
จากนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาแรงงานฝีมือที่มีทักษะเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ทางหน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ (Education New Zealand : ENZ) จึงเห็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการศึกษาสายวิชาชีพกับ 9 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ซึ่งมีวิทยาเขตอยู่กว่า 40 แห่งทั่วประเทศ คล้ายคลึงกับสถาบันเทคโนโลยีของนิวซีแลนด์
ดังนั้นจึงร่วมกันจัดโครงการ “การพัฒนาการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อของคณาจารย์กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล” เพื่อพัฒนาเทคนิคการเรียนการสอนด้านภาษาอังกฤษให้กับครูภาษา และครูสายวิชาชีพ โดยจัดฝึกอบรมในประเทศไทย 6 สัปดาห์ และเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ต่อยอดศึกษาเทคนิคและกระบวนการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาชั้นนำที่นิวซีแลนด์
“ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์” อธิการบดี มทร.กรุงเทพ กล่าวว่า การไปศึกษาดูงานที่นิวซีแลนด์ในครั้งนี้ได้เรียนรู้เทคนิคหลายอย่าง เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า นิวซีแลนด์ เป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาคุณภาพสูงอันดับต้น ๆ ของโลก และใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง มีความโดดเด่นทางด้านหลักสูตรการเรียนการสอน
“เราเห็นกระบวนการและสภาพแวดล้อมการเรียนรู้จริงที่เป็นประโยชน์จากการเยี่ยมชมทักษะ และนวัตกรรมในห้องเรียน ที่สถาบันการศึกษาชั้นนำของนิวซีแลนด์ อย่าง Auckland University of Technology, Massey University, Wellington Institute of Technology, Otago Polytechnic, Unitec Institute of Technology”
“ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง” อธิการบดี มทร.อีสาน ให้ความเห็นว่า นิวซีแลนด์เป็นประเทศเล็ก ๆ ที่มีการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง และเป็นจุดหมายด้านการศึกษา โดยการดูงานที่นิวซีแลนด์เป็นประโยชน์ต่อองค์กร เพราะ มทร.อีสาน ต้องการเปิดหลักสูตรวิชาชีพภาคภาษาอังกฤษ เพื่อรองรับนักศึกษาจากกลุ่มอาเซียนพลัส คือ ลาว, เมียนมา, เวียดนาม รวมถึงตะวันออกกลาง และกลุ่มแอฟริกา
“การศึกษาของนิวซีแลนด์ยึดการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นศูนย์กลางจริง ๆ และเน้นให้นักเรียนได้ปฏิบัติเยอะ ซึ่งผมมองว่าคณาจารย์สามารถกลับมาพัฒนาต่อยอด และเป็นกลุ่มตั้งต้นที่จะเป็นกำลังสำคัญในการวางระบบการศึกษาในกลุ่มราชมงคลของเราต่อไป โดยราชมงคลเป็นฐานวิชาชีพที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ มีนักเรียนอยู่มากกว่า 3 แสนคน ใน 9 ราชมงคล”
“มารุต เขียวแก่” อาจารย์คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.กรุงเทพ หนึ่งในคณาจารย์ผู้เข้าร่วมโครงการอบรม กล่าวว่า ผมเป็นอาจารย์สอนเกี่ยวกับโลหะอุตสาหกรรม และวัสดุทางวิศวกรรม การเดินทางไปศึกษางานที่นิวซีแลนด์ครั้งนี้ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ และซึมซับเทคนิคต่าง ๆ ทั้งแผน กลยุทธ์ และแนวการสอน
“ผมนำองค์ความรู้ที่ได้มาวิเคราะห์แล้วนำมาใช้กับนักศึกษา พร้อมบอกต่อให้กับครูท่านอื่น ๆ เพื่อพัฒนาการศึกษาให้ก้าวไปข้างหน้า ปรับแผนให้ระบบการศึกษาของเราเท่าทันเทคโนโลยี และแม้ว่าผมจะเป็นครูที่สอนทางช่าง แต่ภาษาอังกฤษก็สำคัญ เพราะเป็นภาษาสากลที่ทำให้เข้าถึงประเทศต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น”
โครงการครั้งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันสำคัญที่ช่วยยกระดับศักยภาพครูสายอาชีพ อันส่งผลดีต่อพัฒนาการของการศึกษาไทยให้รุดหน้ายิ่งกว่าเดิม