ตรีนุช ปักธงงบฯ ปี 66 เน้นสร้างคุณภาพการศึกษา 7 เรื่องสำคัญ

“ตรีนุช” มอบนโยบายทำคำของบประมาณ 2566 ของ ศธ. เน้น 7 เรื่องสำคัญ ปักหมุดปั้นโรงเรียนคุณภาพ-ห้องเรียนคุณภาพ-ปรับอัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัว-การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน

วันที่ 7 มกราคม 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ของหน่วยงานในสังกัดและหน่วยงานในกำกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

โดยมีผู้แทนจากสำนักงบประมาณเข้าร่วมฟังนโยบายว่า นโยบายและจุดเน้นปีงบฯ 2566 ของ ศธ. สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เรื่องการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพมนุษย์ เชื่อมโยงกับแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ในหมุดหมายที่ 12 คือ ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต

นางสาวตรีนุชกล่าวต่อไปว่า จากการกำหนดนโยบายเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง กระทรวงศึกษาธิการ ยังคงยึดมั่นเดินตามแนวทางและนโยบายที่กำหนด โดยจุดเน้นในปีงบฯ 2566 นี้ มี 7 เรื่องสำคัญ คือ

1. การจัดการศึกษาเพื่อความปลอดภัย

2. การยกระดับคุณภาพการศึกษา

3. การสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษาทุกช่วงวัย

4. การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

5. การส่งเสริมสนับสนุนวิชาชีพครู บุคลากรทางการศึกษาและบุคลากรสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ

6. การพัฒนาระบบราชการและบริการภาครัฐยุคดิจิทัล

7. การขับเคลื่อนกฎหมายการศึกษาและแผนการศึกษาแห่งชาติ

นอกจากนี้ยังมีเรื่องงบประมาณการจ้างครูผู้สอน ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ตลอดจนงบฯลงทุน ค่าก่อสร้างบ้านพักครู ของ สพฐ. และปรับอัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นอัตราที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2552 ให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ และสามารถตอบโจทย์คุณภาพการศึกษาได้

“ที่ผ่านมางบประมาณของ ศธ. ที่ได้รับกว่า 80% เป็นงบฯดำเนินการรายจ่ายประจำ เช่น เงินเดือนครู จะเหลืองบฯพัฒนาการศึกษา พัฒนาเด็กและพัฒนาครูน้อยมาก ดังนั้นปีงบฯ 2566 จะปักหมุด เรื่องการทำโรงเรียนคุณภาพ ห้องเรียนคุณภาพ เพื่อดึงดูดเด็กให้เข้ามาเรียนในโรงเรียนเหล่านี้ด้วยความเต็มใจ และจะสามารถลดจำนวนโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ที่มีมากถึง 30,000 กว่าแห่งลงได้

ซึ่งจะส่งผลให้มีงบฯเหลือเพื่อการพัฒนา ขณะเดียวกันในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 (COVID-19) ปัญหาที่เราเจอคือรูปแบบการเรียนการสอนที่เปลี่ยนไป ทำให้ ศธ.ต้องเร่งพัฒนาและส่งเสริมการจัดการเรียนรู้วิถีใหม่ โดยจะมีการทำแพลตฟอร์มการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัล ให้เด็กสามารถเลือกใช้ได้ และพัฒนาครูที่ตอบโจทย์การเรียนรู้รูปแบบใหม่ด้วย”