จุฬาฯเปิดคลินิกกฎหมาย ให้คำปรึกษานักวิจัย ส่งผลงานออกสู่ตลาด

นิติศาสตร์ จุฬาและ Chula UTC จับมือที่ปรึกษาทางกฎหมาย เปิดตัว “คลินิกกฎหมายเพื่อการขับเคลื่อนนวัตกรรมสู่การพาณิชย์” ให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย แก่นักวิจัย นวัตกร เพื่อนำผลงานออกสู่ตลาดได้อย่างเต็มศักยภาพ

วันที่ 26 เมษายน 2565 ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โครงการคลินิกกฎหมายเพื่อการขับเคลื่อนนวัตกรรมสู่การพาณิชย์ได้จัดตั้งขึ้น สืบเนื่องจากได้เล็งเห็นถึงประเด็นปัญหากฎหมายที่อาจเกิดขึ้นได้ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมผลงานวิจัยออกสู่ในเชิงพาณิชย์

ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงด้านความรับผิดทางกฎหมายสำหรับนักวิจัย นวัตกร และทำให้ผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีหรือด้านนวัตกรรมต่าง ๆ ไม่สามารถสร้างผลผลิตเชิงพาณิชย์ได้อย่างเต็มศักยภาพ อันเนื่องมาจากการขาดความรู้ ความเข้าใจและความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย

ประกอบกับทางคณะนิติศาสตร์มีทิศทางในการปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอนโดยเพิ่มการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติการจริงหรือ Legal Experiential Learning เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมที่ต้องการนักกฎหมายที่มีความพร้อมในการทำงานหลังจากสำเร็จการศึกษา จึงเป็นที่มาของความร่วมมือโครงการดังกล่าว

อ.ดร.ประวีร์ เครือโชติกุล หัวหน้าโครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UTC) กล่าวว่า UTC เป็นหน่วยงานที่ช่วยขับเคลื่อนงานวิจัยที่มีพื้นฐานเทคโนโลยีเชิงลึกจากห้องวิจัยไปสู่ตลาด โดยที่มุ่งเน้นใน 3 แกนหลัก ได้แก่ MedTech, AI/DS/Robotics และ BioTech โดย UTC ทำหน้าที่เสมือนเป็นคนกลางในการเชื่อมโยงองค์ประกอบต่าง ๆ เพื่อให้การพัฒนางานวิจัยเป็นไปอย่างมุ่งเป้า มีทิศทางและสามารถที่จะสร้างคุณค่าให้กับเศรษฐกิจและสังคมได้จริง

ซึ่ง UTC จะทำงานร่วมกับภาคเอกชน ภาคการศึกษาและภาครัฐ ช่วยนักวิจัยในเรื่องการทำ Tech Market fit และทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ในการหาพื้นที่ทดสอบนวัตกรรม เก็บผลและนำผลมาปรับปรุง พร้อมช่วยให้คำแนะนำ และวางกลยุทธ์ให้แก่นักวิจัยในการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎระเบียบต่าง ๆ รวมถึงให้คำแนะนำพันธมิตรทางธุรกิจ (Business Partner) ที่จะเพิ่มมุมมองทางธุรกิจให้กับนักวิจัยได้ สำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไปได้

โดยคลินิกกฎหมายเพื่อการขับเคลื่อนนวัตกรรมสู่การพาณิชย์ จะแบ่งออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่ คลินิกกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (IP Clinic) ซึ่งจะมีการจัดอบรมให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาตลอดจนให้ความช่วยเหลือในประเด็นต่าง ๆ สำหรับงานวิจัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการวิจัยที่มีศักยภาพภายใต้การส่งเสริมและสนับสนุนของ UTC

ซึ่งจะขยายต่อไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ในอนาคตทั้งใน และนอกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งคลินิกกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาจะมีการดำเนินงานร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมาย Tilleke & Gibbins International และคลินิกกฎหมายธุรกิจ (Corporate Law Clinic) ซึ่งจะร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมาย Kudun & Partners

ทั้งนี้ Law Clinic for Tech & Spin-off มีความคาดหวังที่จะขับเคลื่อนให้นวัตกรรมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกสู่ตลาดเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่องเต็มศักยภาพลดทอนความเสี่ยงทางด้านกฎหมาย รวมทั้งก่อให้เกิดคุณค่าทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้างและเป็นรูปธรรม

อ.ดร.ภูมิศิริ ดำรงวุฒิ รองคณบดี ด้านงานวิรัชกิจและนิตินวัตกรรม คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาโครงการวิจัยและนวัตกรรมที่เข้าไปช่วยดูแลนั้น จะเป็นโครงการที่ผ่านการบ่มเพาะโดย UTC แต่ความจริงแล้วในจุฬาฯ ยังมีนวัตกรรมและโครงการที่มีคุณค่าจำนวนมากที่พร้อมจะถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือเป็น spin-off ต่อไป ซึ่งความต้องการนี้เป็นสิ่งที่ Law Clinic พยายามที่จะตอบสนอง

อีกทั้งยังมีโครงการหลายอย่างในประเทศไทยที่มีคุณค่ามากและเป็นเทคโนโลยีที่สามารถผลักดันเข้าสู่การพาณิชย์ได้จริง ๆ แต่เมื่อมีประเด็นข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เหล่านักวิจัยอาจจะไม่ทราบทำให้เกิดความเสี่ยงทางด้านกฎหมาย หรือไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่ถูกต้อง

ซึ่งทาง Law Clinic จะเสนอบริการที่รอบด้าน (comprehensive service) ที่นักวิจัยในเครือข่ายสามารถเดินเข้ามาสอบถามและดำเนินการได้ตั้งแต่ต้นจนจบเหมือนมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศที่มีหน่วยงานเฉพาะที่พร้อมให้บริการอย่างครบวงจร ซึ่งในอนาคต จุฬาฯ และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในประเทศก็ควรที่จะสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมของไทยให้ได้ในระดับเดียวกัน Law Clinic จึงเข้ามาช่วยเป็นโมเดลในการตอบโจทย์ด้านกฎหมายในส่วนนี้