Co-Learning Space แหล่งเรียนรู้ใหม่กลางรัชดา

วิถีการเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษาในยุคดิจิทัลเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยก่อน โดยไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนและห้องสมุดอีกต่อไปแล้ว เพราะการเรียนการสอนในยุคปัจจุบันเน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ เป็นผู้เริ่มตั้งคำถามและค้นคว้าหาข้อมูลจากสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ส่งผลให้นักเรียนนักศึกษาสามารถเรียนรู้จากที่ไหนก็ได้ ไม่เว้นแม้แต่ศูนย์การค้า

เพราะศูนย์การค้าเป็นจุดนัดพบที่สำคัญสำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ได้เป็นเพียงแหล่งช็อปปิ้งเท่านั้น แต่ยังเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ ทำการบ้าน หรือค้นหาไอเดียใหม่ ๆ ได้ด้วยเช่นกัน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ศูนย์การค้า “เดอะสตรีท” ได้แชร์พื้นที่ส่วนกลาง สร้างเป็น Co-Learning Space ให้นักเรียนนักศึกษาสามารถเข้ามาใช้พื้นที่เพื่อการเรียนรู้ร่วมกันได้ 24 ชม. โดย “พงษ์ศักดิ์ นันตวรรณกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะ สตรีท รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้า เดอะ สตรีท รัชดา กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวเกิดขึ้นจากการมองเห็นกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่มาใช้บริการในศูนย์การค้า และมาใช้พื้นที่ต่าง ๆ เพื่อท่องตำรา ทำงานกลุ่ม และติวหนังสือ ทางศูนย์การค้าจึงได้แชร์พื้นที่ส่วนกลางเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้นี้ขึ้น

Co-Learning Space ของศูนย์การค้า เดอะสตรีท รัชดา มีพื้นที่ประมาณ 400 ตร.ม. แบ่งออกเป็น 3 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 บริเวณชั้น B มีการจัดโต๊ะ เก้าอี้ ปลั๊กไฟ ใกล้ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ซึ่งเปิดให้บริการ 24 ชม. โซนที่ 2 บริเวณชั้น 1 ด้านข้าง COLLECTIVE จัดแบ่งเป็นห้องสี่เหลี่ยม จำนวน 3 ห้อง มีโต๊ะขนาดใหญ่ เก้าอี้ และกระดาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักเรียนได้มาติวหนังสือ หรือทำงานกลุ่มกัน และโซน 3 บริเวณชั้น 4 โซนร้านอาหาร จัดโต๊ะเก้าอี้เช่นเดียวกับชั้น B พร้อมมีบริการ wifi

ผู้ใช้บริการอย่าง “ศิริลักษณ์ แสนคำสุข” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ รัชดา บอกว่า การมี Co-Learning Space เป็นการเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ มานั่งทำงาน หรือมาทำการบ้านเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันข้อมูลในโลกออนไลน์มีมากมาย จึงจำเป็นต้องนำข้อมูลจากหลาย ๆ คนมาช่วยกันหาคำตอบที่ถูกต้อง

“นอกจากนั้น เราได้มีพื้นที่สำหรับการนั่งติวบทเรียนหลังจากที่ได้เรียนมา ซึ่งบางครั้งยังได้เพื่อนต่างโรงเรียนมาร่วมกันแชร์ความรู้และเทคนิคการเรียน ทำให้ได้วิธีการคิดแบบใหม่อีกด้วย”

ส่วน “พชร อีมโชคชัย” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะการจัดการนวัตกรรม วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เล่าว่า ปกติแล้วจะมานั่งทำงานกับเพื่อน ๆ ที่ศูนย์การค้าเป็นประจำ หากทำงานเป็นกลุ่มใหญ่ที่ต้องช่วยกันระดมสมองออกความคิดเห็น ก็จะมานั่งในโซน Co-Learning Space เพราะสามารถใช้เสียงได้ แต่หากติวกันเป็นกลุ่มเล็กก็จะไปนั่งที่ร้านกาแฟ

“ที่นี่มีความสะดวกสบาย ทั้งที่จอดรถ อาหารเครื่องดื่ม ปลั๊กไฟ ห้องน้ำ จึงสามารถนั่งคิดงานได้แบบยาว ๆ ทำให้ไอเดียของเราไม่สะดุด ขณะเดียวกันการมานั่งทำงานที่ศูนย์การค้ายังทำให้เราได้แรงบันดาลใจใหม่ ๆ เพื่อนำไปใช้ในงาน เพราะข้อมูลบางอย่าง เช่น เทรนด์ของผู้บริโภคไม่สามารถค้นหาได้ในอินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว”

Co-Learning Space จึงเป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของเยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นอย่างดี