นานมีบุ๊คส์ ช่วยบรรณารักษ์ ชูการอ่านสไตล์สวีเดน

พฤติกรรมการอ่านของเด็กไทยในยุคดิจิทัล ถูกกลืนไปด้วยความก้าวล้ำของเทคโนโลยี และถึงแม้ว่ารัฐบาลจะรณรงค์ให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ แต่การปลุกกระแสรักการอ่านยังดูเป็นเรื่องยากเต็มที จนบางคนอาจมองว่าเป็นกระแส “ปลาว่ายทวนน้ำ” สวนทางกับความก้าวหน้าของนวัตกรรมตามกระแสหลัก

เพราะเล็งเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อประเทศไทย นานมีบุ๊คส์ จึงจับมือกับสถานเอกอัครราชทูตสวีเดนร่วมพัฒนาศักยภาพบรรณารักษ์ไทย ก้าวสู่ประเทศไทยยุค 4.0 ผ่านงานสัมมนา “ความสำเร็จในการส่งเสริมการอ่านสไตล์สวีเดน และกิจกรรมส่งเสริมการอ่านรูปแบบใหม่สำหรับบรรณารักษ์ยุค 4.0” โดยได้รับเกียรติจาก “อันมารี เชอร์ลิง” ทูตแห่งการอ่านประจำประเทศสวีเดน ในปี 2015-2017 มาให้คำแนะนำในหัวข้อสำคัญที่บรรณารักษ์ยุค 4.0 ควรรู้

“อันมารี เชอร์ลิง” บรรยายในหัวข้อ “การจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่ได้ผลสำเร็จตามแนวทางของประเทศสวีเดน” โดยหยิบประสบการณ์มาแนะนำกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่ประสบผลสำเร็จในประเทศสวีเดน ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ามีรากฐานการอ่านที่แข็งแรง

“เรื่องการอ่านจะเริ่มต้นจากพื้นฐานคือสถาบันครอบครัว ก่อนต่อยอดไปสู่สาธารณชน โดยมีหน่วยงานภาครัฐที่ดำเนินนโยบายส่งเสริมการอ่านสาธารณะ ตลอดจนให้การสนับสนุนแหล่งการเรียนรู้สำคัญอย่างโรงเรียน ห้องสมุด และร้านหนังสือ”

“ในส่วนของการสนับสนุนการอ่านที่สวีเดน บรรณารักษ์เป็นกลไกหนึ่งที่สนับสนุนการอ่านของเยาวชน เพื่อสร้างบริบทของการอ่านให้ขยายวงกว้างขึ้นมาสู่บริบทของสังคม ซึ่งมีการจัดตั้งผู้แทนในการวิเคราะห์ว่าเหตุผลที่คนในสังคมอ่านเพราะอะไร แล้วเราจะสนับสนุนให้ผู้คนรักการอ่านได้อย่างไร โดยสิ่งที่พวกเขาทำนั้นไม่ใช่แค่สนับสนุนการอ่าน แต่ยังสนับสนุนวิธีการอ่านอีกด้วย”

อย่างไรก็ตาม การอ่านไม่ได้หมายความว่าอ่านอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องมีการพูดคุยต่อยอด เพื่อทำให้เด็ก ๆ เกิดความคิดวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งประเทศสวีเดนไม่ได้ยกย่องเพียงแต่นักเขียน แต่เรายังให้ความสำคัญกับสำนักพิมพ์ เพราะเป็นแหล่งการเรียนรู้สำคัญที่สุด รวมถึงส่งเสริมบทบาทของคุณครู หรือใครก็ตามที่อยากสนับสนุนการอ่านของเด็ก ๆ

นอกจากการสัมมนาในหัวข้อดังกล่าว ยังมี “ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล” ที่ปรึกษาอุทยานการเรียนรู้ TK Park มาแนะแนวทางการนำประโยชน์จากช่องทางการเรียนรู้เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้ที่ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือแบบออนไลน์ ในหัวข้อ “บรรณารักษ์ยุคใหม่สร้างสรรค์การอ่านด้วยเทคโนโลยี”

“เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นทำให้กระบวนการเรียนรู้ และการใช้ชีวิตของเด็กเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ระบบการศึกษาควรให้ความสำคัญกับการเรียนรู้แบบผสมผสาน (blended learning) ซึ่งเป็นการเรียนรู้ในห้องเรียนแบบประสบการณ์ตรง ผ่านคุณครูสอน กับการที่นำสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบอื่น ๆ มาใช้ เช่น สื่อมัลติมีเดีย หรือเว็บไซต์ต่าง ๆ”

“การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเป็นเรื่องสำคัญ อาจเริ่มจากการแบ่งกลุ่ม เพื่อให้เด็กคิด วิเคราะห์ และต่อยอดร่วมกัน ทั้งสองแนวทางไม่สามารถแยกกันออกได้ คุณครูยุคใหม่จึงควรนำการเรียนรู้เหล่านี้ไปปรับใช้ในการสอนผู้เรียนต่อไป”

ขณะที่ “นงลักษ์ รักษาปาตี” บรรณารักษ์ห้องสมุดระดับประถม ร.ร.วัฒนาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่าเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเยอะมากขึ้น ในฐานะบรรณารักษ์ ตนเองอยากพัฒนากิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงในการใช้เทคโนโลยี เพราะหากเป็นหนังสือธรรมดา เด็กจะไม่ให้ความสนใจมากนัก

“เมื่อเรานำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ สามารถดึงดูดเด็กให้สนใจหนังสือมากขึ้น ซึ่งการร่วมสัมมนาครั้งนี้ ทำให้เกิดไอเดียต่อยอด ในเรื่องการนำอุปกรณ์สื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้เด็ก ๆ ได้ใช้ อีกทั้งในห้องสมุดจะมีการใช้แอปพลิเคชั่นมาช่วยจัดสรรหนังสือ เพื่อให้ค้นหาได้ง่ายขึ้น”