โครงการ U2T ส่งผู้สมัครลงปฏิบัติงานวันแรกแล้ว 6.8 หมื่นคน 7 พันตำบล

โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG เริ่มส่งผู้สมัครทั้งเด็กจบใหม่-ประชาชน 68,350 คน ลงพื้นที่ปฏิบัติงานกับชุมชน 7,435 ตำบลทั่วประเทศ

วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว) เปิดตัวโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG ผ่านระบบออนไลน์ โดยมี ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธาน พร้อมกับ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว.

พร้อมด้วยอธิการบดีและผู้บริหารของ อว. และมีผู้เข้าร่วมโครงการ U2T for BCG จำนวน 68,350 คน เข้าร่วม ซึ่งมีทั้งบัณฑิตจบใหม่และประชาชนที่จะลงไปทำงานกับชุมชนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากเป็นรายตำบลใน 7,435 ตำบล ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวว่า โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG เป็นสิ่งที่ทุกคนรอคอย หลังจากโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ U2T เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ต้องขอขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ที่ผลักดันงบกลางมาให้ อว.ได้ดำเนินโครงการนี้ในระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ ก.ค.- ก.ย.2565

โดย U2T for BCG เป็นการสานต่อโครงการ U2T แต่จะแตกต่างตรงที่โฟกัสและชูในเรื่องของ BCG เป็นหลัก ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ของไทยที่สามารถนำไปยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการด้าน BCG ในพื้นที่ได้ และยังเป็นวาระสำคัญของประเทศไทยที่จะเชื่อมโยงไปถึงการประชุมเอเปคที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือน พ.ย. นี้

“หมู่บ้านไหนตำบลใดมีอะไรที่น่าสนใจ อว.ก็จะเสนอรัฐบาลให้พาแขกต่างประเทศมาเยี่ยมชม ที่สำคัญ U2T for BCG จะทำให้ตลอด 3 เดือนของโครงการ เป็นช่วงเวลาที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนเป็นคนที่นอกจากจะเก่งและดีแล้ว ยังเป็นคนที่สามารถ หลุดจากการเป็นแค่นักศึกษาให้ก้าวไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมทั้งการศึกษา สติปัญญา ประสบการณ์ เป็นคนโชคดีที่ได้มีโอกาสเรียนรู้กับประชาชน” รมว.อว.กล่าว

ตั้งเป้าทุกตำบลได้ 2 ผลงาน

ขณะที่ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจแบบ BCG จะเป็นฐานที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยฟื้นตัวขึ้นจากโควิด-19 แล้วเติบโตอย่างยั่งยืน โดย U2T for BCG จะขยายครอบคลุมไปถึง 7,435 ตำบล ก็คือทุกตำบล ทุกแขวง ในทุกจังหวัดของประเทศไทย รวมทั้งกรุงเทพมหานครด้วย

โดย อว.จะมุ่งนำกำลังของมหาวิทยาลัยทุกแห่ง และสถาบันวิจัยไปทำงานร่วมกับพื้นที่ ทำให้เกิดผลงาน เกิดชิ้นงานหรือเกิดสินค้าที่สามารถขายได้จริง มีคนอยากจะซื้อจริง และถ้าเป็นการบริการก็เป็นการบริการที่สามารถเอามาใช้งานได้จริง มีคนที่อยากจะรับบริการจริงๆ

“เราตั้งเป้าว่าแต่ละตำบล จะมีสินค้าหรือชิ้นงานอย่างน้อยก็ตำบลละ 2 ชิ้น รวมแล้วประมาณ 15,000 ชิ้น ส่งผลให้มูลค่าต่างๆ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% ที่สำคัญ คนที่ร่วมโครงการ 68,350 คน จะได้ทำงานร่วมกับประชาคมของ อว. ซึ่งมีทั้งมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ตลอดจนทำงานร่วมกับทางอำเภอและจังหวัด ซึ่งรวมแล้วหลายแสนคน ทำให้เกิดเครือข่ายการทำงานร่วมกันขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมไปทั้งประเทศ”

อย่างไรก็ตาม โครงการ U2T for BCG เป็นการสร้างปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกครั้งของ อว. ในการเตรียมความพร้อมและพัฒนาทักษะให้กับประชาชนเพื่อรองรับการฟื้นตัวของประเทศหลังสถานการณ์โควิด โดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ในการขับเคลื่อน ควบคู่ไปกับการจัดทำ Thailand Community Data (TCD) หรือข้อมูลชุมชนขนาดใหญ่ที่มีความสมบูรณ์ครบถ้วนในทุกพื้นที่อีกด้วย