สจล.แนะพัฒนา กทม. ให้เป็น “สมาร์ท ซิตี้” บอกลาปัญหาฝนตก-น้ำท่วม-รถติด

ผศ.ดร.ชินวัชร์ สุรัสวดี

“ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ทุกวันนี้ชีวิตคนเมืองหลวงต้องเผชิญกับปัญหาหลากหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่สภาพอากาศแปรปรวน เกิดฝนตกหนักเป็นระยะเวลานานเกินกว่าศักยภาพการระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร ส่งผลทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังและรถติดเป็นอัมพาตยาวนาน จนกลายเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“แม้ว่าที่ผ่านมาหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามหาทางแก้ไข แต่ในทางปฏิบัติยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดข้อมูลข่าวสารที่ช่วยในการตัดสินใจ การวางแผน และการวิเคราะห์”

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

เพื่อหาทางลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที เป็นเหตุทำให้การแก้ไขและจัดการปัญหาต่างๆ ใน ล่าช้าไม่ทันสถานการณ์ อย่างเช่นเหตุการณ์ฝนตกหนักเมื่อช่วงเช้าวานนี้ ที่ชาวกรุงเทพมหานครได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทาง สจล. นั้นสามารถทำนายล่วงหน้าได้แล้วว่าฝนจะตกจุดไหน เวลาเท่าไร

“เพราะเรามีแอพพลิเคชั่นพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้มมูลไปใช้ จะช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ลดการสูญเสียทางด้านเวลา ค่าใช้จ่าย และสุขภาพจิต”

“กทม. ต้องก้าวข้ามปัญหาและข้อจำกัดเดิมๆ โดยการพัฒนาสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีอันชาญฉลาด ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือฝนตก น้ำท่วม รถติด ทั้งสามเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อกันเป็นทอดๆ ปัญหานี้ไม่เพียงเกิดจากระบบการทำงานที่ไม่เท่าทันสถานการณ์ แต่ยังรวมไปถึงความรวดเร็วในการส่งต่อข้อมูลข่าวสาร จากหน่วยงานรัฐไปถึงมือประชาชนด้วย”

ฉะนั้น หากมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงาน ทั้งในแง่ของการพยากรณ์อากาศที่มีความแม่นยำสูง การประสานข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกประกาศคำแนะนำต่อประชาชนได้อย่างทันท่วงที จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกรุงให้ดีขึ้นได้

“ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา” สถาบันวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจจริยะ (Smart City innovative Research Academy – SCiRA) สจล. ให้ข้อมูลว่า สจล. ได้ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาและผลกระทบดังกล่าว เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพมหานครให้ดีขึ้น โดยจัดตั้ง SCiRA เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนากรุงเทพมหานคร สู่การเป็นเมือง Smart City ที่สมบูรณ์แบบ

ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา

โดยการจัดการและพัฒนาเมืองในอนาคตอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องศึกษาและปรับทุกระบบให้พร้อมในหลายด้าน โดยเฉพาะระบบเตือนภัยพิบัติอัจฉริยะ (Smart Disaster) ระบบการขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) ระบบสาธารณูปโภคอัจฉริยะ (Smart Infrastructure) ระบบสารสนเทศอัจฉริยะ (Smart IT) และระบบเศรษฐศาสตร์อัจฉริยะ (Smart Economy) เนื่องจากระบบเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนโดยตรง ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบการใช้ที่ดินอัจฉริยะ (Smart Land Use) ระบบการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) ระบบสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) ระบบพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ระบบสุขภาพอัจฉริยะ (Smart Health) และระบบอาหารอัจฉริยะ (Smart Food)

“SCiRA จะทำหน้าที่เป็นศูนย์ปฎิบัติการที่คอยรวบรวมองค์ความรู้และข้อมูล เผยแพร่ไปสู่ผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป ด้วยรูปแบบที่เข้าใจง่าย เพื่อให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว”

“ผศ.ดร.ชินวัชร์ สุรัสวดี” ผู้รับผิดชอบโครงการจัดตั้งวิทยาลัยวิศวกรรมอากาศและระบบโลก (SESE) สจล. กล่าวเสริมว่า เนื่องจากสภาพอากาศของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วฉับพลัน ประชาชนจึงควรหมั่นตรวจสอบสภาพอากาศ เพื่อวางแผนการดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ด้วยการตรวจเช็กผ่านแอพพลิเคชั่น WMApp ซึ่งมีความแม่นยำและความละเอียดสูงที่สุด

โดยสามารถระบุตำแหน่งพื้นที่ พร้อมบอกความหนักเบาและเวลาที่ฝนจะตก ได้ทั้งระยะสั้นล่วงหน้า 28 ชม. (1 วัน) และระยะยาวล่วงหน้า 5.5 วัน อันเป็นผลมาจากการวิจัยพัฒนาอัลกอริทึมประมาณค่าหยาดน้ำฟ้า (ฝน หิมะ ลูกเห็บ) จากการสังเกตของดาวเทียม และพัฒนาระบบพยากรณ์อากาศเชิงเลขความละเอียดสูงสำหรับเขตร้อน (Tropics) ต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปี ซึ่งใช้ได้ทั้งระบบปฏิบัติการ Android และ iOS และเพื่อความสะดวกในการอัพเดทข้อมูล

“นอกจากนั้น เราได้เปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจ สจล. พยากรณ์อากาศประเทศไทย ขึ้นอีกหนึ่งช่องทาง เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงข้อมูลการพยากรณ์อากาศได้สะดวกยิ่งขึ้น