“วรวิทย์” เดิมพันนาฬิกา “บิ๊กป้อม” “คนโกงอย่าคิดจะรอด เราจะตามไปยึดทรัพย์”

สัมภาษณ์พิเศษ

ในห้วงเวลาสถานการณ์ไม่ปกติ-รัฐบาลทหารกุมอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ-ตุลาการ องค์กรอิสระ-ตรวจสอบถึงไม่ถูกยุบ-รื้อทิ้ง แต่ก็ทำงานได้ไม่เต็มที่-ไม่เต็มสูบ ต้องเกรงใจผู้ถืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “วรวิทย์ สุขบุญ” เลขาธิการสำนักงานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) องค์กรปราบโกงที่ดังที่สุดและเงียบเชียบที่สุดในยุครัฐบาล-คสช.

ทำผิดเสียเองโดนโทษ 2 เท่า

“ป.ป.ช.ยังทำงานเหมือนปกติ ไม่ว่ารัฐบาลเลือกตั้งหรือไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าใครถูกกล่าวหาหรือถูกร้องเรียนต้องทำตามกฎหมาย ระเบียบ-ปฏิบัติ เพราะผลการตัดสินของ ป.ป.ช.

ในทุกคดี จะปรากฏเป็นดุลพินิจ พยาน-หลักฐาน ให้ใคร ๆ มาตรวจสอบการทำงานของ ป.ป.ช.ได้ ในเวลาต่อไปและจะเป็นบทพิสูจน์การทำงานของ ป.ป.ช.”

“สิ่งเหล่านี้จะอยู่ในสำนวน สามารถตรวจสอบได้ภายหลัง โดยองค์กรที่ทำงานต่อจาก ป.ป.ช. เช่น อัยการ และที่สุดคือ ศาล ซึ่งต่อไปสิ่งเหล่านี้จะต้องถูกตรวจสอบ ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่า ป.ป.ช.ตัดสินโดยไม่เที่ยงธรรม อคติ ดำเนินการโดยมิชอบ จะมีโทษมากกว่าเจ้าหน้าที่ทั่วไป 2 เท่า”

แจงปมนาฬิการอบสี่ 15 มี.ค.

ยิ่งในช่วงสถานการณ์การเมืองแหลมคม เป็น-ตายเท่ากันของคนในรัฐบาล-คสช. โดยเฉพาะปมใหญ่-คาใจ

กรณี “แหวนแม่-นาฬิกาเพื่อน” ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เขายืนยันว่า “ยึดหลักทำงานโดยสุจริต-กฎหมาย”

“ขณะนี้อยู่ระหว่างรอ พล.อ.ประวิตรชี้แจงข้อเท็จจริงกลับมา พร้อมกับการรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม สำหรับการชี้แจงต่อ ป.ป.ช.ของ พล.อ.ประวิตร ครั้งที่ 3 ยังไม่ครบ 25 เรือน แต่ล่าสุดได้ส่งหนังสือชี้แจงฉบับที่ 4 ให้ พล.อ.ประวิตรชี้แจงให้ครบทั้ง 25 เรือน

ซึ่งกลางเดือนมีนาคมนี้จะครบกำหนดตอบกลับ และสัปดาห์หน้าจะเชิญพยานของ พล.อ.ประวิตร ซึ่งเป็นเอกชนมาให้ถ้อยคำเพิ่มอีก 2-3 ราย”

ยึดพยาน-หลักฐานชี้ถูก-ผิด

เมื่อถามมาถึงจุดที่เขาคิดว่าอาจจะถลำลึก เขาตั้งการ์ดสูง-ปัดตอบ-เบี่ยงประเด็นทันที ว่า “เป็นเรื่องในสำนวน” และให้ความหวังว่า อีกไม่นานเกินรอ ก่อนจะหัวเราะกลบเกลื่อน

ไม่ว่าผลการตรวจสอบกรณี “นาฬิกาเพื่อน” จะออกมาเป็นบวกหรือลบต่อรัฐบาล-คสช. แต่หากตัดสินออกมาขัดหู-ขัดตา-ขัดความรู้สึกประชาชน…นอกจากนี้ยังเป็นการวางเดิมพันด้วยเกียรติยศ “มือตรวจสอบทรัพย์สิน” ของ ป.ป.ช.ด้วย

เขาตัดบท-คำถาม ว่า ไม่อยากให้คาดเดาว่าผลจะออกมาเป็นไปในทางใด…

เพราะต้องตัดสินตามพยานหลักฐาน-ข้อกฎหมายบนพื้นฐานของเหตุผลในการวินิจฉัย

“สังคมควรรอ รอการทำงานของ ป.ป.ช. ให้กระบวนการทำงานของ ป.ป.ช.เสร็จสิ้นและวินิจฉัยเพื่อชี้ถูก ชี้ผิด แต่ตอนนี้ยังไม่มีใครบอกว่า ถูกหรือผิด เราคิดไปเอง ฉะนั้นอีกไม่นานเกินรอ”

เขาย้ำว่า เรื่องร้องเรียนของรัฐบาล-คสช.หลายคดีผลออกมาขัดต่อสายตาสังคม เขากระตุ้นอารมณ์-กระตุก

ความคิด ว่า “ขออย่าใช้ความรู้สึก” พร้อมใช้คำว่า “ภายใต้ข้อเท็จจริง พยาน-หลักฐาน ระเบียบและกฎหมาย” เป็นยันต์กันผี

วอนเชื่อ-ไว้ใจ-ใช้ ป.ป.ช.ทำงาน

ด้วยข้อกล่าวหาที่โถมใส่ ป.ป.ช. ไม่แอ็กชั่นเรื่องร้องเรียนของผู้มีอำนาจในรัฐบาล-คสช. เช่น เรื่องอุทยานราชภักดิ์

เรื่องรัฐมนตรีถือหุ้นเกินร้อยละ 5 ถึงแม้ว่าเรื่องราวจากปากเขาจะให้คำตอบว่า สิ้นกระบวนการตรวจสอบของ ป.ป.ช.แล้ว ว่า ไม่มีความผิด แต่ก็ยังสร้างความแคลงใจให้กับสังคมเพราะไม่ถูกทำให้กระจ่าง

“อยากจะให้สังคมมีความเชื่อมั่นองค์กร ป.ป.ช.มาก ๆ ยิ่งขึ้น เชื่อ ป.ป.ช. ไว้ใจ ป.ป.ช. และใช้ ป.ป.ช.ทำงาน เพื่อให้บ้านเมืองสะอาด เป็นที่ยอมรับของนักธุรกิจ-นักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศ”

เขาแก้ต่าง-ตอบแทนหัวขบวน ป.ป.ช.-พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ที่เป็นจุดอ่อนขององค์กรอิสระ-ปราบโกง ว่า สังคมไทย เป็นสังคมเครือญาติ

จึงปฏิเสธไม่ให้ใครรู้จักกับใครได้ ไม่อยากให้มองเรื่อง ใครรู้จักใครเป็นหลัก อยากจะให้มองบริบทของการทำงานเป็นหลัก ว่า เมื่อท่านได้มานั่งทำงานอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ ผลงานเป็นอย่างไร บริบทการทำงานเป็นไปโดยชอบเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ หรือไม่ ไม่มีใครครอบงำการใช้ดุลพินิจได้

“เรายึดเรื่องของความสุจริต เป็นกลาง เป็นธรรม ที่สำคัญ ต้องหนักแน่น ไม่หวั่นไหว ในแง่ของกฎหมายต้องยึดหลักข้อเท็จจริง พยาน-หลักฐาน ระเบียบ ข้อกฎหมาย จะไม่เอาความรู้สึกของใครก็แล้วแต่มาใช้ในการพิจารณาคดี”

เร่งคดีค้างเก่าหมื่นเรื่อง

สำหรับภาระ-ภารกิจเร่งด่วน ในวาระเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ ป.ป.ช. คือ การสะสางคดีค้างเก่านับหมื่นคดี ซึ่งตัวเลขล่าสุด ณ วันที่ 31 มกราคม 2561 มีเรื่องค้างดำเนินการอยู่ 16,457 เรื่อง

เขาวางแนวทางการบริหารคดีเพื่อนับหนึ่ง-ถอยหลังการดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ป.ป.ช. ตามลำดับความสำคัญ 1.เรื่องที่ใกล้ขาดอายุความ 2.เรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน 3.เรื่องที่ก่อให้เกิดความเสียหายจำนวนมาก และ 4.เรื่องกล่าวหาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูง

“วรวิทย์” ในฐานะลูกหม้อ ป.ป.ช. มองย้อนกลับไปในอดีต 2-3 ปีที่ผ่านมาเพื่อนำมาเป็นบทเรียน-คิดต่อ ว่าปัญหาคดีคั่งค้างจำนวนมากเพราะ “เรื่องที่เสร็จน้อยกว่าเรื่องที่ร้องเรียนเข้ามา”

“ปีที่ผ่านมาสามารถทำคดีได้ 2,000 เรื่องเศษ ปีที่แล้วทำได้มากสุดถึง 4,300 เรื่อง แต่ปริมาณเรื่องที่เข้ามาเดือนละ 400 เรื่อง หรือ 4,800 เรื่องต่อปี เรื่องร้องเรียนพอกสูงไปเรื่อย และทั้งปีนี้ตั้งเป้าว่า ต้องทำให้เรื่องที่มีอยู่ให้เสร็จมากกว่าเรื่องที่เข้ามา คือ ต่อปีต้องทำให้เสร็จมากกว่า 4,800 เรื่อง ตั้งเป้าไว้ทั้งปี 5,900 เรื่อง”

เพิ่มวันประชุม ป.ป.ช.

“ปัญหาคอขวดจากเจ้าหน้า ป.ป.ช. ไต่สวนเสร็จเรียบร้อยแล้วแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่สามารถพิจารณาได้ทันเวลา ขณะนี้มีทั้งหมด 800 เรื่อง จึงแก้ปัญหาโดยการเพิ่มวันประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จากเดิมประชุมเพียง 2 วัน คือ ทุกวันอังคารและวันพฤหัสฯ ตอนนี้เพิ่มทุกวันพุธอีก 1 วัน ตั้งเป้าหมายว่า ภายในเดือนมีนาคมต้องเสร็จทั้งหมด”

เขาหวังฝากผลงานในสำนักงาน ป.ป.ช. โดยการการสร้าง “มืออาชีพ” ในการทำงานเพื่อเป็น “หมอเฉพาะทาง”

เพื่อสางคดีค้างเก่า-ขบวนร้องเรียนที่จะพาเหรดเข้ามายังสำนักงาน ป.ป.ช.ให้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด

ตั้งสำนักพิเศษ-สร้างมืออาชีพ

“ขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงาน ป.ป.ช.เสนอ คือ เรื่องการตั้งสำนักตรวจสอบคดีร่ำรวยผิดปกติ และสำนักไต่สวนคดีทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างขอมติเห็นชอบจากกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อตั้งสำนักที่เกี่ยวกับการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะ และการตั้งสำนักงานเพื่อตรวจสอบเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน”

อย่างไรก็ตาม เขาก็เตรียม “แผนรุก” ไว้เพื่อขอแก้ไข พ.ร.ป.ป.ป.ช.ฉบับใหม่ ที่อยู่ระหว่างรอบังคับใช้ เพื่อหาทางออกจากความกดดันใน “เงื่อนเวลา” โดยการศึกษา-วิจัยข้อจำกัดทางเวลาจนก่อให้เกิดการหาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้

ข้อเท็จจริงเต็มที่ประสิทธิภาพการป้องกันและปราบปรามการทุจริตลดลงหรือไม่

คดีโรงพัก-ปาล์มอินโดเสร็จปีนี้

เขาตั้งเป้าการทำงานตามวิสัยทัศน์ ป.ป.ช.ว่า ในปี 2564 ต้องเป็นปีที่ “ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต” โดยใช้ร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช.ฉบับใหม่ เป็นเครื่องมือ เพราะเปิดช่องให้ ป.ป.ช.สามารถเข้าไปดำเนินการตรวจสอบได้ทันที จากเดิมที่ต้องรอให้มีเรื่องร้องเรียนเข้ามา หรือมีเรื่องทุจริตเกิดขึ้นแล้ว ป.ป.ช.เกิดข้อสงสัย

เขาจึงสบช่องพลิกจุดด้อย-รอยด่างจากการต่ออายุกรรมการ ป.ป.ช. 7 คน โดยการวางแนวทางการทำงานในเชิงรุก
ไม่รอให้เกิดการทุจริตเกิดขึ้น-มีเรื่องร้องเรียนแล้วค่อยดำเนินการ แต่ถ้ามีข้อมูลแสดง-ส่อให้เห็นว่า จะก่อให้เกิดความเสียหาย-ทุจริตได้ง่าย จะเข้าไปดำเนินการทันที

เขาตั้งเป้าในปีนี้ ว่า จะสะสางคดีใหญ่ให้เสร็จภายในปีนี้ เช่น คดีก่อสร้างสถานีตำรวจ (โรงพัก) ทดแทน 396 แห่ง
แฟลตตำรวจ และคดีจัดหาที่ดินเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซียของบริษัท พีทีที.กรีน เอเนอร์ยี่ฯ (PTT.GE)

เขาทิ้งท้าย-ให้ความมั่นใจในฐานะมือตรวจสอบทรัพย์สิน ว่า เมื่อมาอยู่ตรงนี้ผมสามารถบูรณาการงานด้านนี้ได้โดยมิกซ์รวมเข้ากับงานด้านปราบปรามได้ดี ใครโดนกล่าวหาเรื่องทุจริตประพฤติมิชอบ งานด้านตรวจสอบทรัพย์สินจะมารอไม่ได้ ต้องเข้ามาตรวจสอบทรัพย์สินไปพร้อมด้วย เอกซเรย์ทั้งหมด งานเราเข้มข้นขึ้น

“ดังนั้นคนโกงอย่าคิดว่าจะรอดพ้นจากเราไปได้ง่ายๆ เพราะเราจะตามไปยึดทรัพย์ ซึ่งจะเห็นได้จาก 2 ปีที่ผ่านมา ป.ป.ช.สามารถอายัดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดินได้นับพันล้านบาท เมื่อป.ป.ช.พัฒนาการทำงานขึ้นไปเรื่อย มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น คนโกงก็หนาวล่ะครับ”


เขาไม่คิดว่า คดีนาฬิกาเพื่อนจะเป็นการเดิมพันเก้าอี้ เลขาฯ ป.ป.ช. “งานในตำแหน่งเลขาฯ ป.ป.ช.ไม่ใช่ไปตัดสิน แต่คนพิจารณาคือคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงไม่หนักใจใดๆ อย่างไรก็ตามผมทำงานถือความสุจริตเป็นอันดับแรก ความเป็นกลาง ความเป็นธรรม และขอให้ประชาชนมั่นใจ และเชื่อใจผม”