UTCC ใช้วิชา IDE 101 สร้างผู้ประกอบการมีนวัตกรรม

ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ต่างสนใจเป็นเจ้าของกิจการมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่หลายกิจการที่สร้างขึ้นกลับไม่ประสบความสำเร็จ สาเหตุหลักเป็นเพราะยังขาดการใช้นวัตกรรมมาสร้างสรรค์ความแตกต่างให้กับธุรกิจ

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (UTCC) พัฒนาวิชาการประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม หรือ IDE 101 ขึ้นมา โดยร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) หรือ MIT สหรัฐอเมริกา เป็นแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อช่วยนักศึกษาทุกคนในการปรับแนวคิด (mindset) ทางการประกอบการสู่การเป็นผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม โดยเปิดสอนปีการศึกษา 2560 เป็นครั้งแรก

“รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยในปัจจุบันต้องปรับตัว เพราะสภาพแวดล้อมทางธุรกิจมีโมเดลหลากหลายมากขึ้น และเด็กรุ่นใหม่จำนวนมากไม่ต้องการเป็นลูกจ้าง ทำให้ ม.หอการค้าไทยที่แต่เดิมมุ่งเป้าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านธุรกิจ และที่ผ่านมาเราทำได้สำเร็จ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปเทคโนโลยีก้าวหน้าเร็วตลอดเวลา เราจึงหันมามุ่งเน้นสร้างผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรม เพื่อช่วยประเทศไทยให้พ้นกับดักรายได้ปานกลาง ทั้งยังเป็นการปรับตัวให้สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ด้วย

“เราจึงสร้าง Innovation-Driven Entrepreneurship (IDE) Center หรือศูนย์การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมเมื่อปีที่แล้ว เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีส่วนผสมของทั้ง innovation capacity ความสามารถด้านนวัตกรรม และ entrepreneurial capacity ความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการ และล่าสุดได้เปิดสอนวิชาการประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม หรือ IDE 101 ให้กับนักศึกษาทุกคน และทุกคณะใน ม.หอการค้าไทย”

รศ.ดร.เสาวณีย์ – ดร.เอ็ดเวิร์ด รูเบซ

“โดยบรรจุเป็นรายวิชา general education เพราะเราเล็งเห็นว่า องค์ความรู้ในวิชานี้ จะช่วยพัฒาศักยภาพของนักศึกษาให้มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิด และกล้าทำ ซึ่งเป็นศักยภาพพื้นฐานที่จะทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จในการเรียน และการทำงานไม่ว่าจะอยู่คณะใดก็ตาม สำหรับภาคการศึกษาที่ 1 ที่ผ่านมามีนักศึกษาเรียนวิชานี้จบแล้วกว่า 25 กลุ่ม หรือประมาณ1,500 คน โดยเราตั้งเป้าจะให้ความรู้แก่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยปีละ 5,000 คน”

“วิชาดังกล่าวเป็นการบูรณาการแนวคิดกระบวนการ 24 ขั้นตอนของการสร้างธุรกิจ (steps disciplined entrepreneurship) จากโรงเรียนการบริหารสโลน (The MIT Sloan School of Management) ของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ โดยมุ่งเน้นการเรียนการสอนแบบ projected based learning ที่ทำจริงตามหลักการ และกระบวนการ ทั้งยังเป็นวิชาที่ไม่มีการสอบข้อเขียน แต่ใช้วิธีให้นักศึกษาจัดทีมขึ้นมาขายไอเดีย (pitching)”

“รศ.ดร.เสาวณีย์” กล่าวต่อว่า ปัจจัยสำคัญของการเรียนวิชานี้คือ การหาปัญหา ตั้งคำถาม และหาวิธีแก้ เราจึงใช้เขตห้วยขวาง กทม. ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ ม.หอการค้าไทยตั้งอยู่ เป็นโจทย์ให้กับนักศึกษาในการคิดหาไอเดียทางธุรกิจประกอบกับต้องเข้าใจถึงผู้ที่ได้รับปัญหาที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งอาจจะเป็นลูกค้าของธุรกิจในอนาคต จากนั้นต้องสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ หรือบริการเพื่อทดสอบจริง และหลังจากใช้เวลาเรียนทั้งหมด 3 เดือน นักศึกษาต้องนำเสนอเพื่อแข่งขันกันบนเวที HuayKwang Innovation โดยประกาศผลไปแล้วเมื่อ 28 พ.ย.ผ่านมา”

“หลังจากที่วิชา IDE 101 ประสบความสำเร็จ ตอนนี้เรากำลังเตรียมออกแบบวิชา IDE 102 และ IDE 103 นอกจากนั้น ยังวางแผนที่จะใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเป็น working space ของ startup รุ่นใหม่อีกด้วย”

“ดร.ศักดิพล เจือศรีกุล” ผู้อำนวยการ ศูนย์สร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวเสริมว่า องค์ประกอบของวิชานี้มี 4 เสาหลักคือ head การเรียนรู้, heart การสร้างไมนด์เซตผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรม, hands การลงมือทำ และ home พื้นที่ห้วยขวาง ซึ่งเป็นโจทย์ของการเรียนรู้

“เพราะฉะนั้น พอเราคิด เราจะวางแผนงานจากศูนย์ เพื่อเพิ่มเข้าไปในแต่ละรายวิชา ก่อนที่นักศึกษาจะเริ่มเรียนแนวทางการสร้างธุรกิจอีก 24 ขั้นตอนของ MIT โดย step zero ประกอบด้วยการสำรวจค้นหา (exploration) และการทดลอง (experiment) และการลงมือทำ (execute) จากนั้น 24 ขั้นตอนของการสร้างธุรกิจจะครอบคลุม 6 ด้านของการทำธุรกิจ ประกอบไปด้วย หนึ่ง ลูกค้าของธุรกิจคือใคร สอง สินค้าและบริการสามารถทำอะไรให้ลูกค้าได้บ้าง สาม ลูกค้าครอบครองสินค้าและบริการของธุรกิจได้อย่างไร สี่ ธุรกิจจะสามารถทำเงินจากสินค้า และบริการได้อย่างไร ห้า ธุรกิจจะออกแบบและสร้างสินค้าและบริการได้อย่างไร หก แผนการขยายธุรกิจเป็นอย่างไร”

“โดยทีมผู้สอนจะไม่ใช่เฉพาะแต่อาจารย์ภายในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังเป็นกลุ่มผู้ประกอบการสมัยใหม่จากหลากหลายธุรกิจ ไปจนถึงนักวิจัยที่สามารถถ่ายทอดประสบการณ์จริง โดยก่อนเริ่มเปิดสอนวิชานี้ ทีมผู้สอนจะต้องผ่านการอบรมจาก MIT มาก่อน”

“ดร.เอ็ดเวิร์ด รูเบซ” ผู้อำนวยการหลักสูตร ศูนย์การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงความท้าทายว่า การที่เราจะผลักดันให้ประเทศไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้ จะต้องมีความร่วมมือกับสถาบันต่าง ๆ องค์กรต่าง ๆและภาคส่วนต่าง ๆ ที่แต่ละฝ่ายไม่ชอบการกระจายองค์ความรู้ ตรงนี้จึงเป็นอุปสรรคที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนเป็นไปได้ช้า

“ผ่านมา ม.หอการค้าไทยมีการกระจายองค์ความรู้เกี่ยวกับการสอนนักศึกษาสามารถคิด และออกแบบธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ด้วยกระบวนการ design thinking ให้แก่อาจารย์ผู้สอนระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และอีกหลายหน่วยงาน เพราะเราเชื่อว่าการวางรากฐานระบบนิเวศ (ecosystem) ที่ดี ต้องเกิดจากวงจรของรัฐบาล เอกชน นักลงทุน และชุมชน”

“ในช่วงต้นปี 2561 เรามีแผนงานที่จะทำร่วมกับ MIT ในการจัดงานประชุมเกี่ยวกับสถานพยาบาล และธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพ เพราะประเทศไทยมีเป้าหมายพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ เราจึงอยากจัดงานที่จะทำให้เกิดการบูรณาการองค์ความรู้ระหว่าง MIT และประเทศไทยด้วย”

จึงนับว่าการสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมจะต้องเริ่มต้นจากการปลูกฝังเยาวชนรุ่นใหม่ และแนวโน้มในการสร้างธุรกิจ และสตาร์ตอัพในอนาคตจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วน ไม่เพียงแต่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แต่จะต้องร่วมกันผลักดันจากทุกมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อไป