อาชีวะ จับมือเกรท วอลล์ฯ พัฒนาต้นแบบชุดฝึกยานยนต์สมัยใหม่

อาชีวะ จับมือเกรท วอลล์ฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร พัฒนาต้นแบบชุดฝึกยานยนต์สมัยใหม่จากรถยนต์จริง เป็นสื่อการเรียนการสอน เตรียมกำลังคนรองรับการเติบโตอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

วันที่ 25 กรกฎาคม 2565 กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการในการพัฒนาทักษะผู้เรียนและผู้สอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ด้านยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนร่วมกันศึกษา ออกแบบ เพื่อพัฒนาต้นแบบชุดฝึกยานยนต์สมัยใหม่จากรถยนต์จริง

โดยมีคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน พร้อมด้วยนายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภานวีย์ โภไคยอุดม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร นายไมเคิล ฉง รองประธานกรรมการ บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเข้าร่วม

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการสนับสนุน พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับนักเรียนอาชีวศึกษา เพื่อผลิตกำลังคนที่มีความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นเชิงเทคโนโลยี ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นหัวจักรของอาชีวศึกษาในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวให้กับภาคการผลิตและบริการ

โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมยายนต์ไฟฟ้าที่ปัจจุบันมีทิศทางการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาครัฐให้ความสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่สังคมยานยนต์ไฟฟ้า และประเทศไทยมีศักยภาพที่จะก้าวสู่ศูนย์กลางผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอาเซียนได้

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการอาชีวศึกษามาต่อเนื่อง กำลังคนอาชีวศึกษา ถือว่ามีบทบาทสำคัญทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม รวมถึงภาคธุรกิจบริการ อาชีวศึกษาจึงต้องเร่งสร้างขีดความสามารถในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีทักษะที่จำเป็น

โดยเฉพาะอาชีวะฐานวิทย์เพื่อให้มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องเร่งสร้างและพัฒนานักเทคโนโลยี ที่สามารถผสมผสานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เข้ากับทักษะช่าง เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมถึงสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ เพื่อจะนำไปสู่การยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยีให้ภาคการผลิตและบริการของประเทศให้มีศักยภาพสูงขึ้น”

คุณหญิงกัลยากล่าวต่อว่า การร่วมมือครั้งนี้ทั้ง 3 หน่วยงานเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างทักษะให้กับนักเรียน นักศึกษาระดับอาชีวศึกษา ได้มีความรู้ในเทคโนโลยีด้านยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงร่วมกันพัฒนาต้นแบบชุดฝึกยานยนต์สมัยใหม่จากรถยนต์จริง เพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอนด้านยานยนต์ไฟฟ้าของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่งเชื่อว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นของทุกภาคส่วนจะนำพาให้การจัดการอาชีวศึกษาบรรลุสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จได้ในอนาคต

ด้าน ดร.ศุภชัย ศรีหล้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะพัฒนานักเรียน นักศึกษา และครูในสถานศึกษาให้มีความรู้ ความเข้าใจในกระแสการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนการเตรียมกำลังคนให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียานยนต์ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง ซึ่งการพัฒนาอาชีวะฐานวิทย์ให้มีความก้าวไกลจะเป็นอีกคำตอบหนึ่งของการพัฒนาประเทศ และเชื่อว่าในอนาคตประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อมในการเป็นฐานการผลิต และศูนย์กลางธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน หรือเอเชียได้อย่างแน่นอน

ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวเสริมว่า ความร่วมมือจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะทางวิชาชีพของนักเรียนระดับอาชีวศึกษาในโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 แห่งที่อยู่ภายใต้ความดูแลของ สอศ.พร้อมกับช่วยยกระดับการเรียนการสอนขึ้นไปอีกขั้นผ่านการฝึกฝนและสร้างเสริมประสบการณ์จริง เพื่อผลิตบุคลากรคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงานสำหรับขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่ให้กับประเทศไทย


โดย สอศ.จะช่วยประสานงานกับสถานศึกษาที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งให้คำแนะนำและข้อมูลสำหรับการพัฒนาต้นแบบชุดฝึกยานยนต์สมัยใหม่ และการประยุกต์ดัดแปลงต้นกำลังและแหล่งพลังงานจากมอเตอร์และแบตเตอรี่จากยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนร่วมติดตามประเมินผลและปรับปรุงการประสานงานความร่วมมือให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ