กูรูการศึกษาฟินแลนด์ “ครูต้องดึงศักยภาพนักเรียนออกมา”

การปฏิรูปการศึกษาของไทย นับเป็นวาทกรรมที่ถูกกล่าวถึงอยู่เสมอ แต่สิ่งที่ผู้เรียน ผู้สอน ได้รับคือการเรียนที่หนักหน่วง

การแข่งขันที่สูงลิบลิ่ว และความเหลื่อมล้ำที่ยังคงกระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ ไม่นับรวมการเข้ามาของโรงเรียนเอกชน และการเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้าน หรือโฮมสกูล จนทำให้รูปแบบการเรียนของเด็ก ๆ เต็มไปด้วยช่องว่างและทางเลือกมากขึ้น

ดังนั้น การที่จะทำให้การศึกษาของประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า เพื่อให้ได้ผลสัมฤทธิ์ดี ทั้งคุณภาพ และความพึงพอใจของผู้เรียน อาจจะต้องเริ่มต้นจากการปรับจากสิ่งเล็ก ๆ ในห้องเรียนเสียก่อน ทั้งนี้ ในงานสัมมนา”What the world can learn from educational change in Finland”ที่จัดโดยโรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (สาธิตพีไอเอ็ม) โรงเรียนมัธยมต้นแบบภายใต้การสนับสนุนของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จึงได้เชิญกูรูทางด้านการศึกษาระดับโลก “ปาสิ ซอห์ลเบิร์ก” เจ้าของผลงาน “Finnish Lesson 2.0″มาบรรยายพิเศษถึงกรณีศึกษาการปฏิรูปการศึกษาของประเทศฟินแลนด์

“ปาสิ ซอห์ลเบิร์ก” เปิดเรื่องด้วยการคลี่คลายหัวข้อที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับระบบการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ก่อนว่า ข้อแรกคือเรื่องที่มีสื่อนำเสนอข่าวว่าโรงเรียนในประเทศฟินแลนด์เลิกสอนนักเรียนตามวิชาต่าง ๆ แต่หันมาสอนเป็นหัวข้อแทน

“ในเรื่องนี้ผมอยากบอกว่าการเลิกเรียนเป็นวิชานั้นจะทำลายระบบการศึกษาอย่างยิ่ง สิ่งที่เราทำคือในแต่ละสัปดาห์จะมีคาบเรียนที่ไม่อยู่ในวิชาใด แต่เป็นคาบเรียนที่เกี่ยวกับความสนใจของนักเรียนเอง ตั้งแต่การคิดว่าอยากเรียนเรื่องอะไร ด้วยวิธีใด และจะประเมินอย่างไร ข้อที่สองคือ โรงเรียนในประเทศฟินแลนด์ไม่มีการบ้าน จริง ๆ แล้วเป็นไปไม่ได้เลย เพราะทุก ๆ วิชา ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์, คณิตศาสตร์, ภาษา หรือสังคมศาสตร์ ล้วนต้องการการทบทวน และต้องฝึกฝนอยู่เสมอ”

“ส่วนข้อที่สามคือ โรงเรียนที่ประเทศฟินแลนด์ใช้ครูดีที่สุด ฉลาดที่สุดเท่านั้นมาสอน สำหรับข้อนี้ผมอยากบอกว่าฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับอาชีพครูมากก็จริง แต่ปัจจัยเรื่องบุคลากรอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะพัฒนาระบบการศึกษาทั้งระบบ ส่วนสำคัญคือนักเรียน ดังนั้น ครูทุกคนที่จะเข้ามาสู่ระบบการศึกษาจะต้องสามารถปรับการสอนให้เข้ากับนักเรียนแต่ละคนได้ เพื่อดึงความสนใจ ดึงศักยภาพของนักเรียนออกมา เพื่อให้นักเรียนเกิดความสนใจต่อวิชานั้น ๆ แม้วิชาต่าง ๆ จะเป็นวิชาที่นักเรียนไม่ถนัดก็ตาม แต่นี่คือสิ่งที่โรงเรียนคาดหวังต่อครู”

แม้ฟินแลนด์จะเป็นประเทศต้นแบบด้านการศึกษาที่ประสบความสำเร็จ แต่การนำรูปแบบการปฏิรูปการศึกษาของฟินแลนด์มาใช้ก็ไม่ได้การันตีว่าจะต้องประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน ผลตรงนี้ จึงทำให้ “ปาสิ ซอห์ลเบิร์ก” หยิบยกประเด็นเรื่องโรงเรียน หรือผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษามาอธิบาย เพื่อให้ทุกอย่างเกิดขึ้นจริง โดยมีรายละเอียดดังนี้

หนึ่ง Strengthen equity – ความเท่าเทียมกันทางการศึกษา ผมมองว่าจะต้องทำให้เกิดขึ้นให้จงได้ การศึกษาจะต้องแบ่งปันทรัพยากรให้กันอย่างเท่าเทียม และเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณของโรงเรียนที่ควรจัดสรรตามความต้องการ รวมทั้งฐานะและพื้นฐานของนักเรียนที่จะต้องไม่มีผลขณะเข้ารับการศึกษา

สอง Invest in Collaboration – การลงทุนในบุคลากร เพื่อสนับสนุนนักเรียนเป็นรายบุคคล เนื่องจากนักเรียนทุกคนมีความสนใจที่หลากหลาย หากสามารถพัฒนาได้ตรงตามความต้องการจะทำให้เด็กเรียนรู้ได้เร็ว และมีความสุขขณะเรียนหนังสือ

จากรายงานการสำรวจระดับความสุข และผลสัมฤทธิ์จากการเรียนของ PISA ในปี 2015 พบว่ามีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่นักเรียนมีความสุข และมีผลสัมฤทธิ์ที่ดี หนึ่งในนั้นคือฟินแลนด์, สวิตเซอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ ขณะที่ประเทศไทย ผลสำรวจพบว่ามีความสุขในการเรียน แต่ผลสัมฤทธิ์อยู่ในเกณฑ์ต่ำ หรือบางประเทศที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงแต่นักเรียนกลับไม่มีความสุขจากการเรียนเลย เช่น ญี่ปุ่น, จีน, เกาหลีใต้ และฮ่องกง

ดังนั้น เราจึงต้องเพิ่มบุคลากรให้มากกว่าครูแนะแนว ไม่ว่าจะเป็นนักสังคมสงเคราะห์, นักการศึกษา เพื่อวางแผนให้โรงเรียนน่าอยู่ และน่าไว้วางใจ ทั้งสำหรับนักเรียน และครูต่อไปในระยะยาว

สาม Make well-being a priority – การให้ความสำคัญกับสุขภาวะทั้งด้านอารมณ์ และร่างกาย ที่จะต้องบรรจุอยู่ในหลักสูตร อย่างฟินแลนด์จะมีช่วงพัก 15 นาทีในทุกคาบ เพราะเห็นความจำเป็นจากการเล่น เพื่อให้เด็ก ๆ ฝึกทักษะ รู้จักควบคุมตนเองขณะอยู่ร่วมกับผู้อื่น เรียนไม่มาก แต่ได้ทักษะมาก ตรงนี้มีส่วนช่วยลดปัญหาการกลั่นแกล้งกันของนักเรียนด้วย

“นอกจากนั้น เรายังมีศูนย์สุขภาพ, ทันตคลินิก เพื่อดูแลนักเรียน เพราะเด็ก ๆ ในปัจจุบันมีปัญหาด้านโภชนาการ รับประทานอาหารไม่มีประโยชน์ จึงทำให้ป่วยบ่อย จนต้องขาดเรียนในที่สุด”

สิ่งเหล่านี้แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่กระนั้น ทำให้เห็นว่าการศึกษาของฟินแลนด์ไม่ได้มุ่งเน้นแต่เฉพาะเรื่องการศึกษาเพียงอย่างเดียว หากยังเน้นการแสวงหาความสุข สนุกกับการเรียน โดยมีครูเป็นสะพานเชื่อมโยงเพื่อนำนักเรียนก้าวข้ามไปหาความรู้อย่างมีชั้นเชิง

จนที่สุดก็ทำให้โลกการศึกษาของฟินแลนด์ประสบความสำเร็จดั่งที่ทุกคนเห็น

ไม่ธรรมดาเลย