“ยูนิคอร์นจีน” ผงาดคับโลก ภัยคุกคาม “ซิลิคอนวัลเล่ย์”-

หากเอ่ยถึง “แหล่งสตาร์ตอัพ” หรือศูนย์รวมบริษัทเทคโนโลยีที่สำคัญและยิ่งใหญ่ของโลก “ซิลิคอนวัลเลย์” ในซานฟรานซิสโก น่าจะเป็นแห่งแรกที่ทุกคนนึกถึง และมีการแข่งขันมากมายแต่ยังไม่มีใครขึ้นมาแทนที่ได้ กระทั่งกระแสความแรงของสตาร์ตอัพจีนที่กำลังแผ่อิทธิพลไปทั่วโลก และกลายเป็น “คู่แข่ง” ที่น่ากลัวที่สุดของสหรัฐ

หนังสือพิมพ์ San Francisco Chronicle รายงานว่า นับตั้งแต่ปี 2010 ที่มี “สตาร์ตอัพยูนิคอร์น” ซึ่งหมายถึง สตาร์ตอัพที่มีมูลค่าบริษัทเกิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกิดขึ้นในสหรัฐและยุโรปเป็นจำนวนมาก แต่ในปี 2015 เกิดการถ่ายโอนของโลกและมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น โดยบริษัทด้านการลงทุน CB Insights ระบุว่า ในปี 2015 ยูนิคอร์นที่เกิดขึ้นในประเทศจีนมีจำนวนมากกว่ายุโรปไปเป็นที่เรียบร้อย และขยับเข้าใกล้สหรัฐมากขึ้นอย่างน่าสนใจ

นักวิเคราะห์กล่าวว่า มีปัจจัยมากมายที่ทำให้ “ยูนิคอร์นจีน” มีบทบาทมากขึ้น หนึ่งในนั้นน่าจะมาจากที่ผ่านมานักศึกษาชาวจีนบินข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาเรียนในสหรัฐจำนวนมาก เพราะรัฐบาลจีนให้การสนับสนุนการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก และท็อปไฟฟ์ที่ชาวจีนเลือกก็คือ มหาวิทยาลัยในสหรัฐ

สำนักงานสถิติของสหรัฐรายงานว่า นักศึกษาจาก 3 ประเทศ ที่เดินทางไปเรียนในสหรัฐ มากที่สุด ได้แก่ จีน อินเดีย และเกาหลีใต้ โดยปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนรวมกัน 49% ของจำนวนนักศึกษาต่างชาติทั้งหมด โดยสัดส่วนนักศึกษาจีนมากถึง 21% ทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

มหาวิทยาลัยที่นักศึกษาจีนเลือกที่จะมาเรียนเป็นอันดับต้น ๆ ของสหรัฐ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด, มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และมหาวิทยาลัยซิลิคอนวัลเลย์ ปัจจัยดังกล่าวอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดขึ้นของ “ยูนิคอร์นจีน”

สตาร์ตอัพยูนิคอร์นของจีนกำลังขยับเข้าใกล้กับสหรัฐมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันจีนมีสตาร์ตอัพยูนิคอร์นทั้งหมด 34 ราย ส่วนสหรัฐ มี 39 ราย และถ้านับเฉพาะปี 2017 ที่มีสตาร์ตอัพยูนิคอร์นเกิดขึ้นทั่วโลก 33 บริษัท ความน่าสนใจก็คือเป็นสตาร์ตอัพยูนิคอร์นจีน 12 บริษัท หรือคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของทั้งหมดนั่นเอง

ความน่าทึ่งของตัวเลขของยูนิคอร์นจีนนั้นเริ่มตั้งแต่ปี 2015 ส่วนในสหรัฐ นับตั้งแต่ปี 2010 นอกจากจะเห็นว่าเทรนด์ของโลกเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกำลังฉายสปอตไลต์มาที่ภูมิภาคเอเชีย

นักวิเคราะห์ยังระบุว่า “การแข่งขันที่เกิดขึ้นในจีน และตามหลังสหรัฐ เพียงไม่กี่ก้าวนั้น กลายเป็นความมหัศจรรย์ของวงการไอที จากเดิมที่ทั่วโลกยกให้ ซิลิคอนวัลเลย์ เป็นยักษ์แห่งวงการนวัตกรรม แต่ในอนาคตอันใกล้อาจต้องเปลี่ยนมามองที่จีนมากขึ้น เพราะกำลังในการแข่งขันที่ล้น ไม่เพียงเท่านั้นรัฐบาลยังส่งเสริมสตาร์ตอัพอย่างเต็มที่ด้วย”

การที่จีนเป็นประเทศมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจของเอเชีย จึงไม่แปลกที่จะมีธุรกิจสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์นมากขึ้น โดย iPrice บริษัทวิจัยตลาด ยกตัวอย่าง 3 บริษัทอันดับแรกที่มีเงินระดมทุนสูงสุดของจีนในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ 1) บริษัทเสี่ยวมี่ ที่มีเงินระดมทุน 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอยู่ในอันดับที่สองรองจากบริษัท Uber ของสหรัฐที่มียอดเงินระดมทุนต่างกันเพียง 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนยักษ์ยูนิคอร์นเบอร์สองของจีน คือ บริษัท ANT Financial เม็ดเงินระดมทุน 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และอันดับที่สาม คือ บริษัท DidiChuxing มีเงินระดมทุน 3.37 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ผู้ให้บริการแอปเรียกแท็กซี่ในประเทศจีน ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น Uber แห่งแดนมังกร

นอกจากนี้ “ดัลแคน โลแกน” ซีอีโอ บริษัทเทคโนโลยี RocketSpace เคยพูดว่า ธุรกิจสตาร์ตอัพของจีน แสดงศักยภาพการแข่งขันบนเวทีโลกได้เป็นอย่างดี ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “โลกสองขั้ว” ระหว่างโลกตะวันออกกับโลกตะวันตกมากขึ้น อย่างเช่นเมื่อตะวันตกมี Google จีนก็มี Tencent, โลกตะวันตกมี Facebook จีนมี WeChat และ Uber ของสหรัฐที่มีคู่แข่งสำคัญอย่าง Didi แบรนด์คุณภาพของจีนเช่นกัน

ขณะเดียวกันเทรนด์ที่คนจีนรุ่นใหม่ ซึ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในอเมริกา ส่งอานิสงส์ให้เกิดสตาร์ตอัพภายใต้แบรนด์จีน อีกทั้งรัฐบาลยังส่งเสริมอย่างรอบด้าน ทั้งด้านเงินทุนและภาษีที่เอื้อต่อสตาร์ตอัพจีนด้วย

ภายใต้ยุทธศาสตร์การทำธุรกิจของคนจีนที่เรียกว่า “กลยุทธ์ปิดบ้านทำธุรกิจ” (shut out foreign competitors) นอกจากจะทำให้ยักษ์ใหญ่ในหลายธุรกิจจากต่างประเทศ เจาะเข้าตลาดจีนไม่ได้การบริโภคภายในประเทศยังทำให้เงินไม่ไหลออกไปนอกประเทศอีกด้วย

นอกจากนี้ปัจจุบันจีดีพีของจีนมีการขยายตัวปีละเฉลี่ย 6-7% ขณะที่จีดีพีของสหรัฐขยายตัวอยู่ราว 1-2.5% เท่านั้น และภายในปี 2030 เชื่อว่า เศรษฐกิจจีนจะดีดขึ้นไปอยู่จุดสูงสุดของโลกตามคาดการณ์ของนักวิจัยจากหลายสำนัก

เวโรนิกา หวู่ กรรมการผู้จัดการ “Hone Ventures” กองทุนร่วมทุนของจีนกล่าวว่า “จีนกลายมาเป็นภัยคุกคามต่อโลกไอทีของสหรัฐแน่นอน และจีนจะทำให้ตัวแปรของวงการนวัตกรรมโลกเปลี่ยนไป จะเห็นว่าหลายคนย้ายออกจากซิลิคอน วัลเลย์ และไปทำธุรกิจในเอเชียมากขึ้น และอนาคตอาจจะเห็นโรงงานผลิต Motorola, Tesla และ Apple ในจีนก็เป็นไปได้”