สนใจไหม! mu Space แหกกฎสตาร์ทอัพไทย จับมือ Blue Origin เปิดทัวร์ “อวกาศ” แห่งแรกในเอเชีย

เที่ยวในประเทศ เที่ยวต่างประเทศ อาจจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ

หากในอนาคตการท่องเที่ยวประเภท “ทัวร์อวกาศ” จะเริ่มแพร่หลายในโลกมนุษย์มากขึ้น

จากรายงานของ Bank of America Merrill Lynch (BofA) มีการคาดการณ์ว่าในอนาคตอีก 30 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมอวกาศทั่วโลกจะมีมูลค่าประมาณ 88.2 ล้านล้านบาท  

ซึ่งปัจจุบันมีเพียง  Blue Origin, SpaceX และ Virgin Galactic เท่านั้น ที่เป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอวกาศ 

แต่ขณะนี้มีสตาร์ทอัพไทยเจ้าหนึ่ง ที่ “ฉีกกฎ” สตาร์ทอัพ ไม่ได้ทำสตาร์ทอัพด้านการแนะนำสถานที่ชิมอาหาร ท่องเที่ยว หรือ ประเภทฟินเทค เกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ

ที่กำลังจะเอ่ยถึงต่อไปคือสตาร์ทอัพด้านอวกาศสัญชาติไทยชื่อว่า “mu Space” มี “วรายุทธ (เจมส์) เย็นบำรุง” อดีตวิศวกรและผู้จัดการโครงการ Satellite, Unmanned Aviation System (ระบบดาวเทียมและโดรน) ให้บริษัท Northrop Grumman Corporation ซึ่งเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีอวกาศและการป้องกันประเทศ อันดับต้นๆของโลก

หลังจากอยู่ต่างประเทศมา 14 ปี จึงหันมาชิมลางสตาร์ทอัพอวกาศแห่งแรกของเอเชีย โดยเริ่มต้นจับมือกับพันธมิตรที่เป็นอุตสาหกรรมด้านอวกาศของโลก เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวอวกาศในอนาคต

“วรายุทธ” กล่าวว่า  มิว สเปซฯ ได้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรร่วมกับ บริษัท Blue Origin ของ Jeff Bezos ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Amazon.com และมีความสนใจเรื่องเทคโนโลยีอวกาศ โดยมิว สเปซฯ จะมีการส่งดาวเทียมที่กำลังพัฒนาอยู่ไปกับจรวด New Glenn ในปี 2564  รวมถึงความร่วมมือในการท่องเที่ยวอวกาศด้วยแคปซูลอวกาศ New Shepard ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาเช่นกัน คาดว่าจะมีการทดสอบในเร็วๆ นี้  

“ทำให้เราตัดสินใจเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ ซึ่งจะเป็นที่แรกของเอเชียและประเทศไทยมีทำเลที่เหมาะสม เพราะเป็นประเทศเป้าหมายของนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว และจะเป็นผลดีต่อประเทศไทยในการพัฒนาองค์ความรู้เรื่องอวกาศ ซึ่งจะมีความสำคัญในอนาคตและหลายประเทศกำลังพัฒนาเรื่องนี้อย่างจริงจัง  แม้ปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงอวกาศจะมียังราคาที่สูงอยู่ แต่ในอนาคตราคาจะถูกลงกว่านี้ เพราะมีการใช้จรวดที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Reuseable Rocket) ซึ่งทั้ง SpaceX และ Blue Origin กำลังพัฒนาอยู่” นายวรายุทธ กล่าว

แม้ขณะนี้ “จรวด” ที่พานักท่องเที่ยวขึ้นไปดูหลังคาบ้านตัวเองจากนอกโลกยังอยู่ในขั้นพัฒนา

แต่ก็ไม่ไกลเกินจากสิ่งที่เรียกว่า “เป็นไปไม่ได้”