เปิดวันเด็กใน 11 ประเทศ พบมาตรการ “ดึงเด็กมีส่วนร่วมพัฒนา-รับฟังเสียงเด็ก”

ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “ วันเด็ก … ขอนโยบายดีกว่าคำขวัญ”

“ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ” ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว กล่าวว่า งานวันเด็กของประเทศไทยเกิดขึ้นเป็นเวลา 61 ปี ส่วนใหญ่เน้นกิจกรรมการละเล่นที่แต่ละหน่วยงานจัดขึ้น และการให้คำขวัญวันเด็กจากทุกรัฐบาล

โดยพบ 6 คำสำคัญที่ถูกใช้ซ้ำ ได้แก่ อันดับ 1 วินัยและการเรียน 18 ครั้ง ตามด้วยชาติ 17 ครั้ง คุณธรรม 15 ครั้ง ขยัน 11 ครั้ง ประหยัด สามัคคี ซื่อสัตย์ 9 ครั้ง และประชาธิปไตย 4 ครั้ง ซึ่งล้วนเป็นการสะท้อนถึงสิ่งที่ผู้ใหญ่ในสังคมคาดหวังต่อเด็กมาทุกยุคสมัย

ขณะที่ข้อค้นพบที่น่าสนใจจากการศึกษาวันเด็กใน 11 ประเทศ พบว่า มีการจัดทำนโยบายที่สำคัญด้านเด็ก การเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในกิจกรรม และการรับฟังเสียงเด็ก โดยประเทศที่เด็กมีส่วนร่วมจัดกิจกรรม เช่น อังกฤษ จัดตั้งกองทุนอิสระ #iwill เพื่อส่งเสริมให้เด็กเยาวชนอายุ 10-20 ปี เป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคม

ขณะที่โรมาเนีย ส่งเสริมให้เด็กมีส่วนร่วมลดความรุนแรงในโรงเรียน และพัฒนาคู่มือเล่นเกมสำหรับใช้จัดกิจกรรมในสถานศึกษา ส่วนประเทศที่มีมาตรการชัดเจนในการแก้ปัญหาเด็กเยาวชนอย่างฝรั่งเศส เน้นแก้ปัญหาเด็กติดมือถือ โดยออกเป็น “กฎระเบียบ ก.ย. 2018” ห้ามนักเรียนชั้นประถมและมัธยมต้นใช้มือถือในโรงเรียน เพื่อลดปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าว สมาธิสั้น ไม่ออกกำลังกาย

ประเทศไอซ์แลนด์ แก้ปัญหาวัยรุ่นเป็นนักดื่มหนักที่สุดในยุโรป โดยโครงการ Youth in Iceland สามารถทำให้สถิติวัยรุ่นดื่มสุรา บุหรี่ และยาเสพติดลดลงอย่างชัดเจนผ่านการส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ ทางด้านประเทศลัตเวีย พยายามลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของชาวโรมาชนกลุ่มน้อยผ่านโครงการฝึกครูผู้ช่วยชาวโรมา เพื่อส่งเสริมให้เด็กโรมาเรียนร่วมกับนักเรียนคนอื่น และพัฒนาชาวโรมาให้เป็นครูผู้ช่วยเพื่อดึงเยาวชนเข้าสู่ระบบการศึกษา

ในส่วนของประเทศสหรัฐอเมริกา เน้นการแก้ปัญหายาเสพติด เพศ และการฆ่าตัวตายในกลุ่มเด็กเยาวชน จึงทำโครงการ Let’s Talk รณรงค์การพูดคุยในครอบครัวเชิงบวก และประเทศฟินแลนด์ มีพ.ร.บ.สวัสดิการเด็ก เพื่อปฏิรูปการดูแลเด็กทั่วประเทศ ทั้งสิทธิการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นของเด็ก เงินสนับสนุนเด็กและครอบครัว และกิจกรรมสร้างสรรค์

สำหรับประเทศออสเตรเลีย มีการออกกฎหมายและตั้งคณะกรรมการอิสระ รักษาความปลอดภัยสำหรับเด็กบนโลกออนไลน์ พร้อมกับมีบริการสายด่วนให้คำปรึกษาเด็กเยาวชนเพื่อป้องกันความรุนแรงบนโลกไอที

ประเทศที่รับฟังเสียงเด็กอย่างสวีเดน มีการสำรวจความคิดเห็นเด็ก 12-16 ปีทั่วประเทศ ในโครงการ Young Voices เพื่อนำไปสื่อสารกับผู้กำหนดนโยบายจากเสียงของเด็กเยาวชน ขณะที่ประเทศเยอรมนี ใช้โอกาสวันเด็กรณรงค์เรื่องสิทธิเด็ก เช่น ปี 2017 ใช้ชื่อ Give children a voice เพื่อให้เด็กได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อสภาในการกำหนดนโยบาย

นอกจากนัั้น ประเทศแคนาดา มี “วันพา ส.ส. ไปโรงเรียน” เป็นกิจกรรมประจำวันเด็กแคนาดา โดยส.ส. จะต้องเยี่ยมโรงเรียนในพื้นที่ตนเอง 1 ชั่วโมง เพื่อเปิดโอกาสให้ส.ส.และนักเรียนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้จักกันและกัน

“ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า สำหรับวันเด็กไทย จากผลสำรวจความคิดเห็นเด็กเยาวชนและประชาชนทั่วไป ในหัวข้อ “วันเด็ก…ขอนโยบายดีกว่าคำขวัญ” จำนวน 1,503 คน ระหว่างวันที่ 25 ธ.ค.60 – 8 ม.ค. 61 ว่า เมื่อพูดถึงวันเด็กคนส่วนใหญ่นึกถึงของขวัญ เช่น รางวัลและของเล่น ตามด้วยของกิน กิจกรรม ความสุข และคำขวัญ

ส่วนคำถามนโยบายสำคัญสำหรับเด็กที่ผ่านมา 3 อันดับแรกคือ การสนับสนุนการศึกษา ตามด้วยไม่ทราบ และการส่งเสริมคุณธรรม ขณะที่คนส่วนใหญ่มองว่านโยบายที่สำคัญสำหรับเด็กในอนาคตคือเรื่องการศึกษา โดยมีผู้ตอบถึง 23% เช่นเดียวกับความคาดหวังต่อรัฐบาลที่อยากให้สนับสนุนยังคงเป็นเรื่องการพัฒนาการศึกษาถึง 33%

ทั้งนี้ มุมองของคนในสังคมยังให้ความสำคัญกับเด็ก โดยคนส่วนใหญ่มองว่าวันเด็กของไทยเป็นแสดงถึงความรักเด็ก 71% และ 28% มองว่าหลอกเด็ก ส่วนอีก 1% นั้นไม่ตอบ

สำหรับคำถามกิจกรรมวันเด็กส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก 75% เห็นด้วย ขณะที่ 25% ไม่แน่ใจและไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ 57% มองว่าสังคมไทยเปิดโอกาสและมีช่องทางให้เด็กได้แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา

อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นเกี่ยวกับมุมมองประเทศไทยมีระบบการศึกษาและวัฒนธรรมการเรียนรู้ในห้องเรียนที่ตอบโจทย์ศักยภาพเด็ก 45% เห็นด้วย 27% ไม่เห็นด้วย และ 28% ไม่แน่ใจ ส่วนมุมมองกฎหมายไทยช่วยปกป้องคุ้มครองเด็กอย่างเท่าเทียม 48% เห็นด้วย 34% ไม่แน่ใจ และ 18% ไม่เห็นด้วย

“ศ.ดร.สมพงษ์” ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งทั้งกฎหมายคุ้มครองเด็กที่ก้าวหน้าดูแลเด็กทุกช่วงวัย มีกองทุนสำหรับเด็กด้อยโอกาส กระนั้น หากดูจากสิทธิเด็กทั้ง 4 ด้าน จะพบว่า 1.สิทธิการมีชีวิตรอด เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีของไทย 10.5% หรือ 3.9 แสนคนยังมีปัญหาภาวะทุพโภชนาการ

2.สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา โดยพบว่า เด็ก 2 ใน 10 ไม่ได้เข้าเรียนในหลักสูตรปฐมวัย ทั้งที่เป็นวัยรากฐานของการพัฒนาสมองและพัฒนาการที่สำคัญ

3.สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง พบว่าเด็ก 8 ใน 10 คน เคยถูกใช้ความรุนแรงด้านร่างกายและจิตใจจากคนในครอบครัว และเกินครึ่งเคยได้รับการอบรมโดยการทำร้ายร่างกาย และ 4. สิทธิการมีส่วนร่วม โดยมุมมองของเด็กที่มีต่อการมีส่วนร่วมพบว่า วัฒนธรรมห้ามเถียง ไม่เชื่อว่าเด็กทำได้

“ประเทศไทยไม่ควรให้วันเด็กเป็นเพียงกิจกรรม ทิศทางวันเด็กในปีต่อไปควรปฏิรูปงานวันเด็กให้มีนโยบายและทิศทางสำหรับเด็ก รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กอย่างแท้จริง”