แผนฉีดวัคซีนเด็ก 5-11 ปี ศธ.เร่งสำรวจความยินยอมผู้ปกครอง

นักเรียนรอฉีดวัคซีน
FILE PHOTO: REUTERS/Athit Perawongmetha

กระทรวงศึกษาธิการ – กระทรวงสาธารณสุข จัดเสวนาออนไลน์ “โอมิครอน ร้ายจริงหรือ? ถึงต้องปิดโรงเรียน” ตรีนุช ชี้ปิดโรงเรียนไม่ใช่มาตรการหลัก เบื้องต้นเปิดออนไซต์แล้ว 18,672 แห่ง พร้อมเตรียมแผนฉีดวัคซีนเด็ก 5-11 ปี กว่า 5.2 ล้านคน เร่งสำรวจความยินยอมผู้ปกครองภายในเดือนมกราคมนี้

วันที่ 10 มกราคม 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในงานเสวนาออนไลน์ “โอมิครอน ร้ายจริงหรือ? ถึงต้องปิดโรงเรียน” ที่จัดขึ้นโดยกระทรวงศึกษาธิการ ว่า จากสถานการณ์โควิด -19 ที่เกิดขึ้น 2 ปี นับเป็นความท้าทายของคนทั้งโลก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผันผวนโดยเฉพาะภาคการศึกษาที่ต้องปิดเรียนไปแบบ 100% เนื่องจากเป็นโรคใหม่

แต่ ณ ตอนนี้ทำอย่างไรถึงจะปลอดภัยจากโรค และการศึกษาเดินหน้าต่อไปได้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเข้าถึงการศึกษาของเด็กและเยาวชน จึงเร่งรัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครูเป็นลำดับต้นๆ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 และฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็กอายุ 12-18 ปี

ซึ่งข้อมูลการฉีดวัคซีนของ ศธ. ณ วันที่ 8 มกราคม 2565 มีครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ประสงค์รับวัคซีน 982,427 คน ได้รับวัคซีนเข็ม 1 แล้ว 99.99% เข็ม 2 แล้ว 78.11% ส่วนนักเรียนผู้ประสงค์รับวัคซีน 4,320,130 คน ได้รับวัคซีนเข็ม 1 แล้ว 94.76% เข็ม 2 แล้ว 69.52% และขณะนี้รัฐบาลก็ได้รณรงค์ให้มีการฉีดเข็ม 3 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันมากขึ้น

“ที่ผ่านมาการปิดประเทศ lock down นำมาสู่การปิดโรงเรียน ทำให้เด็กสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ ศธ.จึงต้องจัดรูปแบบการศึกษาที่หลากหลาย แต่ที่สุดแล้วก็พบว่า รูปแบบการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก คือ การมาโรงเรียน ดังนั้น การปิดโรงเรียนจึงไม่ใช่มาตรการหลักของเรา ขณะนี้มีสถานศึกษาในสังกัด ศธ.เปิดออนไซต์แล้ว 18,672 แห่ง จากทั้งหมด 35,172 แห่ง คิดเป็น 53.09% และจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาหลายแห่ง”

“สิ่งที่พบคือสถานศึกษามีการปรับตัวและกวดขันในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดกันอย่างแข็งขัน แต่แน่นอนว่ายังมีอีกหลายแห่งที่ยังขาดความพร้อม ซึ่งก็ได้ติดตาม และสั่งการให้ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้ดูแลสถานศึกษาเหล่านี้อย่างใกล้ชิด และเมื่อมีการแพร่ระบาดของโอมิครอน จึงเป็นอีกวาระสำคัญที่ ศธ. และ สธ.ได้ร่วมมือกันสร้างการรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องถึงแนวโน้มความรุนแรงของโอมิครอน และกำชับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโอมิครอนในสถานศึกษาอย่างเข้มข้น รวมถึงความพร้อมที่จะเปิดออนไซต์ของทุกโรงเรียนเมื่อมีความปลอดภัย ให้พิจารณาเป็นรายพื้นที่ ตามสถานการณ์”

แผนฉีดวัคซีนเด็ก 5-11 ปี

นางสาวตรีนุช กล่าวต่อว่า ส่วนการจัดสรรวัคซีนสำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี ขณะนี้ ศธ. กำลังสำรวจตัวเลข ตลอดจนสำรวจความยินยอมผู้ปกครองที่อยากให้นักเรียนได้รับวัคซีน ซึ่งกำลังทำข้อมูลอยู่เพื่อให้เด็กๆ สามารถเข้าถึงวัคซีน ได้โดยเร็วที่สุด ให้ทุกคนกลับเข้ามาสู่การเรียนรู้อย่างเต็มที่

ด้าน ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเสริมว่า เด็ก 5-11 ปี ในระบบของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงอื่น ๆ มีนักเรียนที่อยู่ในระบบตอนนี้ราว 5.2 ล้านคน เราได้รับรายงานข้อมูลมา 33 จังหวัดมีผู้ปกครองอยากให้เด็กฉีดวัคซีนประมาณ 71% ถ้าสำรวจครบทุกจังหวัดได้ค่าเฉลี่ยแบบนี้คาดน่าจะมีราว 3 ล้านกว่าคนอยากให้ฉีด และคาดว่าจะมีตัวเลขเพิ่มขึ้น ซึ่งภายในอีก 1-2 สัปดาห์ จะมีการสร้างความเข้าใจผู้ปกครอง และเปิดลงทะเบียนประสงค์รับวัคซีนช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคม เพื่อสรุปข้อมูลตัวเลขไปทางสธ. และกรรมการโรคติดต่อจังหวัดของแต่ละจังหวัด ส่วนรูปแบบในการฉีดจะใช้แนวทางเดิมที่ฉีดให้กับเด็กอายุ 12-18 ปี

ส่วน นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี สธ. หารือร่วมกับศธ.เพื่อเตรียมความพร้อมในการฉีดไฟเซอร์ซึ่งจะมีโดสสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ขณะนี้วางแผนการฉีดแล้ว เพราะคาดว่าวัคซีนจะมาปลายเดือนมกราคมหรือต้นเดือนกุมภาพันธ์

เปิดออนไซต์ให้เร็วที่สุด

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถ้าศธ.อยากเปิดเรียนทั้งหมด ผมแนะว่าให้เปิดไปเลย โดยเฉพาะกลุ่มที่คิดว่ามีความเสี่ยงต่ำคืออายุมากกว่า 12 ปี เพราะได้รับวัคซีนแล้ว ให้พิจารณาเปิดโรงเรียนม.1-ม.6

ได้เลย ส่วนกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 12 ปี อาจต้องรอก่อน ดูว่าเขามีเกาะป้องกันที่ดีหรือยัง เนื่องจากยังไม่ได้รับวัคซีน ก็ต้องดูว่าพ่อแม่ ผู้ปกครอง เขาฉีดวัคซีนหรือยัง ส่วนกลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ปี ค่อนข้างลำบาก เพราะขณะนี้การศึกษาวิจัยยังไปไม่ถึง ยกเว้นวัคซีนซิโนแวค ซิโนฟาร์ม ซึ่งในประเทศจีน มีการใช้ตั้งแต่อายุ 3 – 17 ปี เขาใช้ประมาณ 170 กว่าล้านโดสแล้ว ซึ่งอาจจะนำมาพิจารณา เพราะประเทศไทยเรารับข้อมูลมาหมด แต่ผมคิดว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีควรรออีกสักพัก”

“จากข้อมูลในต่างประเทศ จะเห็นว่าเมื่อเด็กติดเชื้อโควิด-19 แล้ว เด็กที่ไม่ฉีดวัคซีนจะนอนโรงพยาบาลมากกว่าเด็กที่ฉีดวัคซีนไม่ต่ำกว่า 8-10 เท่า ผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนจะป่วยโควิดระยะยาว คือ ป่วยเรื้อรัง ป่วยนานเป็นเดือน มากกว่าผู้ได้รับวัคซีน ดังนั้นการฉีดวัคซีนมีประโยชน์แน่นอน แต่ถามว่ามีประโยชน์ 100% หรือไม่ในโลกนี้ไม่มีอะไร 100% แต่ขอให้เทียบความเสี่ยงและความรุนแรงที่จะเกิดโรคระหว่างฉีดกับไม่ฉีดวัคซีนดีกว่า”

ขณะที่ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สำหรับโรงเรียนที่เปิดสอนตั้งแต่ ม.1 ขึ้นไป แล้วยังไม่ได้เปิดออนไซต์ หากนักเรียนส่วนมากได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วสามารถพิจารณาเปิดเรียนได้เลย หากคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดอนุญาต

ส่วนกลุ่มโรงเรียนที่เปิดสอนอนุบาล – ป.6 หากยังไม่ได้รับวัคซีนอาจให้พิจารณาอีกทีตามรายพื้นที่ อยากให้ ผอ.เขต ศึกษาธิการจังหวัด ได้ประชุมหารือกัน แล้วคุยกับสธ.จังหวัด พิจารณาเป็นรายอำเภอ ตำบล เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนมีโอกาสเรียนมากขึ้น ผมคิดว่าอยากให้เปิดพร้อมกันให้เร็วมากที่สุด เพราะเราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด และการเรียนรู้ที่ดีที่สุดอยู่ที่สถานศึกษา และนักเรียนทุกคนต้องมีความปลอดภัย