กาแฟขี้ชะมด “บลูโกลด์” ผลิตผลสร้างเถ้าแก่จาก “BUSEM”

ดร.ศศิรินทร์ สายะสนธิ - เกียรติศักดิ์ คำวงษา

เป็นเพราะ “สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์” ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เคยเรียนที่ “Babson College” สถาบันเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี ทางด้านการเป็นเจ้าของกิจการ (enterpreneurship) จากประเทศสหรัฐอเมริกา

ทั้งยังเห็นว่าในระบบการเรียนการศึกษานอกจากสาขา และหลักสูตรต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับความคิดสร้างสรรค์ทั้งระบบ ยังจะต้องมีหลักสูตรที่เกี่ยวกับการเป็นเจ้าของกิจการด้วย

ผ่านมาสาขานี้อาจแฝงตัวอยู่ในคณะบริหารธุรกิจ แต่เมื่อโลกแห่งการแข่งขันทางธุรกิจเติบโต จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยกระดับจากสาขาขึ้นเป็นคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจ และการบริหารกิจการ (Bangkok University School of Enterpreneurship-BUSEM) โดยมีสถาบัน “Babson College” ยังคงให้ความร่วมมือตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน

“ดร.ศศิรินทร์ สายะสนธิ” หัวหน้าภาควิชาความเป็นผู้ประกอบการ (หลักสูตรภาษาไทย) คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจ และการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ บอกว่า ต้องยอมรับว่านักศึกษาในปัจจุบันมีความสนใจธุรกิจสตาร์ตอัพค่อนข้างเยอะ และทุกคนอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง

“อาจเป็นเพราะเทรนด์ของโลกที่กำลังมาแรงด้วย จึงทำให้นักศึกษาหันมาสนใจคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจ และการบริหารกิจการ ซึ่งจริง ๆ แล้วในส่วนนี้เคยเป็นสาขามาก่อน แต่อยู่ในคณะบริหารธุรกิจ และเมื่อก่อนเราเป็นพันธมิตรกับ Babson College สถาบันที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของกิจการ จนเดี๋ยวนี้เราก็ยังมีความร่วมมือกันอยู่”

“ด้วยการผนึกองค์ความรู้จากซีกโลกตะวันตก และโลกตะวันออกเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นหลักสูตรของมหา”ลัยที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งเรียกว่า BUSEM Way ด้วยการให้นักศึกษาฝึกสร้างไอเดีย ทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และการทำแผนธุรกิจ ก่อนที่จะลงมือทำจริง เพื่อให้พวกเขานำมาต่อยอดจนเกิดธุรกิจใหม่ ๆ หรือนำมาสานต่อจากธุรกิจเดิมของแต่ละครอบครัว”

“ดังนั้น นักศึกษาของเราในระดับปริญญาตรีส่วนใหญ่จึงมีธุรกิจครอบครัวของตัวเองอยู่แล้ว และคณาจารย์ที่สอนในคณะนี้ส่วนหนึ่งมีธุรกิจของตัวเองอยู่ด้วย เราจึงนำมุมมองการทำธุรกิจจากประสบการณ์ตรงมาสอนพวกเขา เพื่อให้พวกเขาเข้าใจการทำธุรกิจจริง ๆ ซึ่งอาจมีอุปสรรค ปัญหาอะไรมากมายกว่าธุรกิจจะประสบความสำเร็จ”

“ดร.ศศิรินทร์” กล่าวต่อว่า เมื่อนักศึกษาเรียนถึงปี 3 เราจะให้พวกเขารวมกลุ่มเพื่อทำธุรกิจกันจริง ๆ โดยให้พวกเขาไปคิดมาว่าจะผลิตสินค้าอะไรออกจำหน่าย ภายใต้การกำกับดูแล และให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดจากคณาจารย์ ที่สำคัญ หากนักศึกษากลุ่มใดขาดแคลนทุนทรัพย์ มหา”ลัยจะให้ทุนตั้งต้นในการทำธุรกิจกลุ่มละ 1 แสนบาท เพื่อให้พวกเขาลองผิด ลองถูกกับการทำธุรกิจครั้งแรก แต่ทั้งนั้นเมื่อมีกำไรจะต้องนำเงินมาคืนด้วย เพราะเราจะได้นำเงินจำนวนนี้ไปให้นักศึกษากลุ่มอื่น ๆ ต่อไป

“ผ่านมาธุรกิจที่กลุ่มนักศึกษาทำค่อนข้างประสบความสำเร็จ และเป็นไปในทิศทางค่อนข้างดี แต่มีอยู่คนหนึ่งค่อนข้างโดดเด่นอย่างมาก คือ เฟลม-เกียรติศักดิ์ คำวงษา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ปัจจุบันเป็นเจ้าของไร่กาแฟขี้ชะมดบลูโกลด์ (Blue Gold) อันโด่งดัง ใน อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม ทั้งยังมาเปิดร้านกาแฟบลูโกลด์แถวซอยประดิษฐ์มนูธรรม 15 แขวงลาดพร้าว ในกรุงเทพฯด้วย”

“สำคัญไปกว่านั้น เขายังต่อยอดธุรกิจจากผลผลิตกาแฟขี้ชะมดไปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกจำนวนมาก จนทำให้เขาไม่เพียงเป็นนักศึกษาที่ประสบความสำเร็จในคณะนี้ เขายังเป็นต้นแบบ และแรงบันดาลใจให้กับน้อง ๆ รุ่นต่อไป จนอยากที่จะเป็นผู้ประกอบการเหมือนกับเฟลมด้วย เพราะสนนราคาค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตร 4 ปี อยู่ประมาณ 454,000 บาท ซึ่งถือว่าคุ้มมาก ๆ”

ถึงตรงนี้ “เฟลม” เกียรติศักดิ์ คำวงษา กล่าวเพิ่มเติมว่า ผมมีความคิดอยากเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะครอบครัวประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง แต่ที่เป็นแรงผลักดันจริง ๆ จนทำให้ผมสนใจเรียนคณะนี้ เพราะก่อนหน้าคุณพ่อเสีย และครอบครัวเป็นหนี้อยู่ 50 ล้านบาท

“ผมเป็นลูกคนโต จึงเข้ามาช่วยคุณแม่ปลดหนี้ ด้วยการรับจ้างคุมงานก่อสร้าง โดยมีนายทุนเป็นคนลงทุน ผมช่วยแม่อยู่ระยะหนึ่ง ที่สุดก็สามารถปลดหนี้ได้ ต่อจากนั้นก่อนที่ผมจะมาเรียนคณะนี้ ผมเคยเลี้ยงชะมดมาก่อน และเคยเอาไปลองปล่อยที่ไร่กาแฟของเพื่อนคุณแม่ที่จังหวัดเลย เพราะผมทราบจากข้อมูลอินเทอร์เน็ตที่ผมชอบสืบค้นว่า กาแฟขี้ชะมดราคาแพงมาก แถมยังมีไม่กี่ประเทศที่ปลูกกาแฟชนิดนี้”

“ตอนหลัง ผมจึงนำมาทดลองที่ไร่ของคุณตาที่ อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม ด้วยการปลูกกาแฟขี้ชะมด ปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก เพราะผมเลี้ยงระบบเปิด ปล่อยให้ชะมดหากินตามธรรมชาติ จนเราเริ่มจะเข้าใจ และมองเห็นแล้วว่า กาแฟขี้ชะมดสามารถทำเป็นธุรกิจได้ กอปรกับตอนที่เรียนคณะนี้ ทำให้เราเห็นมุมมองทางธุรกิจกว้างขึ้น และที่สุดพอขึ้นปี 3 ผมจึงเสนอโปรเจ็กต์การทำไร่กาแฟขี้ชะมด”

“ที่ไม่เพียงตอนนี้จะมีอาณาบริเวณมากกว่า 400 ไร่ โดยเริ่มต้นจากเพียงไม่กี่ไร่ก่อนที่เป็นที่ดินเดิมของคุณตา ต่อจากนั้น ผมก็ซื้อที่ดินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเราคิดในเชิงธุรกิจว่า พระเอกของไร่ คือ กาแฟขี้ชะมด เราจึงต้องมีพื้นที่ปลูกกาแฟให้มากที่สุด ต่อจากนั้น เราก็คิดในเชิงต่อยอดธุรกิจว่า จะต้องมีร้านกาแฟ, สวนสัตว์, สนามเด็กเล่น, สวนดอกไม้ และลานกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วทำได้หลายกิจกรรม”

โดยเฉพาะการต่อยอดผลผลิตจากกาแฟขี้ชะมด “เฟลม” บอกว่า เมื่อเราบริหารกิจการในจุดจุดหนึ่ง เราจะรู้ว่ากาแฟขี้ชะมดรายได้ดีมาก กิโลกรัมหนึ่งตกประมาณ 50,000-100,000 บาท ปีหนึ่ง ๆ ชะมดหนึ่งตัวจะให้ผลผลิตประมาณ 1.5 กิโลกรัม/ปี

“ตอนนี้เรามีพื้นที่ปลูกกาแฟในระดับหนึ่ง พร้อมกับมีชะมดที่เกิดจากธรรมชาติ ปีหนึ่ง ๆ ตกประมาณ 50 ตัว ดังนั้นทางเดียวที่จะทำให้มีรายได้เพิ่ม เราจึงต้องขยายพื้นที่ปลูกกาแฟให้มากขึ้น กับอีกทางหนึ่ง เราจะต้องแปรรูปผลิตภัณฑ์ไปในรูปแบบต่าง ๆ เหมือนอย่างตอนนี้ที่ผมส่งกาแฟขี้ชะมดในระดับเดอลุกซ์, พรีเมี่ยม ให้กับหลายบริษัทในลักษณะของกล่องของขวัญ ขณะเดียวกัน เราก็พัฒนาผลิตภัณฑ์ไปเป็นกาแฟขี้ชะมดดริปบรรจุกล่อง, กาแฟขี้ชะมดขวด สบู่ขี้ชะมด, และอื่น ๆ อีกมากมายที่จะตามมา”

ซึ่งล้วนทำให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์กาแฟขี้ชะมดทุกชนิด

“เฟลม” บอกว่า สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ได้จากการเรียนที่ BUSEM ทั้งสิ้น และผมก็เชื่อว่าการเรียนในหลักสูตรนี้ไม่เพียงทำให้เรามีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจกับคณาจารย์ หากยังได้สายสัมพันธ์ทางธุรกิจกับเพื่อน ๆ ในคลาสด้วย เพราะแต่ละคนล้วนเป็นไม้ต่อทางธุรกิจทั้งสิ้น ดังนั้นพอเราติดขัดปัญหาอะไร นอกจากคณาจารย์จะเข้ามาเป็นที่ปรึกษา หากเพื่อน ๆ เหล่านี้ก็สามารถช่วยเหลือเราได้เช่นกัน


“จนผมประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในวันนี้”