ม.กรุงเทพชี้ศึกษายุคใหม่ “เราต้องมีอนาคตเป็นตัวตั้ง”

การจัดสรรกำลังคนตลาดงานยุคใหม่กำลังเคลื่อนย้ายไปสู่งานอาชีพในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยีใหม่ และสื่อดิจิทัล จึงมีหลากหลายอาชีพในยุคนี้ที่คนรุ่นเก่าอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน

คนเจนใหม่ในรุ่นต่อจากเจนวาย คือคนที่อยู่ในวัยกำลังศึกษาหาความรู้ และพวกเขาคือมวลชนที่จะเติบโตขึ้นด้วยแรงปะทะของอนาคต ที่เปลี่ยนไปเร็วขึ้น

ทว่าเมื่อมองในภาพรวมของการศึกษาไทย ภายใต้สภาพแวดล้อมใหม่ที่เปลี่ยนไปทุกวี่วัน การบ่มเพาะบัณฑิตใหม่จากมหาวิทยาลัยกลับยังไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลย

“เพชร โอสถานุเคราะห์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า ปัจจุบันโลกเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยความเร็วสูง มีอาชีพใหม่เกิดขึ้นทุกวันในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล กรอบความคิดเก่า ๆ การเรียนรู้แบบเดิม ๆ จึงต้องเปลี่ยน

“กรอบความคิดดั้งเดิมเกี่ยวกับการศึกษาไทยมี 2 เรื่อง คือ การสอบเอ็นทรานซ์-แอดมิสชั่น เพื่อเข้ามหาวิทยาลัยรัฐ กับค่านิยมที่มองว่าปริญญาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต เรียนอะไรก็ได้ให้จบปริญญา ทั้งสองเรื่องนี้ยังครอบงำพ่อแม่ผู้ปกครอง และส่งต่อกรอบคิดเช่นนั้นสู่คนรุ่นลูก จนทำให้ระบบการศึกษาของไทยจึงย่ำอยู่กับที่ คนรุ่นใหม่ไม่จำเป็นต้องเดินตามรอยเท้าคนในอดีต หมายถึงปัจจุบันมีทางเลือกในการเรียนรู้มากมาย หลายรูปแบบ หลายเส้นทาง ถ้าปลดล็อกกรอบความคิดดั้งเดิมสองเรื่องที่กล่าวมาได้ ระบบการศึกษาไทยจะก้าวไปไกลกว่านี้”

“อีกทั้งระบบการศึกษาไทยต้องฝึกให้เด็กคิดเองให้เป็น ให้รู้จักคิดนอกกรอบ กล้าเดินในทางที่ไม่มีใครเดินมาก่อน ผมคิดว่าเราต้องมีอนาคตเป็นตัวตั้ง ถ้ายังติดอยู่กับชื่อมหาวิทยาลัย ติดอยู่กับการเรียนเพื่อมุ่งเป้าที่ใบปริญญา คุณอาจไม่ได้เรียนสิ่งที่อยากเรียน แต่เรียนเพื่อคนอื่น เพื่อพ่อแม่ เพื่อสังคม จบออกมาก็ไม่อยากทำงานตามที่เรียน ชีวิตต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ เพื่อหาว่าจริง ๆ แล้ว คุณอยากเป็นอะไร อยากทำอะไร”

“เพชร” กล่าวเพิ่มเติมว่า การเรียนมหาวิทยาลัยให้ทันยุคนั้น โจทย์ที่สำคัญคือต้องมองอนาคตเป็นตัวตั้ง เพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ และตลาดงานอาชีพยุคใหม่ ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนตัวเองอย่างรวดเร็วเช่นกัน เพื่อทำหน้าที่เป็นเบ้าหลอม ปั้นคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพก้าวทันโลก อย่างน้อยที่สุดมี 4 ประเด็น ที่มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนอย่างจริงจัง

หนึ่ง การปลี่ยนหลักสูตรให้มีความทันสมัย อย่าไปยึดติดว่าอะไรเดิม ๆ ที่ดีอยู่แล้วก็ไม่ต้องเปลี่ยน เพราะการพัฒนาหลักสูตรให้สอดรับกับโลกที่เปลี่ยนไป คือ เส้นทางสร้างโอกาสงานยุคใหม่ อย่างเช่น คณะนิเทศศาสตร์ ที่มีหลักสูตรนานาชาติ เรียนรู้เรื่องการผลิตสื่อนวัตกรรม ก็ย่อมตอบโจทย์งานนักนิเทศศาสตร์ยุคดิจิทัล มากกว่าเรียนนิเทศศาสตร์ในหลักสูตรเก่า หรือ คณะบริหารธุรกิจ ที่มีหลักสูตรนักวางแผนการเงิน ก็ตอบโจทย์ธุรกิจในแวดวงการเงิน การลงทุนได้ทันที รวมทั้งหลักสูตรบริหารธุรกิจที่มุ่งเน้นธุรกิจจีน เพราะนี่คืออนาคตโลกธุรกิจ

สอง เปลี่ยนอุปกรณ์การเรียนให้ทันสมัย และมากพอ เพื่อให้นักศึกษาฝึกใช้เครื่องมือต่าง ๆ อย่างชำนาญ เช่นการเรียนเพื่อเป็นนักพัฒนาแอปพลิเคชั่นนักออกแบบเกม คอมพิวเตอร์ที่ใช้เรียนต้องทันสมัย และมีจำนวนพอกับนักศึกษา หรือเรียนสาขาการผลิตภาพยนตร์ ห้องเรียนของนักศึกษา คือ โรงถ่ายสตูดิโอใช้กล้องระดับมืออาชีพ มีห้องตัดต่อดิจิทัลแล็บ

สาม เปลี่ยนการสอนเป็นการเรียนรู้ พูดคุยระดมความคิด ถกเถียงกัน มากกว่าให้ฝ่ายหนึ่งพูด อีกฝ่ายหนึ่งฟังไปเงียบ ๆ และจดจำ เปลี่ยนให้คณาจารย์ทำหน้าที่โค้ช ชี้นำนักศึกษาเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจ สิ่งใหม่ ความคิดสร้างสรรค์ใหม่จะเกิดขึ้นได้

สี่ สร้างโอกาส และเครือข่ายงาน โดยเน้นการเรียนผ่านการลงมือทำตั้งแต่เข้ามาเรียนปีหนึ่ง ซึ่งมหาวิทยาลัยต้องมี ecosystem ที่แข็งแกร่ง มีพันธมิตรทางการศึกษาที่หลากหลาย เพื่อมีส่วนสร้างเครือข่ายงาน สถานที่ฝึกและทำงานจริงให้นักศึกษา

ทั้งหมดนี้คือจุดเปลี่ยนการเรียนในระดับอุดมศึกษา สถาบันการศึกษาระดับสูงที่เป็นเบ้าหลอม ปั้นคนคุณภาพยุคใหม่ที่เท่าทันอนาคตอย่างแท้จริง