อดีต – ปัจจุบัน เบื้องหลัง “ไปรสนียาคาร” สู่ “ไปรษณีย์กลางบางรัก” ไฮไลท์ของงาน “อุ่นไอรักฯ”

“ร้านไปรสนีย์กรุงสยาม” ที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของกรุงสยาม ในบรรยากาศแบบย้อนยุคสมัยรัชกาลที่ 5 ภายในงาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว”

เป็นการจำลอง “อาคารไปรสนียาคาร” ที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของไทย

กระนั้น “ไปรสนียาคาร” ของจริงยังคงตั้งตระหง่านอยู่ย่านบางรัก

ที่เราคุ้นชื่อ คุ้นหูกันในกาลปัจจุบันคือ “ไปรษณีย์กลางบางรัก”

ไปรสนียาคาร หรือ ไปรษณีย์กลางบางรัก แต่เดิมพื้นดินตรงนั้นในรัชกาลที่ 4 เคยเป็นที่ตั้งของกงสุลอังกฤษ (ก่อนที่ในเวลาต่อมากงสุลอังกฤษได้ย้ายจากบางรักมาอยู่ย่านชิดลม ร้อยกว่าปีต่อมาได้เฉือนที่ดินส่วนหนึ่งจำนวน 9 ไร่ขายให้กับกลุ่ม “เซ็นทรัล” เพื่อเนรมิตเป็นห้าง “เซ็นทรัล เอมบาสซี” อย่างที่เห็นกันอยู่ และได้ขายที่ดินทั้งหมด 1.9 หมื่นล้านให้กับกลุ่มเซ็นทรัลที่จับมือกับกลุ่ม Hongkong Land มีแผนจะพัฒนาโครงการมิกซ์ยูส และเชื่อมการพัฒนาย่านชิดลม-เพลินจิต เพื่อให้เป็นแลนด์มาร์กใหม่ที่สมบูรณ์)

หลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง เงื่อนไขข้อหนึ่ง ไทยต้องยอมให้อังกฤษตั้งสถานกงสุล เพื่อใช้เป็นที่พิจารณาคดีคนในบังคับของอังกฤษ

แต่ทว่าการตั้งสถานทูต ต้องมีทั้งทำเลที่ตั้ง การคมนาคมสะดวก ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรหลักในยุคนั้น  การมาตั้งอาคารตามสถานที่ที่อังกฤษเล็งไว้จึงมีค่าใช้จ่ายสูง และเป็นที่ที่มีเจ้าของ จึงมีการกล่าวถึงราคาที่ดิน ตามที่มีหลักฐานพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 4 ทรงมีไปถึงนาย ซี.บี.ฮิลเลียร์ กงสุลอังกฤษคนแรก ว่า

ภาพด้านหน้าสถานกงสุลอังกฤษเดิม ที่ปรากฏอนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย ริมถนนเจริญกรุงก่อนที่ทางอังกฤษจะขายที่ดินให้กับรัฐบาลไทย และเอาเงินที่ได้จากการขายที่ดินไปซื้อที่ดินผืนใหม่บริเวณสี่แยก ถนนวิทยุตัดกับถนนเพลินจิตในปัจจุบัน (ภาพจาก เทพชู ทับทอง, อนุทินกรุงเทพฯ ภาพแห่งความทรงจ. น. ๒๗๔.)

“ส่วนใหญ่ของที่ดินใกล้เคียงกับสถานกงสุลโปรตุเกสนั้นเป็นของชาวมาเลย์และพม่า เราจะดำเนินการให้เจ้าของที่ดินเหล่านั้นขายที่ดินให้กับท่านในราคาตารางวาละ 1 บาท หรือต่ำกว่านั้นตามกฎหมายใหม่ของสยามและราชประเพณี แต่เรามีความลำบากเล็กน้อยเกี่ยวกับส่วนหนึ่งของที่ดินที่ท่านพอใจซึ่งเป็นของพระยาบรบาลสมบัติซึ่งเป็นขุนนางขึ้นกับพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ 2 ซึ่งเราไม่สามารถจะดำเนินการให้ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองขายในราคาดังกล่าวได้”

แต่ปรากฏว่าขณะนั้นทางกงสุลไม่มีเงินที่จะจ่ายค่าที่ดินที่ต้องการ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานเงินยืมให้เพื่อดำเนินการซื้อที่ดิน

แต่การดำเนินการซื้อที่ดินเป็นไปโดยไม่ราบรื่นนัก โดยมีคนในบังคับของอังกฤษคนหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งเป็นการผิดกฎหมาย ทำให้พระเจ้าอยู่หัวกริ้วและลงทัณฑ์โดยการโบย ซึ่งทำให้กงสุลอังกฤษประท้วงว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดสนธิสัญญาที่เพิ่งตกลงกัน เรื่องจึงลงเอยโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานที่ดินดังกล่าวให้กับทางอังกฤษ ดังปรากฏในจดหมาย ลงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2400 (ค.ศ. ๑๘๕๗) จากลอร์ด แคลเรนดอน (Lord Clarendon) ถึงนายชาร์ลส์ เบลล์ (Charles Bell) แห่งสถานกงสุลอังกฤษ มีสาระสรุปได้ว่า

“เราได้รับหนังสือของท่านฉบับที่ 29 ลงวันที่ 4 ธันวาคม ศกที่แล้ว ระบุว่าพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ 1ได้ทรงแจ้งท่านว่าเป็นพระราชประสงค์ของพระองค์ที่จะทรงมอบที่ดินที่เลือกโดยอดีตกงสุลฮิลเลียร์ สำหรับเป็นสถานกงสุลอังกฤษ โดยจะมีประกาศในเวลาเดียวกันว่าที่ดินดังกล่าวเป็นการมอบให้เพื่อชดเชยการที่มีการจับกุมและประหารชีวิตคนในบังคับของอังกฤษ และพระองค์ทรงให้คำมั่นว่าจะไม่มีการละเมิดสนธิสัญญาในลักษณะนี้อีก ท่านโปรดกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ ๑ ว่า พระราชประสงค์ดังกล่าวเป็นที่พอใจของรัฐบาลของสมเด็จพระราชินี”

อาคารไปรษณีย์กลางบนที่ดินสถานกงสุลอังกฤษเดิม ภาพถ่ายทางเครื่องบิน (ภาพจาก เทพชู ทับทอง, ภาพถ่ายประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ ย้อนยุค, น. ๙๑)

ขณะเดียวกันไม่มีการกล่าวถึงและคืนเงินที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ยืมเพื่อดำเนินการซื้อที่ดินผืนนี้แต่อย่างใด

แต่แล้วเมื่อการคมนาคมขนส่งย้ายจากแม่น้ำ ลำคลอง มาสู่ถนน อังกฤษก็ซื้อที่ดินย่านเพลินจิตตัดกับถนนวิทยุจากบริษัทนายเลิด เพื่อตั้งสถานกงสุลแห่งใหม่และกลายเป็นสถานทูตอังกฤษ (ที่เพิ่งขายให้กับกลุ่มเซ็นทรัลและเครือขายไปทั้งผืน)  โดยใช้เงินจากการขายสถานกงสุลเดิมย่านบางรัก ให้กับทางการไทย

ภาพเขียนเก่าอาคารไปรษณีย์กลางที่จะดำเนินการก่อสร้างบนที่ดินสถานกงสุลอังกฤษเดิม

ทั้งที่ ที่ดินผืนนั้นได้มาแบบฟรีๆ

และกลายเป็น “ไปรสนียาคาร” ในปี พ.ศ. 2426

เป็นที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของไทย

เป็น “ไปรษณีย์กลางบางรัก” จวบจนบัดนี้

 

เรียบเรียงจาก  แผ่นดินทองที่ไม่ใช่ของไทย : ที่ดินสถานทูตอังกฤษ https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_9479