“บิ๊กตู่” เดินหน้าปฏิรูปอาชีวะ สั่ง ศธ.เฟ้น ปวช.ปี 3 ระดับหัวกะทิให้ทุน “ปวส.-ปริญญาตรี”

จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ได้สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เร่งดำเนินการปฏิรูปอาชีวศึกษาใหม่ ให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ ภาคธุรกิจ และทิศทางการพัฒนาประเทศ โดย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มอบหมายให้ นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.เป็นประธาน โดยจะเชิญกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ทั้ง 9 แห่ง รวมถึง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มาหารือทิศทางการปรับหลักสูตร และปลดล็อคข้อจำกัดต่างๆ ให้ผู้ที่จบอาชีวะเรียนต่อปริญญาตรีได้ ในวันที่ 10 มกราคม รวมทั้ง จะหารือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อการันตีวุฒิการศึกษา และปรับเพิ่มเงินเดือนให้ผู้ที่จบสายอาชีพนั้น

เมื่อวันที่ 8 มกราคม นพ.อุดม เปิดเผยว่า ได้หารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งได้ย้ำให้ ศธ.เร่งดำเนินการปฏิรูปอาชีวะให้เป็นรูปธรรม และถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ในการผลิตกำลังคนเพื่อพัฒนาประเทศ แม้จะมีระยะเวลาไม่นาน แต่ถือเป็นการเริ่มต้นเพื่อวางแนวทางสำหรับอนาคต ทั้งนี้ ในส่วนของการดำเนินการยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่นอน เบื้องต้นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการมี 3 แนวทาง คือ 1.ยกประสิทธิภาพ และคุณภาพ ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ให้ดีขึ้น เพื่อให้ผลิตกำลังคนตอบโจทย์การพัฒนาประเทศให้ได้ คิดว่าหน่วยงานที่จะเป็นต้นแบบได้ทันทีคือ แนวทางของวิทยาลัยแห่งชาติว่าด้วยเทคโนโลยีโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเท่าที่ทราบบางวิทยาลัยที่มีศักยภาพได้ใช้หลักสูตรของโคเซ็นอยู่แล้ว ดังนั้น แนวทางอาจกระจายหลักสูตร และวิธีการเรียนการสอนแบบโคเซ็นให้มากขึ้น 2.การพัฒนาศักยภาพผู้เรียนอาชีวะให้มีความเชื่อโยงกับระบบมหาวิทยาลัย สามารถเทียบโอนหน่วยกิตร่วมกันได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ต้องปรับมาตรฐานหลักสูตรทั้งของ สอศ.และของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ให้เชื่อมโยงกันอย่างจริงจัง ต่อไปการเรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือเทียบเท่าระดับอนุปริญญา จะให้ใช้มาตรฐานหลักสูตรเดียวกับมาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี เพื่อให้เรียนต่อเนื่องได้ทันที

นพ.อุดมกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ช่องทางการพัฒนาศักยภาพเพื่อให้ได้ปริญญาตรี เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ควรทำ แต่ส่วนตัวไม่อยากให้ผู้ที่เรียนสายอาชีพมาใช้ช่องทางนี้ทั้งหมด เพราะจุดเด่นของอาชีวะเป็นเรื่องของการเรียนสายปฏิบัติ เป็นการเรียนเพื่อเพิ่มสมรรถนะ ดังนั้น อยากให้ผู้เรียนทางด้านนี้เติบโตทางสายอาชีพโดยตรง ให้พัฒนาสมรรถนะ ใช้ทักษะชั้นสูง โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ดังนั้น แนวทางที่ 3 จะต้องหารือกับสำนักงาน ก.พ.ปรับฐานเงินเดือนให้ผู้ที่จบสายอาชีพ ทั้งนี้ หากเป็นสายวิชาชีพที่ตอบโจทย์ และเป็นการต้องการของประเทศ มีความเป็นไปได้ที่จะการันตีเงินเดือนได้สูงกว่าระดับปริญญาตรี เพราะเราไม่ต้องการให้ผู้เรียนสายอาชีพมาเรียนปริญญาตรีทั้งหมด เพราะจะกลายเป็นนักวิชาการ ดังนั้น จึงอยากให้คงความเข้มข้นในสายปฏิบัติไว้ เช่น วิชาชีพแพทยศาสตร์ ซึ่งได้รับการรันตีเงินเดือนในระดับปริญญาเอก

“วันที่ 10 มกราคมนี้ ผมเชิญ มทร., มจพ., สจล. และ มจธ.มาหารือ เชื่อว่าการปฏิรูปอาชีวะ สามารถทำได้แน่นอน เพราะช่วงเริ่มต้นเราไม่ได้ทำกับสถานศึกษาในสังกัด สอศ.ทั้งหมด 400 กว่าแห่ง แต่จะนำร่องกลุ่มสถานศึกษาที่มีศักยภาพ ซึ่งได้เสนอให้พิจารณาให้ทุนเด็กหัวกะทิมาเรียนต่อในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศก่อน โดยผมเสนอให้เริ่มตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เรียนต่อจนถึงระดับปริญญาตรี หรือสูงขึ้นกว่านั้น แต่นายกฯ กังวลว่าช่วงเริ่มต้น หากเริ่มตั้งระดับ ปวช.ปี 1 อาจไม่ทัน ดังนั้น เป็นไปได้ว่าช่วงเริ่มต้นจะให้ทุนผู้ที่จบ ปวช.ปี 3 เข้าเรียนต่อ ปวส.และปริญญาตรีก่อน ถ้าสถานศึกษาใดในสังกัด สอศ.ทำได้ จะให้งบประมาณเป็นเงินรายหัว แต่ต้องเป็นสาขาที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ เช่น รถไฟฟ้าระบบราง ช่างอากาศยาน หลักสูตรโรโบติกส์ หลักสูตรแมคคาทรอนิกส์ หลักสูตรการท่องเที่ยว และหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ เป็นต้น” นพ.อุดมกล่าว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์