ร.ร.กวดวิชาดิ้นหนีตาย เจาะอินเตอร์-ประถมสู้

กวดวิชาดังรายได้หด 10-15% เคมี อ.อุ๊-เดอะเบรน-ออนดีมานด์ ปรับกลยุทธ์ หันเจาะตลาดอินเตอร์-นร.ประถม ถล่มโปรฯลด 30% ผ่อนผ่านบัตรเครดิต ทำตำราพูดได้เรียนผ่าน QR Code ออกแอปพลิเคชั่นเพื่อหวังดึงกลุ่มผู้เรียนใหม่

นายอนุสรณ์ ศิวะกุล ประธานชมรมการศึกษาทางเลือก และประธานผู้บริหาร บริษัท วรรณสรณ์ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ฉายภาพรวมของตลาดโรงเรียนกวดวิชาว่า ด้วยจำนวนประชากรเด็กเกิดใหม่มีจำนวนลดลง กอปรกับเศรษฐกิจที่ซบเซามาหลายปี จึงส่งผลให้จำนวนเด็กที่เรียนโรงเรียนกวดวิชาลดน้อยลง ทั้งยังมีการแข่งขันค่อนข้างสูง จึงทำให้ผู้ประกอบธุรกิจจำต้องรักษาฐานผู้เรียนของตัวเอง แม้จะมีการออกโปรโมชั่น และลดแลกแจกแถมมากขึ้น แต่โดยเฉลี่ยภาพรวมของธุรกิจกวดวิชากลับมีรายได้ลดลงประมาณ 10-15%

ส่วนอีกปัจจัยที่มีผลกระทบ คือ จำนวนที่นั่งในมหาวิทยาลัยมีมากกว่าจำนวนนิสิต นักศึกษา ดังนั้นเมื่อไม่มีการแข่งขันกันเพื่อแย่งที่นั่งในมหา’ลัย จึงส่งผลให้มีการกวดวิชาลดลงอย่างมาก ยกเว้นคณะที่มีอัตราการแข่งขันสูง อย่างสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือผู้ที่ต้องการเข้ามหา’ลัยมีชื่อเสียง พวกเขาก็จะเลือกมากวดวิชา นอกจากนั้นจากการที่ติวเตอร์บางแห่งเปิดติวฟรีออนไลน์ ทำให้เด็กที่มีกำลังซื้อน้อยเลือกไปติวผ่านออนไลน์แทน

“สำหรับปีนี้ผมมองว่า ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชายังคงทรงตัวต่อเนื่อง ไม่มีวันกลับไปกระเตื้อง และเติบโตเหมือนช่วงผ่านมาอีกแล้ว และการเติบโตต่อจากนี้จะเป็นการเติบโตแบบทรงตัว จนถึงจุดหนึ่งจะคงที่ ดังนั้นโรงเรียนกวดวิชาแต่ละแห่งจึงน่าจะทำกำไรเพียง 10% เพื่อประคองธุรกิจให้สามารถอยู่ได้”

ทั้งนั้นจากเทรนด์ที่เด็กนิยมเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าโรงเรียนอินเตอร์ หรือโรงเรียนสองภาษา เพราะมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย อีกทั้งมหาวิทยาลัยมีการเปิดหลักสูตรอินเตอร์มากขึ้น ส่งผลให้โรงเรียนกวดวิชาต้องปรับตัวเพื่อรองรับเทรนด์นี้ด้วย อย่างโรงเรียนกวดวิชาวรรณสรณ์ หรือเคมี อ.อุ๊ เพิ่งจะเปิดคอร์ส ม.ต้น อินเตอร์ ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยเป็นการสอนภาษาอังกฤษกับนักเรียน 30 คน/กลุ่ม โดยเน้นการกวดวิชาผสมผสานกับการทดลอง และทำกิจกรรม หากผลตอบรับเป็นไปค่อนข้างดีจะต่อยอดไปสู่ผู้เรียนกลุ่มใหญ่ขึ้น และอาจขยับไปสู่กลุ่มนักเรียนชั้น ม.ปลาย ต่อไป

นายมนตรี นิรมิตศิริพงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนกวดวิชา วี บาย เดอะเบรน (WE by The Brain) กล่าวว่า ถึงแม้ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยจะดีขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของการส่งออก แต่หากมองเศรษฐกิจในภาพรวม หลายภาคส่วนกลับรายได้ลดลง จึงส่งผลต่อกำลังซื้อที่ครอบคลุมถึงการจ่ายเงินของผู้ปกครองที่จะให้ลูกมาเรียนกวดวิชา เห็นได้จากจำนวนคอร์สที่ลดลง และจากเดิมที่เคยเรียนครั้งละสองวิชา ก็ลดลงเหลือเพียงเรียนวิชาเดียว

“การเติบโตของโรงเรียนกวดวิชา วี บาย เดอะเบรน ในปี 2560 ลดลง 7-8% เมื่อเทียบกับปี 2559 ถึงแม้เราจะออกโปรโมชั่นลด 30% เมื่อสมัครเรียน 2 วิชาขึ้นไป แต่การตอบรับจากผู้เรียนต่อโปรโมชั่นนี้ยังน้อยอยู่”

นายมนตรีกล่าวต่อว่า สถานการณ์ของปี 2561 คาดว่าไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยเศรษฐกิจเป็นตัวแปรสำคัญ การปรับตัวของวี บาย เดอะเบรน นอกจากจะใช้กลยุทธ์ด้านโปรโมชั่น ยังมีการร่วมมือกับบัตรเครดิต เพื่อให้ผู้เรียนสามารถแบ่งจ่ายได้ และไม่รู้สึกว่าต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ในครั้งเดียว นอกจากนั้น เตรียมปรับคอร์สเรียนให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนให้ได้มากที่สุด

“ตอนนี้คอร์สเรียนพื้นฐานอย่างโอเน็ต เด็กไม่ค่อยเรียนแล้ว เพราะรู้ว่าไม่ยาก แต่จะไปเลือกเรียนวิชาสามัญ และ PAT หรือเรียนในวิชาอื่นที่มองว่ามีความยากจริง ๆ ซึ่งเราจะดูว่าปีนี้เด็กนิยมเลือกสอบแบบไหน แล้วจึงจะสรุปกันในเร็ว ๆ นี้ว่าจะลด/เพิ่มคอร์สเรียนใด หรือเน้นหนักวิชาใดเป็นพิเศษ”

นายสุธี อัสววิมล ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนกวดวิชาออนดีมานด์ กล่าวว่า การปรับการสอบจากแอดมิสชั่นมาเป็นระบบ TCAS กระทบกับธุรกิจพอสมควร เพราะการสอบ GAT/PAT เหลือเพียงรอบเดียว ดังนั้นคอร์สเรียนที่เคยเปิดต้องลดลง อีกทั้งเศรษฐกิจไม่ดีส่งผลให้นักเรียนบางกลุ่มมีกำลังซื้อน้อยลง จำนวนวิชาที่เลือกเรียนจึงลดตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี ในภาพใหญ่ของธุรกิจกวดวิชาถือว่าค่อนข้างหดตัว แต่มีกลุ่มกำลังซื้ออื่นอย่างนักเรียนที่ติวเพื่อสอบเข้าหลักสูตรอินเตอร์ และนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ซึ่งสองกลุ่มนี้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และสามารถเข้ามาชดเชยบางพอร์ตของธุรกิจได้ โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยเปิดรับนักศึกษาใหม่หลักสูตรอินเตอร์ปีละ 13,000 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจาก 3-4 ปีก่อนที่มี 4,000 ที่นั่ง

“เราเปิดทั้งคอร์สออนดีมานด์อินเตอร์ และประถมศึกษา เพื่อเสริมพอร์ตระดับมัธยมศึกษา โดยแต่ละปีมีเด็กมาเรียนออนดีมานด์กว่า 70,000 คน ตั้งเป้าว่าปีཹ เติบโตประมาณ 10% กระนั้น สิ่งที่น่ากังวล คือ ปริมาณการซื้อคอนเทนต์ต่อคนลดลงมาก อันมาจากหลายปัจจัย เช่น เด็กมีสมาธิลดลง และผู้ปกครองมีกำลังซื้อลดลง เพราะเศรษฐกิจซบเซา ซึ่งปีที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ลำบากของโรงเรียนกวดวิชา ส่วนปีนี้คาดว่าตลาดยังคงฝืดอยู่ ก่อนที่จะกระเตื้องอีกครั้งในปี 2562”

นอกจากนั้นเพื่อรับกับไลฟ์สไตล์ของนักเรียนยุคใหม่ ออนดีมานด์จึงจัดทำตำราพูดได้ หรือ X-map ด้วยการทำเป็น QR code ของแต่ละบทเรียนเพื่อเป็นวิดีโอสรุปเนื้อหา อีกทั้งปีนี้ยังจัดทำแอปพลิเคชั่นรวบรวมข้อมูลในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยผ่านระบบ TCAS พร้อมวิเคราะห์วิชาที่ต้องอ่านตามคณะที่เลือกสอบ ซึ่งเชื่อว่าการทำแอปพลิเคชั่นใหม่ ๆ จะสามารถสร้างแบรนด์และดึงดูดผู้เรียนมายังออนดีมานด์ได้มากขึ้น