พลิกธุรกิจ เลิร์น คอร์ปอเรชั่น สร้างองค์กรการเรียนรู้ตลอดชีวิต

เมื่อเอ่ยถึงบริษัท เลิร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด อาจไม่คุ้นหูเท่าโรงเรียนกวดวิชาออนดีมานด์ ธุรกิจในเครือที่เดินหน้ามาถึง 11 ปีแล้ว โดยเป็นที่รู้จักกันในแง่ของโรงเรียนกวดวิชาแห่งแรก ๆ ซึ่งนำเทคโนโลยีการเรียนออนไลน์มาประยุกต์กับการกวดวิชา เพราะมีความโดดเด่นด้านวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์

ภายใต้ร่มเงาของ เลิร์น คอร์ปอเรชั่น ยังมี บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ในการทำกิจการเพื่อสังคม โดยมีเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพการศึกษาให้กับประเทศไทย ด้วยการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม เพราะต้องการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ในทุกช่วงชีวิต บริษัทจึงแตกไลน์ธุรกิจเพื่อให้มีคอร์สเรียนที่ครอบคลุมการเรียนรู้ของคนในทุกช่วงวัยให้ได้มากที่สุด

สุธี อัสววิมล

“ตอนนี้เราเริ่มปรับโครงสร้างบริษัท เพราะต้องการสร้างองค์กรให้เป็น life long learning หรือเพื่อสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับคนไทย” ผู้ร่วมก่อตั้ง และคณะกรรมการ บริษัท เลิร์นคอร์ปอเรชั่น จำกัด “สุธี อัสววิมล” เปิดเผยถึงความตั้งใจจริง และพร้อมให้รายละเอียดถึงธุรกิจในเครือว่าแบ่งออกเป็น 5 ส่วนหลัก

นอกจากโรงเรียนกวดวิชาออนดีมานด์ และเลิร์น เอ็ดดูเคชั่น ที่เจาะกลุ่มนักเรียนชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนปลายและกลุ่มครูแล้ว บริษัทได้ขยายธุรกิจไปยังกลุ่มอุดมศึกษาและวัยทำงาน ผ่านการจัดตั้ง skooldio อันมาจากการผสมผสานกันของคำว่า skill, school และ studio ซึ่งมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ สู่ตลาดแล้ว อย่างคอร์ส Design Thinking และ Data Management for Business โดยกำลังพัฒนาจากคอร์สออฟไลน์ไปสู่คอร์สออนไลน์

ขณะเดียวกัน ยังมี LEARNx เป็นการเรียนภาษาอังกฤษผ่านระบบออนไลน์ และออฟไลน์ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะพัฒนาทักษะการพูดของคนวัยทำงานในเอเชีย ส่วนอีกหนึ่งธุรกิจคือ LearnHub+ ที่ต้องการสร้างให้เป็น colearning space อย่างจริงจัง โดยจะเป็นแห่งแรกของประเทศที่จะมีทั้ง learning space และ creative space รวมถึง cocreation space หรือสถานที่สำหรับการดีลธุรกิจ

สำหรับธุรกิจที่อยู่มานานอย่างโรงเรียนกวดวิชาออนดีมานด์ “สุธี” บอกว่าการปรับการสอบจากแอดมิสชั่นมาเป็นระบบ TCAS กระทบกับธุรกิจพอสมควร เพราะการสอบ GAT/PAT เหลือเพียงรอบเดียว ดังนั้น คอร์สเรียนที่เคยเปิดจะลดลง อีกทั้งเศรษฐกิจที่ไม่ดีส่งผลให้นักเรียนบางกลุ่มมีกำลังซื้อน้อยลง จากเดิมที่เคยเรียนสองวิชาจนเหลือเพียงวิชาเดียว

“นอกจากทำคอร์สให้น้องเรียน เรายังทำระบบทดสอบให้เด็กได้มาคัดกรองตัวเอง เพื่อรู้ถึงจุดอ่อนจุดแข็ง ทำให้เขาสามารถเลือกจำนวนวิชาเรียนที่น้อยลงภายใต้งบประมาณที่มีจำกัด ซึ่งการทำให้แพ็กเกจของคอร์สกระชับ และพอดีกับที่เด็กอยากเรียน นับเป็นการตอบโจทย์ผู้เรียนเป็นอย่างดี ส่งผลให้ธุรกิจของเราไม่ตกไปตามกระแสตลาด”

ทั้งนั้น ภายในสิ้นปี 2560 โรงเรียนกวดวิชาออนดีมานด์จะมีทั้งหมด 50 สาขาและจะเปิดเพิ่มอีก 5 สาขาในปี 2561 ซึ่ง “สุธี” ยอมรับว่าในภาพใหญ่ของธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาค่อนข้างหดตัว แต่ก็มีกลุ่มกำลังซื้ออื่นอย่างนักเรียนที่ติวเพื่อสอบเข้าหลักสูตรอินเตอร์ และนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ทั้งสองกลุ่มนี้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

“เทรนด์การเรียนอินเตอร์มาแรง มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรอินเตอร์มากขึ้น เมื่อ 3-4 ปีที่แล้วมี 4,000 ที่นั่ง ตอนนี้มีการรับมากกว่า 13,000 ที่นั่ง ซึ่งเราได้เปิดทั้งออนดีมานด์อินเตอร์ และประถมศึกษา เพื่อมาเสริมพอร์ตของระดับมัธยมศึกษา โดยแต่ละปีมีเด็กมาเรียนออนดีมานด์กว่า 70,000 คน ตั้งเป้าปีหน้าต้องเติบโตประมาณ 10%”

ขณะที่ภาพรวมของตลาดโรงเรียนกวดวิชา “สุธี” ประเมินว่า จำนวนผู้เรียนลดลงจากปีที่แล้ว แต่ไม่มากเท่าไรที่น่ากังวลคือปริมาณการซื้อคอนเทนต์ต่อคนลดลงมาก โดยมาจากหลายปัจจัยเช่น เด็กมีสมาธิลดลง และผู้ปกครองมีกำลังซื้อลดลงเพราะเศรษฐกิจซบเซา ซึ่งปี 2560 ถือเป็นปีที่ลำบากของโรงเรียนกวดวิชา ส่วนปีหน้าคาดว่าตลาดยังคงฝืดอยู่ ก่อนที่จะกระเตื้องอีกครั้งในปี 2562

 


 

มองจุดอ่อน-แข็งระบบ TCAS

การรับสมัครคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง หรือที่เรียกกันว่า TCAS (Thai university Central Admission System) ของปีการศึกษา 2561 มีทั้งหมด 5 รูปแบบ คือการรับด้วยแฟ้มสะสมผลงาน (portfolio), การรับแบบโควตา, การรับตรงร่วมกัน,การรับแบบแอดมิสชั่น และการรับตรงอิสระ ซึ่งแต่ละรูปแบบมีระยะเวลาการรับสมัครที่ไม่ทับซ้อนกัน

การปรับมาเป็นรูปแบบการสอบเช่นนี้ได้รับคำชมจากหลายฝ่ายว่าสามารถแก้ปัญหาวิ่งรอกสอบของนักเรียนได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเพิ่มความเท่าเทียมในการสอบเข้า เพราะหากนักเรียนยืนยันสิทธิ์ในรอบนั้น ๆ แล้วจะหมดสิทธิ์ของการสอบรูปแบบอื่น ๆ

ในมุมคิดของ “สุธี” มองว่า TCAS มีข้อดีคือ เด็กทุกคนมีโอกาสเท่ากัน เพราะเป็นการสอบแบบระบบหนึ่งคนหนึ่งสิทธิ์ กระนั้น อาจทำให้เด็กที่มีผลการเรียนปานกลางถึงค่อนข้างดีเสียโอกาส เพราะส่วนใหญ่แล้วจะกลัวว่าการยื่นสอบรอบถัดไปอาจสอบไม่ติด จึงตัดสินใจยืนยันสิทธิ์ตั้งแต่ช่วงรอบแรก ทั้ง ๆ ที่คณะดังกล่าวที่สอบติดอาจไม่ใช่สาขาวิชาที่ตัวเองต้องการจริง ๆ

“ตอนนี้อยู่ในรอบของการยื่นสอบด้วยการส่งแฟ้มสะสมผลงาน ซึ่งเด็กบางส่วนที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ จะเจอปัญหา เพราะเป็นการให้ยื่นแบบออนไลน์ ขณะเดียวกัน ในส่วนของการสอบรอบรับตรงร่วมกัน ตอนนี้ยังไม่มีการประกาศเกณฑ์ว่าต้องสอบวิชาไหนบ้าง และมักจะไปประกาศตอนช่วงใกล้ ๆ สอบ ทำให้เด็กอ่านหนังสือไม่ทัน”

“สุธี” เสนอแนะว่า เพื่อให้ระบบการสอบเข้าสถาบันอุดมศึกษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ควรมีการรับฟีดแบ็กจากผู้สมัครว่าการรับสมัครสอบมีข้อบกพร่อง มีปัญหา หรือติดขัดอะไรบ้าง เพื่อนำมาปรับระบบการสอบให้เร็วที่สุด เป็นแบบเดือนต่อเดือน ไม่ใช่ปีต่อปี

“ยกตัวอย่าง หากมีปัญหาในรอบยื่นแฟ้มสะสมผลงาน จะต้องแก้ปัญหาทันที และปรับระบบของการสอบรอบถัดไป เพื่อรองรับเด็กกลุ่มที่มีปัญหาจากรอบก่อนหน้า ไม่ใช่ไปแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปีหน้า เพราะนี่เป็นชีวิตของเด็กหนึ่งคน ซึ่งจากระบบสอบที่มีปัญหา อาจทำให้ความฝัน หรืออาชีพที่เขาต้องการในอนาคตอาจหายไปเลยก็ได้”