วิสดอม วี กรุ๊ป ผุด Metaverse of Education รวมวิทยากรกว่า 1 หมื่นคน

Metaverse

วิสดอม วี กรุ๊ป ผุดแพลตฟอร์ม Metaverse of Education แหล่งรวมการศึกษายุคใหม่ รวมวิทยากรกว่า 10,000 คน ตั้งเป้ามีผู้เรียนในทุกสาขาอาชีพเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์ม 10 ล้านคน ภายใน 2 ปี

วันที่ 30 มีนาคม 2565 บริษัท วิสดอม วี กรุ๊ป จำกัด ผุดแพลตฟอร์ม Metaverse of Education โดยจะมีทั้งทักษะวิชาการ (Hard Skill and Academic), ทักษะการทำงาน (Working Skill), ทักษะชีวิตต่าง ๆ (Soft Skill) เข้ามารวมอยู่ในแพลตฟอร์มนี้เพื่อเป็นแหล่งรวมการศึกษายุคใหม่ของประเทศไทย เบื้องต้นมีวิทยากรเข้าร่วมกว่า 10,000 คน เตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการเร็ว ๆ นี้

นางสาวไหมฟ้ารดา ธัชรัชตะอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิสดอม วี กรุ๊ป จำกัด (WISDOM V GROUP CO., LTD.) เปิดเผยว่า การจัดหลักสูตรเรียนออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม “Metaverse of Education” มีการเตรียมตัวมาประมาณ 2-3 ปีแล้ว ทั้งการลงมือศึกษา และทำวิจัยร่วมด้วย เพื่อหาจุดเด่น จุดด้อย ให้ได้หลักสูตรเรียนออนไลน์ที่ดีที่สุด เนื่องจากการเรียนในห้องเรียนปกติกับการเรียนทางออนไลน์มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งวิทยากร ผู้เรียน สถานที่ และช่วงระยะเวลาของการเข้าห้องเรียน

ไหมฟ้ารดา ธัชรัชตะอนันต์

การพัฒนาหลักสูตรเรียนออนไลน์จึงต้องแตกต่าง โดยการนำหลักจิตวิทยาการเรียนรู้เข้ามาผนวกในหลักสูตรด้วย คือมีการให้ความสำคัญกับแรงบันดาลใจ (Inspiration) ศาสตร์และศิลปะเข้าไป เพื่อดึงความสนใจของผู้เรียนให้อยู่กับเนื้อหาที่วิทยากรกำลังสอนทางออนไลน์

รวมทั้งแต่ละหลักสูตรยังต้องอิงกับการเรียนรู้ของต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกา, ยุโรป, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, เกาหลีและอื่น ๆ มาประยุกต์ใช้

ทั้งนี้ จากการทำวิจัยก่อนที่จะมีการพัฒนาหลักสูตรสู่ Metaverse พบว่าถ้านำคอนเทนต์การเรียนรู้แบบเดิม ๆ ที่ใช้ในห้องเรียนปกติ มาเรียนในห้องเรียนออนไลน์พบว่าผู้เรียนจะไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ เพราะเป็นการเรียนรู้คนละบรรยากาศ สถานที่/เวลาแตกต่างกัน ซึ่งการเรียนออนไลน์นั้น ผู้เรียนจะมีระยะเวลาโฟกัสกับเนื้อหาเพียงแค่ 10-15 นาทีแรกเท่านั้น

การจัดหลักสูตรการเรียนออนไลน์บนแพลตฟอร์ม “Mataverse” จึงไม่เหมือนกับคลิปวิดีโอทั่ว ๆ ไป ที่สอนกันทางช่องยูทูบหรือทางสื่อ Social Facebook แต่จะเน้นประสบการณ์การเรียนรู้แบบจำลองเชิงเรียนจริง โดยหลักสูตรที่สอนออนไลน์บนแพลตฟอร์มจะมีการแบ่งช่วงเวลาของการเรียนไว้ 5 ช่วง หลัก ๆ ด้วยกัน คือ ในช่วงเริ่มต้นของการเรียนจะให้เวลาประมาณ 15 นาที และเนื้อหาจะมุ่งเน้นการให้ Inspiration กับผู้เรียน

ส่วนช่วงที่ 2 วิทยากรจะค่อย ๆ ลงเนื้อหา รายละเอียด ส่วนในช่วงที่ 3 วิทยากรจะทบทวนเนื้อหา ส่วนช่วงที่ 4 จะเป็นการสรุปเนื้อหาทั้งหมด และช่วงที่ 5 วิทยากรจะทำความเข้าใจให้กับผู้เรียนในประเด็นสำคัญ ๆ
ดังนั้นแต่ละช่วงเวลาที่เรียนออนไลน์จะใช้เวลาเพียงแค่ 10-15 นาทีเท่านั้น และจะมี Pop Up ให้ผู้เรียนมี Inter Action เพื่อดึงดูดผู้เรียนให้อยู่กับเนื้อหาตลอด จะเห็นว่าบรรยากาศมีความแตกต่างกับคอร์สเรียนออนไลน์ทั่วไปที่เป็นการสื่อสารทางเดียว ทำให้ผู้เรียนเบื่อไม่จดจ่อกับเนื้อหา และขาดเป้าหมาย

อีกจุดเด่นของหลักสูตรเรียนออนไลน์บนแพลตฟอร์ม “Metaverse of Education” ก็คือจะมีการเสริมความรู้ทักษะทั้งด้านการทำงานเพื่อให้เข้ากับการทำงานในโลกยุคใหม่ ซึ่งทักษะการเรียนรู้จะไม่เหมือนการเรียนในยุคเดิมอีกต่อไป หลักสูตรต่าง ๆ มีการนำร่องไว้เรียบร้อยแล้ว โดยวิสดอม วี กรุ๊ป และพร้อมที่จะทำการสอนได้ 100% เร็ว ๆ นี้ โดยจะมีการประยุกต์หลักสูตรจิตวิทยา และคำสอนในพระพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาจิตใจของผู้เรียนไปพร้อมกัน

แพลตฟอร์ม “Metaverse of Education” นอกจากจะเป็นการเปิดกว้างให้วิทยากร/ติวเตอร์ที่มีความรู้ความสามารถโดดเด่นด้านใดด้านหนึ่งมาอยู่บนแพลตฟอร์มแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมภาคการศึกษาในภาพรวมและเป็นการช่วยเหลือสังคมร่วมกันนอกเหนือจากการมีรายได้ โดยตั้งเป้าจะมีผู้เรียนในทุกสาขาอาชีพเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์ม 10 ล้านคน ภายใน 2 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2565

“ทางวิสดอม วี กรุ๊ป จะทำหน้าที่ดูแลเทคโนโลยีระบบหลังบ้าน ขณะเดียวกันก็มีบทบาทของการเป็นสถาบันพัฒนาวิชาการ การพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซึ่งใครที่ผ่านการอบรมหลักสูตรเรียนออนไลน์บนแพลตฟอร์มของ “Education Commerce” ของเราจะมี Certificate ซึ่งรับรองโดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนและให้ถือเป็นมาตรฐานการยืนยันในทักษะความรู้ ความสามารถที่ผู้จบหลักสูตรได้รับโดยผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบการรับรองในระดับนานาชาติ และจะเป็นด่านแรกในการเข้าทำงาน

อย่างไรก็ตาม ถ้าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ดีขึ้น บริษัทมีแผนที่จะจัดงาน World Education & University Expo’ 2022 ปลายปีนี้ ซึ่งข้อดีของการจัดงานจะทำให้นักเรียนได้มีโอกาสพบกับนักวิชาการจริง ๆ ทั้งด้าน Hard Skill และ Soft Skill”