ไมตรี ไตรติลานนท์ พ่อเมืองสุโขทัย ตั้งเป้า 5 ปี มุ่งสู่ Smart Province-

สัมภาษณ์

เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งหมาด ๆ สำหรับ “ไมตรี ไตรติลานนท์” ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย เมื่อเร็ว ๆ นี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ถึงแนวนโยบายในการขับเคลื่อนจังหวัด และภาพรวมเศรษฐกิจของจังหวัดว่า จังหวัดสุโขทัยมีทั้งหมด 9 อำเภอ พื้นที่ 4.1 ล้านไร่ แยกเป็นพื้นที่เกษตรประมาณ 2.1 ล้านไร่ พื้นที่ป่าอุทยานฯ 1.7 ล้านไร่ และมีพื้นที่อยู่อาศัยราว 2.8 แสนไร่ โดยมีอุทยานแห่งชาติ 2 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติรามคำแหง อุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย อีกทั้งยังมีอุทยานประวัติศาสตร์ที่เป็นมรดกโลก 2 แห่ง ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และมีโรงงานอุตสาหกรรม 400-500 โรง

ขณะเดียวกัน มีประชากรประมาณ 6 แสนคน ซึ่งมีรายได้หลักมาจากภาคการท่องเที่ยว การเกษตร โดยส่วนใหญ่เป็นการปลูกข้าว อ้อย ส้มเขียวหวาน ยาสูบพันธุ์เบอร์เลย์ มันสำปะหลัง และข้าวโพด ตามลำดับ ทั้งนี้ จังหวัดสุโขทัยได้ดำเนินไปตามวิสัยทัศน์ที่ว่า เป็นเมืองมรดกโลกเลิศล้ำ เมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์และนวัตกรรม เมืองแห่งอารยธรรมและความสุขอย่างยั่งยืน

ซึ่งสิ่งสำคัญคือ การมุ่งเน้นเมืองท่องเที่ยวมรดกโลก (world heritage city) เมืองรุ่งอรุณแห่งความสุข (happiness city) เมืองเกษตร อุตสาหกรรม สินค้าและบริการ บนฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง (creative economy city) และเมืองนวัตกรรม (innovation city) และ “ภายใน 5 ปีตั้งเป้าจะเป็นจังหวัดอัจฉริยะ (smart province)” มุ่งผลสัมฤทธิ์สูง เช่น การปลูกพืชต้องได้ผลผลิตมากขึ้น คุณภาพดี ใช้เวลาและงบประมาณน้อยลง โดยใช้ปราชญ์ชาวบ้าน

โดยจะสะท้อนจากการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (gross provincial products : GPP) เพิ่มขึ้นปีละ 1% ภายในระยะเวลา 5 ปี จากปัจจุบันประชาชนมีรายได้อยู่ที่ 59,000 บาท/คน/ปี รวมถึงเพิ่มรายได้จากภาคการท่องเที่ยวอีก 5% จากปี 2560 อยู่ที่ 3,510.33 ล้านบาท และคาดว่ามีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 1.5 ล้านคน จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 1 ล้านคน โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 1,500 บาท/คน

ยกตัวอย่างการจัดงานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย “ประจำปี 2561 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-25 พฤศจิกายน 2561 ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งเป็นมรดกโลกเป็นเวลา 10 วัน คาดว่าจะมีปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มจากปีก่อนเป็นประมาณ 300,000 คน มีเงินสะพัดจากการท่องเที่ยวประมาณ 500 ล้านบาท จากปีก่อนมีนักท่องเที่ยว 250,000 คน มีเงินสะพัดประมาณ 450 ล้านบาท

เช่นเดียวกับตัวชี้วัดการสำรวจผลการจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ที่จะลดจำนวนครัวเรือนที่ตกเกณฑ์ หรือมีรายได้น้อยกว่า 38,000 บาท/ปี ที่ปัจจุบันมีอยู่กว่าประมาณ 2,000 กว่าครัวเรือน

“หลังจากที่ผมเข้ามารับตำแหน่งประกาศตั้งเป้าจะลดจำนวนครัวเรือนกลุ่มนี้ลงกว่า 50% ภายในระยะเวลา 1 ปี โดยมุ่งเน้นที่คนยากไร้ และในระยะ 2 ปีครัวเรือนที่ตกเกณฑ์จะหมดไป”

ขณะที่ภาคการเกษตรดึงหัวใจการตลาดนำการผลิตมาใช้ รวมถึงการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและคุณภาพสูงด้วยการแปรรูปเพิ่มมูลค่า ขณะนี้ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว คาดว่าปีนี้รายได้การเกษตรน่าจะไม่ต่ำกว่า 10% อีกทั้งยังตั้งเป้าเพิ่มแพทย์เพื่อดูแลประชาชนให้ทั่วถึงมากขึ้น จากปัจจุบันมีอัตราแพทย์ต่อ 1 คน ต่อประชากรประมาณ 3,110 คน รวมถึงมีโครงการหมอประจำ
ครัวเรือนอย่างน้อย 1 คนที่จะต้องรู้จักหลักการแพทย์เบื้องต้น มีการแนะนำให้ปลูกสมุนไพรประจำบ้าน
และวิธีการกิน

นอกจากนี้ ปี 2562 จังหวัดได้รับงบฯโครงสร้างพื้นฐานกว่า 620 ล้านบาท ดำเนินโครงการพัฒนาถนนและน้ำเพื่อรองรับความเจริญ และแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงอำนวยความสะดวกสบาย สำหรับด้านการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งถือเป็นหัวใจของการเกษตรและความเป็นอยู่ของชาวสุโขทัย ขณะนี้พยายามขยายช่องทางการระบายน้ำ และการทำแก้มลิงเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำของทุกปี และทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย เนื่องจากภูมิประเทศทางทิศเหนือเป็นที่สูงและลาดต่ำลง ทำให้น้ำไหลมาเร็ว และหน้าแล้งก็จะแล้งทุกปี ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่จะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด และกลับคืนสู่สภาพเดิมเร็วที่สุด และได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับสถานการณ์ภัยแล้ง เพราะตอนนี้ต้นทุนน้ำมีไม่ถึง 40%

“ได้มอบนโยบายให้ส่วนราชการจัดทำโครงการที่จะมอบความสุขให้กับชาวสุโขทัย โดยจะต้องเป็นโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน ทำเรื่องง่าย ๆ ให้สำเร็จ และสะสมไปเรื่อย ๆ เมื่อประชาชนไว้วางใจแล้ว การทำโครงการใหญ่จะสำเร็จ และที่สำคัญจะต้องโดนใจประชาชน เช่น โครงการเกี่ยวกับถนนและน้ำ เช่นเดียวกับช่วงเทศกาลสงกรานต์” ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยกล่าวทิ้งท้าย

 

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
อย่าลืมกดติดตาม และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”