ส่องธุรกิจ “Net idol อะคาเดมี่” Key success สร้างแบรนด์ให้ปัง…ไม่มีแป้ก

การทำตลาดในยุคโซเชียลมีเดียครองเมือง หลายสินค้าคงปฏิเสธความสำคัญของ “เน็ตไอดอล” หรือ “อินฟลูเอนเซอร์” คนดังในโลกออนไลน์ที่มีผู้ติดตามจำนวนหลายพัน หลายหมื่นคน ที่กลายมาเป็นเครื่องมือทางมาร์เก็ตติ้ง ช่วยเป็นกระบอกเสียงให้แบรนด์เป็นที่รับรู้ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ๆซึ่งไม่เพียงแต่สินค้าในกลุ่มของบิวตี้เท่านั้นที่เทงบฯจำนวนมากเข้ามาในช่องทางนี้ แต่สินค้าจำพวกคอนซูเมอร์โปรดักต์ หรือแฟชั่นเองก็หันมาสร้างการรับรู้แบรนด์ผ่านกลยุทธ์นี้ด้วยเช่นกัน จากในอดีตที่จะเน้นการใช้ดารา เซเลบริตี้ ที่มีชื่อเสียงจากสื่อแมสเป็นหลัก

“พงษ์ศักดิ์ เจริญกุล” ประธานบริหาร บริษัท จับของร้อน จำกัด ดิจิทัลเอเยนซี่ที่โฟกัสในธุรกิจเน็ตไอดอล ไม่ว่าจะเป็นการปั้นเน็ตไอดอลขึ้นมา ไปจนถึงการดูแลหางานเป็นพรีเซ็นเตอร์ โฆษณาให้กับสินค้าต่าง ๆ ชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาในแวดวงของเน็ตไอดอลว่า ด้วยแพลตฟอร์มของการสื่อสารที่มากขึ้นในปัจจุบัน เกิดเป็นผู้มีอิทธิพลต่อคนในโลกออนไลน์หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นบล็อกเกอร์ ยูทูบเบอร์ เซเลบทวิตเตอร์ เฟซบุ๊กอินฟลูเอนเซอร์ ฯลฯ

โดยคีย์หลักการแจ้งเกิดของคนเหล่านี้ก็คือการทำ “คอนเทนต์” ที่ดี สามารถเรียกความสนใจจากคนดู ไม่ว่าจะเป็นการรีวิวผลิตภัณฑ์ การสาธิตการแต่งหน้า การออกกำลังกาย ฯลฯ ที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่แฟนคลับที่ติดตาม หรือสร้างการจดจำ จากการนำเสนอที่แปลกใหม่ เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มอายุตั้งแต่ 15-35 ปี ให้ความสนใจกับโซเชียลมีเดีย มีการรับสื่อและเชื่อในสิ่งที่ไอดอล หรือบุคคลที่ตัวเองเชื่อถือ ตลอดจนการใช้อารมณ์เป็นตัวตัดสินใจการซื้อ เช่น สินค้าในกลุ่มบิวตี้ ก็จะมีบิวตี้บล็อกเกอร์รีวิวสินค้า วิธีการใช้ ผลลัพธ์ที่ได้การเปรียบเทียบโปรดักต์แบบเดียวกันแต่คนละแบรนด์ ฯลฯ เมื่อเหล่าบรรดาแฟนคลับได้เห็นก็อยากใช้สินค้าแบบนั้นบ้าง เพราะอยากสวย อยากดูดี แบบไอดอลของตน

สินค้าที่ใช้กลยุทธ์ดังกล่าวจึงมีทั้งแบรนด์ใหม่ที่ต้องการแจ้งเกิด แบรนด์ที่คนรู้จักดีอยู่แล้ว แต่ต้องการสร้างฐานการรับรู้เพิ่มขึ้น และกลุ่มที่ต้องการรีแบรนดิ้ง ปรับภาพลักษณ์ สร้างการจดจำใหม่ ๆ แต่ก็ต้องอย่าลืมว่า แม้เน็ตไอดอล หรืออินฟลูเอนเซอร์จะมีข้อดีหลายอย่าง แต่ในบางกรณีที่ไม่เวิร์กและก่อให้เกิดการต่อต้านของผู้บริโภคก็มีบ่อยเช่นกัน

“พงษ์ศักดิ์” ชี้ว่า สิ่งที่สินค้าควรระวังเมื่อต้องการใช้กลยุทธ์นี้คือ การที่แบรนด์เข้าไปก้าวก่ายในคอนเทนต์นั้น ๆ มากจนเกินไป เช่น บางแบรนด์อยากสร้างคอนเทนต์ให้น่าเชื่อถือแบบ “วิดีโอ รีวิว” ซึ่งเป็นการรีวิวสินค้าตามจริง ไม่มีการกำหนดจากเจ้าของแบรนด์ แต่ความจริงคอนเทนต์นั้นค่อนข้างเป็น “วิดีโอ คอมเมอร์เชียล” การรีวิวตามสิ่งที่แบรนด์ต้องการจะสื่อสารอย่างเต็มที่
เพราะเมื่อผู้บริโภคจับได้ว่าถูกยัดเยียดข้อมูลเหล่านั้น สินค้าดังกล่าวก็จะลดความน่าเชื่อถือลง รวมถึงการตัดสินใจ เลือกอินฟลูเอนเซอร์โดยไม่สนใจแบ็กกราวนด์ หรือประวัติว่าอินฟลูเอนเซอร์คนนี้โด่งดังในเรื่องอะไร เหมาะสมกับสินค้าที่ต้องการโปรโมตหรือไม่ และการทำคอนเทนต์ที่ฮาร์ดเซล หนัก ๆ ก็ไม่เวิร์กอีกเช่นกัน

“ควรเลือกอินฟลูเอนเซอร์ที่เหมาะกับจุดประสงค์ของแบรนด์ มีแคแร็กเตอร์ไปในทิศทางเดียวกัน มีกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน มีความชื่นชอบในผลิตภัณฑ์ที่ตัวเองจะต้องรีวิวอย่างแท้จริง และที่สำคัญอย่าเลือกเพราะต้องการยอดผู้ติดตามจำนวนมาก ๆ เท่านั้น”

การให้ความสำคัญกับสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะอินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้งกันมากขึ้น ทำให้โอกาสในธุรกิจของ “จับของร้อน” เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ปัจจุบัน “พงษ์ศักดิ์” มีอินฟลูเอนเซอร์ในสังกัดถึง 20 คน ภายใต้ “The Hotties” หรืออะคาเดมีในการปั้นและสรรหาเน็ตไอดอล อาทิ หญิงแย้-นนทพร ธีระวัฒนสุข ทรายหมูน้อย-นันทวรรณ พรชัยจันทร์เพ็ญ ส้ม-ณัฐกานต์ ธัญวิวัฒน์ บล็อกเกอร์ด้านความสวยความงาม รวมไปถึงบล็อกเกอร์หนุ่ม ๆ ด้านแฟชั่น และไลฟ์สไตล์ อย่าง ไบรอัน ตัน, สไมล์ จากเมนส์ กรูมมิ่ง เป็นต้น และมีลูกค้า (แบรนด์สินค้า) ในพอร์ตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งกลุ่มความงาม สกินแคร์ เครื่องสำอาง เครื่องดื่ม แฟชั่น ธนาคาร ฯลฯ


ตราบใดที่โซเชียลมีเดียยังมีบทบาทกับไลฟ์สไตล์ของคนจำนวนมาก การเลือกใช้เน็ตไอดอล หรืออินฟลูเอนเซอร์ ก็จะเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่หลายแบรนด์ยังคงหยิบมาสร้างกระแสได้อย่างต่อเนื่อง