แต่เชื่อว่าเขาไปทำงานอื่นได้ เช่น การลงทุน ขณะเดียวกันเทคโนดลยีดิจิทัลก็เป็นผลดีสำหรับฟรีแลนซ์ หรือสตาร์ตอัพ เพราะช่วยในการหาตลาดใหม่ๆ เช่น อูเบอร์”

@ผนึกกำลังรัฐ-เอกชนดันเด็กเรียนรู้เชิงปฏิบัติทำงานจริง

ด้าน Dr. D.B. Kwon จากมหาวิทยาลัยเกาหลี เห็นด้วยว่า การสร้างข้อตกลงระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมจะช่วยยกระดับการศึกษาซึ่งจะเป็นผลดีด้านเศรษฐกิจในลำดับต่อไปได้ โดยเกาหลีมีการริเริ่มโครงการนำร่องที่เรียกว่า Meister high school เพื่อผลิตครูผู้ชำนาญการมาส่งเสริมความรู้เบื้องต้นให้แก่นักเรียนเฉพาะด้าน ก่อนนำความรู้ที่มีไปต่อยอดการศึกษาในระดับสูง

ทั้งนี้ ยังยกตัวอย่างการแก้ปัญหาด้านการศึกษาของเกาหลี ซึ่งถือเป็นการพลิกฟื้นเศรษฐกิจขึ้นมาอีกครั้ง โดยระบุว่า เกาหลีเมื่อปี 1960-1975 เป็นยุคของการเริ่มต้นอุตสาหกรรมใหม่ๆ แรงงานทักษะไม่สูงเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรม แต่เมื่อช่วงปี 1997-2000 ที่เกิดวิกฤตการเงินไอเอ็มเอฟทำให้คนตกงาน การปฏิวัติการศึกษาของเกาหลีจึงเริ่มขึ้นโดยมุ่งเน้นการเรียนรู้ทักษะที่หลากหลายโดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล

“เวลานี้เป็นการพัฒนาวิชาชีพต่างๆ ด้วยการดึงกลุ่มคนมีพื้นฐานเบื้องต้นมาผสมกับกลุ่มคนมีความรู้ระดับสูงเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หนึ่งในโครงการที่เราทำคือการร่วมมือกับบริษัทระดับชาติหรือระดับโลกในการฝึกอบรมคน เช่น ซัมซุง แอลจี ฮุนได ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนเข้าสู่ระบบการทำงานแล้วจึงศึกษาต่อในสาขาความรู้ระดับสูง”

@ฟินแลนด์แนะไทยจัดการทรัพยากรมนุษย์ ครูคุณภาพ-นักเรียนการบ้านน้อย

สำหรับประเทศแนวหน้าด้านคุณภาพการศึกษาของโลก ที่ได้รับการจัดอันดับต้นๆ เสมอมาอย่างฟินแลนด์ Katarina Tapio จากสถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย ระบุว่า ฟินแลนด์มีการบริหารจัดการศึกษาในลักษณะการร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนเช่นเดียวกับเกาหลีใต้ เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญในการให้เด็กเรียนรู้ผ่านการจำลองการทำงานจริง ทั้งนี้ เสนอว่า นอกเหนือจากจะกระจายโอกาสทางการเข้าถึงการศึกษาไปสู่ภูมิภาคท้องถิ่นแล้ว คุณภาพของบุคลากรผู้สอนก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยจำเป็นต้องคัดคุณภาพครูที่มีศักยภาพสูง และมีการประเมินผลสม่ำเสมอ ขณะที่นักเรียนก็ควรมีการบริหารจัดการเวลาในชั้นเรียนและเวลาว่างสำหรับทำกิจกรรมที่สนใจ

“ฟินแลนด์เน้นความเท่าเทียมทางการเข้าถึงโอกาสการศึกษา เราให้ความสำคัญทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำร่องไปสู่เทคโนโลยีและขีดความสามารถการแข่งขันที่สูง ครูต้องเข้าใจความต้องการของนักเรียนและมีความสามารถเพียงพอ โดยอย่างน้อยต้องจบการศึกษาปริญญาตรีหรือปริญญาโท ต้องมีการประเมินผลครูเป็นประจำ รวมทั้งให้ครูได้ศึกษาหาความรู้ผ่านการวิจัยเพื่อพัฒนาตน ส่วนนักเรียนฟินแลนด์จะมีการบ้านน้อยและใช้เวลาในชั้นเรียนไม่มาก เพื่อให้เด็กมีเวลาว่างในการเล่น”

@ไทยเผยอยู่ระหว่างปฏิรูปการศึกษา

อย่างไรก็ตาม ม.ล.ปริยดา ดิศกุล ในฐานะผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ ยืนยันว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเร่งดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาด้านการศึกษาให้ก้าวหน้าขึ้น เช่น การยกระดับคุณภาพครูให้มีทักษะภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้น การสอนทางไกลผ่านดาวเทียม การจับมือกับภาคธุรกิจเพื่อฝึกอบรมนักศึกษาอาชีวะสู่วงจรการทำงานจริง