แนะรัฐให้ทุนเด็กเรียนสายอาชีพถึงป.เอก การันตีเงินเดือนสูงกว่าป.ตรี เพิ่มศักดิ์ศรี จูงใจคนเรียนเพิ่ม

จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ได้สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เร่งดำเนินการปฏิรูปอาชีวศึกษาใหม่ ให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ ภาคธุรกิจ และทิศทางการพัฒนาประเทศ โดย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มอบหมายให้ นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการศธ. เป็นประธานดำเนินการเรื่องดังกล่าว และเร็วๆ นี้จะเชิญกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ทั้ง 9 แห่ง รวมถึงมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มาหารือทิศทางการปรับหลักสูตร ปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ ให้การเรียนการสอน ให้ผู้ที่จบอาชีวะสามารถเรียนต่อปริญญาตรีได้ทันทีนั้น

นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า ในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ นายกฯ ได้ย้ำให้ การจัดการศึกษาทุกภาคส่วนทำงานประสานกันตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา โดยเฉพาะระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาที่ต้องมีความเชื่อมโยงในเรื่องของหลักสูตร การผลิตกำลังคนที่มีศักยภาพในการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) รับนโยบาย และเร่งปฏิรูปอาชีวะ โดยที่ผ่านมา สอศ. อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศอยู่แล้ว แต่เมื่อทางรัฐบาลมีนโยบายดังกล่าว จะเร่งดำเนินการในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศและภาคอุตสาหกรรมก่อน ใน 6 สาขา คือ รถไฟฟ้าระบบราง ช่างอากาศยาน หลักสูตรโรโบติกส์ หลักสูตรแมคคาทรอนิกส์ หลักสูตรการท่องเที่ยว และหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ ขณะเดียวกันตนได้มอบนโยบายให้สถานศึกษาสังกัด สอศ. ทุกแห่งปรับการเรียนการสอน เน้นการฝึกปฏิบัติจริงมากขึ้น โดยเฉพาะสาขาด้านช่างที่ต้องใช้ทักษะความชำนาญ

“สำหรับเส้นทางการเข้าสู่การเรียนระดับปริญญาตรีของผู้ที่เรียนอาชีวะนั้น สอศ. มีสถาบันการอาชีวศึกษาซึ่งเปิดสอนระดับปริญญาตรี รวม 23 แห่ง แบ่งเป็นสายช่างต่าง ๆ 19 แห่ง และสอนด้านการเกษตร 4 แห่ง ซึ่งรับทั้งผู้เรียนที่จบประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เข้าเรียน โดยการเรียนที่สถาบันการอาชีวศึกษา จะเหมาะสำหรับคนที่ทำงานแล้ว เพราะไม่ต้องมาเรียนเต็มเวลา แต่เป็นการเรียนเพื่อต่ยอดความรู้และพัฒนาศักยภาพ จบปวส เข้ามาเรียน 2 ปี สามารถทำงานไปด้วยได้ ต่างกับการเรียนในหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่อง ที่ต้องเรียนเต็มเวลา อาจทำให้คนที่จำเป็นต้องทำงานด้วย ไม่สามารถมาเรียนได้ ดังนั้นการเปิดปริญญาตรีต่อเนื่อง อาจต้องพิจารณาเป็นรายสาขา เพราะปริญญาตรีสายอาชีวะ เป็นการเรียนสายปฏิบัติ เพื่อเพิ่มทักษะทางวิชาชีพ” นายสุเทพกล่าว

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ความพยายามในการปฏิรูปอาชีวะมีมานานเพราะประเทศไทยขาดแคลนแรงงานยุคใหม่ ที่มีสมรรถนะตามที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ เช่นอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ต้องพัฒนาไปสู่การขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า สาขาอิเลคทรอนิกส์ ที่ต้องพัฒนาวัตกรรมต่าง ๆ ให้มีความทันสมัย ทั้งนี้ปัญหาของอาชีวะ จะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ผู้ปกครองไม่นิยมส่งลูกมาเรียน และหลักสูตรไม่มีความทันสมัย ซึ่งในส่วนของหลักสูตร มหาวิทยาลัยสามารถเข้ามาช่วยพัฒนาได้ไม่ยาก โดยในส่วนของสจล. มีความร่วมมือกับ ศูนย์โคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการรวมตัวของสถาบันอาชีวศึกษาที่มีศักยภาพของประเทศญี่ปุ่นจำนวน 16 แห่ง เข้ามาช่วยพัฒนาการเรียนการสอนในสายปฏิบัติการให้สจล. คิดว่าสจล.สามารถเข้าไปช่วยพัฒนาหลักสูตรได้ใน 2 เดือนตามที่รัฐบาลกำหนดอย่างแน่นอน ส่วนเรื่องค่านิยมของผู้ปกครอง รัฐบาลต้องจริงจัง สร้างภาพลักษณ์ให้ผู้เรียนสายอาชีพใหม่ ให้เรียนแล้วมีงานทำ เงินเดือนสูง มีศักดิ์ศรีในสังคม โดยต้องทุ่มงบประมาณ สร้างแรงจูงใจให้ผู้ปกครองส่งลูกมาเรียนสายอาชีพมากขึ้น เช่น ให้ทุนการศึกษาตั้งแต่ระดับปวช. ปริญญาตรี โทและเอก รวมถึงการันตีให้ได้ว่า เด็กที่จบสายอาชีพจะมีเงินเดือนสูงกว่าผู้ที่จบปริญญาตรี เพื่อเพิ่มศักดิ์ศรีและโอกาสให้กับผู้เรียน ทั้งนี้เชื่อว่า หากสถาบันการศึกษาสามารถผลิตแรงงานช่างฝีมือชั้นสูง ภาคอุตสาหกรรมก็พร้อมที่จะจ่ายเงินเดือนสูง เพราะเขามั่นใจว่าได้คนที่มีคุณภาพเข้าไปทำงาน แต่รัฐบาลต้องช่วยผลักดันเรื่องนี้ โดยสนับสนุนให้มีการลงทุนกับการจัดการศึกษาอาชีวะอย่างจริงจัง

น.ส.จันทร์จิรา วงษ์ขมทอง อธิการบดีมหาวิทยาลัยคริสเตียน ในฐานะนายกสมาคมผู้ได้รับเลือกของสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (สสอท.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเอกชน จะขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้าไปช่วยปฏิรูปอาชีวะ โดยในส่วนของหลักสูตรนั้น จะใช้มาตรฐานหลักสูตรที่สอศ. ปรับเป็นแกนหลัก และสร้างความแตกต่างเพิ่มเติมที่สำคัญจะจับมือกับภาคเอกชนเข้ามาช่วยพัฒนาศักยภาพผู้เรียน ทั้งนี้ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเอกชนเองพยายามปรับตัว จัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ยอมรับว่า ปัญหาจำนวนเด็กลดลงทำให้มีมหาวิทยาลัยต้องปิดตัวลงไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้แย่อย่างที่คิด โดยปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยเอกชนทั้งหมด 70 แห่ง แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ มหาวิทยาลัยเอกชนขนาดใหญ่ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป กลุ่มนี้เชื่อว่าไม่กระทบแน่นอนเพราะค่อนข้างมีความมั่นคง กลุ่มสถาบันเกิดใหม่ที่มีอาชีวะเป็นฐานเชื่อว่า ไม่มีปัญหาเพราะมีระบบส่งต่อผู้เรียนอย่างเป็นระบบ และกลุ่มมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก ยอมรับว่ามีกระทบบ้างและในปีนี้อาจปิดตัวลง 2-3 แห่ง แต่ถือว่าไม่มาก

“จากแนวโน้มดังกล่าวส่วนตัวเห็นว่า ไม่ควรมีการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเพิ่ม ทั้งมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน เพราะเท่าที่มีอยู่ก็ถือว่ามาก และเริ่มกระทบกับคุณภาพการจัดการศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ที่ต้องหาวิธีเอาตัวรอด เปิดหลักสูตรตั้งแต่ปริญญาตรี โท และเอก ที่ไม่มีคุณภาพ เพื่อดึงดูดให้คนมาเรียนทำให้เกิดปัญหา ดังนั้นคิดว่ามหาวิทยาลัยรัฐควรมีการยุบรวมและช่วยกันบริหารจัดการการศึกษา ส่วนมหาวิทยาลัยเอกชนเอง ก็ไม่อยากให้เปิดเพิ่ม ไม่อยากให้พากันมาตาย เพราะจากการสำรวจการเข้าเรียนของเด็ก ตั้งแต่ระดับประถมน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด แสดงให้เห็นว่าตัวป้อนนักศึกษาที่จะเข้าเรียนในอนาคตก็จะน้อยลงไปด้วย ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเพราะปัจจุบันคนนิยมอยู่เป็นโสดมากขึ้น หรือแต่งงาน แต่ไม่อยากมีลูก ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นแนวโน้มชัดเจน” น.ส.จันทร์จิรากล่าว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์