เปิดศูนย์ CVM 25 แห่งทั่วประเทศ ปั้นเด็กอาชีวะสมรรถนะสูง รายได้ดี

รมว.ศธ.เคลื่อนนโยบายรัฐบาล เปิดศูนย์ CVM 25 แห่งทั่วประเทศ ปั้นเด็กอาชีวะสมรรถนะสูง มีรายได้ดี สอดคล้องความต้องการประเทศ

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ที่วิทยาลัยเทคนิค (วท.) ชลบุรี จ.ชลบุรี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM) ทั้ง 25 แห่งอย่างเป็นทางการ

โดยนางสาวตรีนุช เทียนทอง กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานในพิธีเปิดว่า เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาอาชีวศึกษา ที่ผ่านมาได้เข้าร่วมกิจกรรมกับ สอศ.อย่างต่อเนื่อง และได้กำหนดให้อาชีวศึกษาเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญต่าง ๆ ของประเทศ

“ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดิฉันได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาระดับอาชีวศึกษาเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการศึกษาที่ทำให้เยาวชนและประชาชนของประเทศมีความรู้และทักษะอาชีพ ในการที่จะนำไปสู่การมีงานทำ มีรายได้ ทั้งในรูปแบบของการจ้างแรงงาน หรือการเป็นผู้ประกอบการ ทุกวันนี้นักศึกษาอาชีวะหลายรายมีศักยภาพสูงและสามารถมีรายได้เริ่มต้นที่ 5-6 หมื่นบาทได้ แล้วทำไมเราไม่ออกแบบการเรียนอาชีวศึกษาให้สามารถผลิตเด็กอาชีวะทุกคนได้

จึงเป็นที่มาของการเริ่มต้นศูนย์ CVM 25 แห่ง ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนนโยบายของ ศธ.ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และนับเป็นภารกิจสำคัญของ สอศ.ในการนำเอายุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศไทยมาเป็นแนวทางในการดำเนินการเพื่อผลิตและกำลังคนตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) และรองรับการเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม 4.0″

รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า ศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาทั้ง 25 แห่ง จะเป็นต้นแบบในการจัดการอาชีวศึกษาในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ให้สามารถผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีสมรรถนะสูงและมีคุณภาพ สอดคล้องกับบริบทเชิงพื้นที่ สร้างแรงงานที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และมีจำนวนที่เพียงพอกับความต้องการของประเทศ อย่างไรก็ตามฝากถึงผู้บริหารสถานศึกษา และผู้ประกอบการทุกท่านว่า ทุกคนมีความสำคัญอย่างมากในการที่ทำให้การจัดการอาชีวศึกษามีคุณภาพและบังเกิดผลสำเร็จ ขอให้มีความมุ่งมั่นบริหารจัดการสถานศึกษาให้มีประสิทธิภาพ และประสานความร่วมมือกับชุมชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาเป็นพลังในการขับเคลื่อนการอาชีวศึกษาร่วมกันต่อไป

ขณะที่ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาล ได้กำหนดเป้าหมายของประเทศที่มุ่งเน้นการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า และขับเคลื่อนกลุ่มคลัสเตอร์และอุตสาหกรรมรายสาขาให้เกิดความเข้มแข็ง รวมทั้งสร้างกรอบการพัฒนาบุคลากรของประเทศ ให้มีความพร้อมตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมโดยแท้จริง

รวมถึงการเตรียมความพร้อมกำลังคนให้ตรงกับความต้องการแรงงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และ รมว.ศธ.มีนโยบายให้ สอศ.มุ่งผลิตและพัฒนากำลังคน โดยการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) กรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) รวมถึงมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สอศ.จึงได้ขับเคลื่อนนโยบายของ ศธ.โดยประกาศจัดตั้งศูนย์ CVM จำนวน 25 แห่งในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยแต่ละศูนย์จะมีจุดเน้นและความเป็นเลิศที่แตกต่างกันตามกลุ่มอุตสาหกรรม

“หนึ่งในภารกิจของศูนย์ CVM คือ การกำหนดยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาในศูนย์ฯร่วมกับหุ้นส่วนความร่วมมือ ภาคีเครือข่าย หน่วยงานทุกภาคส่วน ซึ่งวัตถุประสงค์ของการจัดงานวันนี้ เพื่อเป็นการนำเสนอกรอบแนวคิดการขับเคลื่อนศูนย์การเชื่อมโยงด้าน Demand และด้าน Supply เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ พร้อมรับฟังนโยบายจาก รมว.ศธ.เพื่อไปสู่การยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาสู่ความเป็นเลิศ ภายใต้การขับเคลื่อนศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center)” เลขาธิการ กอศ.กล่าว

ทั้งนี้ ศูนย์ CVM จำนวน 25 แห่ง มีดังนี้

1.สาขาวิชาเทคนิคเครื่องกล วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา
2.สาขาวิชาเทคนิคเครื่องกล (สาขางานเทคนิคซ่อมตัวถังและสีรถยนต์) วิทยาลัยการอาชีพไชยา
3.สาขาวิชาเทคนิคการผลิต วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม
4.สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคนครนายก
5.สาขาวิชาการท่องเที่ยว วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย 6.สาขาวิชาการโรงแรม วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต
7.สาขาวิชาการจัดประชุมและนิทรรศการ วิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่น
8.สาขาวิชาพืชศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี
9.สาขาวิชาสัตวศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา
10.สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ วิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา
11.สาขาวิชาเมคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ
12.สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี
13.สาขาวิชาเทคนิคเครื่องกลเรือ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือนครศรีธรรมราช
14.สาขาวิชาช่างอากาศยาน วิทยาลัยเทคนิคถลาง

15.สาขาวิชาเทคนิคควบคุมและซ่อมบำรุงระบบขนส่งทางราง วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี
16.สาขาวิชาปิโตรเคมี วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด
17.สาขาอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ กฟผ.แม่เมาะ
18.สาขาเทคนิคพลังงานทดแทน วิทยาลัยเทคนิคชัยภูมิ

19.สาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี
20.สาขาวิชาช่างก่อสร้าง วิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว
21.สาขาเครื่องประดับอัญมณี กาญจนาภิเษกวิทยาลัยช่างทองหลวง
22.สาขาวิชาธุรกิจค้าปลีก วิทยาลัยพณิชยการบางนา

23.สาขาวิชาเทคนิคเครื่องทำความเย็นและปรับอากาศ วิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม
24.สาขาเทคนิคโลหะ วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่
25.สาขาวิชาเทคโนโลยีความงาม วิทยาลัยสารพัดช่างสมุทรปราการ