“หมออุดม” เล็งดันงบฯวิจัยเพิ่ม 1% ของจีดีพี แนะมหา’ลัยปรับตัวตอบโจทย์ประเทศ

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายให้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ว่า ทปอ.เป็นหน่วยที่ใหญ่ที่สุดที่จะช่วยขับเคลื่อนอุดมศึกษาของประเทศ ดังนั้นสิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องทำคือ ต้องช่วยตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ โดยยึดตามเป้าหมายและยุทธศาสตร์ชาติเป็นหลัก และช่วยยกระดับประเทศให้เป็นไทยแลนด์ 4.0 อย่างแท้จริง ซึ่งสิ่งที่ตนเสนอให้มหาวิทยาลัยดำเนินการ อย่างแรกคือ มหาวิทยาลัยจะต้องดูแล ยกระดับศักยภาพของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่เฉพาะนักศึกษา ซึ่งมีเพียง 2 ล้านคน เป้าหมายใหม่คือคนวัยทำงานซึ่งมีประมาณ 35-40 ล้านคน ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งไม่จบปริญญาตรี ดังนั้นต้องมีช่องทางพิเศษให้คนเหล่านี้สามารถพัฒนาศักยภาพได้ โดยไม่ต้องมาเรียนที่มหาวิทยาลัย ใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยจัดการศึกษา เป้าหมายที่สอง คือ ให้มหาวิทยาลัยจัดทำหลักสูตรผู้สูงอายุ เพราะอีกประมาณ 13 ปี จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น 25% ของจำนวนประชากรทั้งหมด คิดเป็น 1 ใน 4 ของคนทั้งประเทศ ดังนั้นมหาวิทยาลัยต้องเตรียมการรองรับ เปิดหลักสูตรให้ผู้สูงอายุได้เรียนและจบออกไปทำงานอย่างมีคุณภาพ ซึ่งมหาวิทยาลัยจะต้องปลดล็อคระเบียบการจำกัดอายุผู้เรียน ส่วนใหญ่กำหนดผู้เรียนในระดับปริญญาตรีให้ไม่เกิน 35 ปี

รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้มหาวิทยาลัยจะต้องปรับตัว โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอน แต่ละคณะ ต้องจัดการเรียนการสอนที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งปัญหาที่ผ่านถ้ามหาวิทยาลัยไม่จัดการเรียนการสอนที่ตอบสนองความต้องการของตลาด เด็กเรียนจบออกมาก็จะตกงาน เด็กก็ไม่มาเรียน อย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา มีข่าวว่าปีนี้มหาวิทยาลัยปิดตัวแล้ว 500 กว่าแห่ง จากมหาวิทยาลัยทั้งหมด 4,000 กว่าแห่ง และคาดการณ์ว่า 4 ปีข้างหน้าจะปิดเพิ่ม เป็น 2,000 แห่ง ดังนั้นในส่วนของไทย มหาวิทยาลัยต้องปรับหลักสูตรให้หลากหลายและตอบสนองความต้องการของเด็ก สามารถเรียนหลายศาสตร์ร่วมกัน เช่น วิศวกรรมศาสตร์ สามรรถเลือกเรียนบริหารหรือนิติศาสตร์ได้ เพื่อให้มีความรู้รอบด้านรวมถึงต้องบูรณาการในการเรื่องการจัดการเรียนการสอน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และบุคลากร

“ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยจะต้องจับมือกับภาคเอกชนในการผลิตงานวิจัยที่ตอบโจทย์ของประเทศมากขึ้น โดยอนาคตจะใช้กลไกทางงบฯ ประมาณ มาเป็นเครื่องมือ โดยหากมหาวิทยาลัยใดทำงานวิจัยที่ตอบสนองความต้องการของประเทศ ก็จะได้รับการสนับสนุน รวมถึงในปีงบประมาณ 2562 ผมจะผลักดันของบฯ วิจัยเพิ่มเป็น 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือจีดีพี จากปัจจุบันได้ไม่ถึง 1% ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องลงทุน หากเราต้องการพัฒนาศักยภาพประเทศ ให้แข่งขันในระดับนานาชาติได้“ นพ.อุดมกล่าว

 


ที่มา : มติชนออนไลน์