คิดรับลมหนาวเมืองนอกต้องอ่าน! คู่มือโกอินเตอร์ ใช้ซิม – โปรฯ แบบไหน “โทร-แชต-แชะ-แชร์” ไม่ขาดตอน

ลมหนาวเล็ก ๆ เริ่มมาเยือน พร้อมการเฉลิมฉลองและวันหยุดยาว เมื่อยุคนี้ใคร ๆ ก็บินได้ แถมหลายประเทศก็ “ฟรีวีซ่า” ให้คนไทย “ประชาชาติธุรกิจ” อัพเดตข้อมูลให้เหล่านักแชต นักแชะ นักแชร์ ได้โกอินเตอร์แบบไม่สะดุด และง่ายขึ้น

“โรมมิ่ง” บริการเบสิก

บริการข้ามแดนอัตโนมัติ “โรมมิ่ง” เป็นสิ่งพื้นฐานที่ทุกค่ายมือถือมี แต่ก่อนเดินทางอย่าลืมเช็กกับคอลเซ็นเตอร์ว่า เบอร์ที่ใช้งานอยู่เปิดโรมมิ่งไว้หรือไม่ เพราะบางค่ายเปิดให้อัตโนมัติ หากไม่ต้องการใช้งานให้สั่งปิดได้จะทั้งหมดหรือเลือกเปิดแค่ที่จะใช้แค่ รับสาย-โทร.ออก SMS หรืออินเทอร์เน็ต

ที่สำคัญอย่าลืมเช็กว่ามีแพ็กเกจเสริมราคาพิเศษให้หรือไม่ อาทิ ประเทศญี่ปุ่น ค่าย AIS ปกติโทร.กลับไทย80 บาท/นาที รับสาย 26 บาท/นาที แต่มีแพ็กเกจ Zone 1 Roam Like Home 1,050 บาท/ 3 วัน โทร.ไม่อั้นพร้อมใช้เน็ตต่อเนื่อง 600 MB 1,750 บาท/5 วัน โทร.ไม่อั้นพร้อมใช้เน็ต 1 GB

“ทรูมูฟ เอช” อินเทอร์เน็ต NON-STOP 3 วัน 900 บาท 5 วัน 1,350 บาท ส่วน “ดีแทค” มีแพ็กเกจอินเทอร์เน็ต NON-STOP 3 วัน 870 บาท 5 วัน 1,400 บาท แต่บางประเทศก็จะมีแพ็กเกจพิเศษออกไป อาทิ ไต้หวัน ค่าบริการ 840 บาทต่อ 3 วัน ใช้อินเทอร์เน็ตไม่จำกัด รับสาย-โทร.ออก 5 บาทต่อนาที

ข้อดีของโรมมิ่งที่แม้จะแพงกว่าบริการอื่น แต่ทำให้ไม่ขาดการติดต่อจากเมืองไทย แม้เป็นยุคของแอปพลิเคชั่นแชต แต่บางกรณี อาทิ SMS แจ้งเตือนเมื่อรูดบัตรเครดิต/มีเงินออกจากบัญชีธนาคาร หรือคอลเซ็นเตอร์บัตรเครดิต พบการรูดบัตรผิดปกติแล้วจะโทร.มาถามข้อมูลกับผู้ถือบัตรก็ยังอยู่ที่เบอร์โทร.แบบดั้งเดิมแต่พึงระวังต้องตั้งค่าใช้เครือข่ายตามที่แพ็กเกจระบุเสมอ ห้ามให้โทรศัพท์ตั้งค่าเครือข่ายแบบอัตโนมัติ

ซิมพิเศษสำหรับโกอินเตอร์

อีกบริการที่ทุกค่ายแข่งกันเปิดตัวคือ “ซิมพิเศษ” สำหรับใช้งานในต่างประเทศ ชูจุดเด่นค่าบริการที่ถูกกว่าโรมมิ่ง ซึ่งผู้บุกเบิกเป็นเจ้าแรก ๆ คือ AIS “Sim2Fly” ค่าโทร.ออก-รับสายจากไทย ในประเทศฮิตอย่างญี่ปุ่น-ไต้หวัน แค่นาทีละ 6 บาท ค่าซิมใหม่แค่ 399 บาท ใช้เน็ตต่อเนื่องความเร็วสูงสุด 4 GB ได้ 8 วัน และยังมีแพ็กเกจอื่นอีก

ฟากทรูมูฟ เอช มี “Travel Sim Asia” และ “Travel Sim World” เน้นใช้งานอินเทอร์เน็ต โดยซิมสำหรับเอเชีย ราคา 399 บาท ใช้เน็ตเต็มสปีด 4 GB 8 วัน ส่วน Travel Sim World ราคา 899 บาท ใช้เน็ต 4 GB 15 วัน ขณะที่ค่ารับสาย-โทร.ออก จะมีแค่สิงคโปร์ที่นาทีละ 9 บาท และเกาหลีใต้นาทีละ 19 บาท ประเทศอื่นยังอยู่ที่ 33 บาทต่อนาที (สำหรับซิมเอเชีย)

ขณะที่ดีแทคมี “ซิม GO ! อินเตอร์” ใช้เน็ต nonstop 4 GB 10 วัน ราคา 399 บาท ใช้งานได้ 23 ประเทศทั่วโลก ส่วนค่ารับสาย-โทร.ออก ยังหลากหลายอัตรา ถ้าญี่ปุ่น-ฮ่องกง รับสาย 20 บาท/นาที โทร.ออก 16 บาท/นาที ไต้หวัน 6 บาท/นาที ทั้งรับสายและโทร.ออก

ข้อดีของซิมประเภทนี้คือ นอกจากค่าบริการจะราคาถูก ยังตั้งค่าให้โอนสายเรียกโทร.เข้าจากเบอร์ที่ใช้ประจำไปยังเบอร์ซิมพิเศษเหล่านี้ได้ แต่อย่าลืมลงทะเบียนเปิดใช้งานก่อนเดินทาง

โทร.กระหน่ำด้วย WiFi Calling

เมื่อเป็นยุคที่ WiFi ครองเมือง ทั้ง 3 ค่ายมือถือจึงมีบริการโทร.ออก-รับสาย ผ่านแอปพลิเคชั่นประเภท WiFi Calling มีจุดเด่นคือคิดค่าบริการเหมือนที่ใช้เบอร์ประจำในไทยเป๊ะ รับสายก็ไม่เสียเงิน ยกเว้นโทร.ออกไปหาเบอร์ที่จดทะเบียน ณ ต่างประเทศ จะเสียค่าบริการ IDD (บริการโทร.ข้ามแดนอัตโนมัติ)

ขณะที่การรับ-ส่ง SMS “dtac WiFi Calling” และ “AIS 4G VoWiFi” ใช้งานได้ แต่ WiFi Calling by truemove H ยังไม่รองรับ SMS

ข้อดีคือไม่ต้องเสี่ยงเจอบิลช็อก แต่สมาร์ทโฟนที่ใช้ต้องรองรับแอปพลิเคชั่นนี้ได้ และอย่าลืมโหลดแอปก่อนเดินทาง รวมถึงเรียนรู้การตั้งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้เรียบร้อย เพราะหากเกิดปัญหาที่ต่างประเทศ ไม่แคล้วคงต้องโทร.หาคอลเซ็นเตอร์ให้ช่วย ซึ่งปัจจุบันมีแค่ดีแทคและทรูมูฟ เอช ที่ให้ลูกค้าทุกกลุ่มโทร.เข้าคอลเซ็นเตอร์ฟรีจากต่างประเทศตลอด 24 ชั่วโมง คือ dtac call center +662-202-8100 และ truemove H care 1331 หรือกด +66999981242 หรือ +66891001331

ส่วนลูกค้า AIS Serenade CEO/Platinum/Gold และ Emerald โทร.ฟรี +6622719000 ลูกค้าที่ไม่ได้สิทธิ์ Serenade เสียค่าบริการตามแพ็กเกจที่ใช้

ซิมท้องถิ่น-พ็อกเก็ตไวไฟ

แต่ถ้าติดเน็ตหนักหน่วงแต่งบจำกัดมากๆ หลายประเทศให้นักท่องเที่ยวซื้อซิมการ์ดมาใช้ได้ โดยเฉพาะประเทศฮิต อย่างญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน แต่ต้องศึกษาข้อมูลเพื่อหาตัวเลือกให้เหมาะ อาทิ ซิม CSL ฮ่องกง ราคา 78 $HK (ราว350 บาท) ใช้ได้ 7 วัน 3GB หรือ ซิม U-mobile Prepaid ของญี่ปุ่น 7 วัน 1,800 เยน (ราว 540 บาท) ใช้ได้วันละ 200 MB (ถ้าเกินสปีดจะลด) หาซื้อสะดวกที่สนามบิน มีทั้งเคาน์เตอร์และตู้ขายอัตโนมัติให้กดซื้อเอง แถมมีคู่มือภาษาไทยด้วย

ถ้าไปกันหลายคน “พ็อกเก็ตไวไฟ” เป็นอีกตัวเลือก โดยประเทศในเอเชีย มีค่าบริการ ตั้งแต่วันละ 100-300 บาท แชร์ได้ 2-4 คน แต่ก่อนตัดสินใจใช้บริการของแบรนด์ไหน ลองค้นรีวิวผู้ใช้งานจริงตามเว็บบอร์ดท่องเที่ยวก่อน เพราะต้องวางมัดจำค่าเครื่องและถ้าเครื่องเสียหายต้องชดใช้ด้วย ขณะที่ผู้ให้บริการรายเก่าบางรายคุณภาพตก รายใหม่บางรายเน้นแต่ราคา แต่คุณภาพสัญญาณและช่องทางติดต่อเมื่อมีปัญหาการใช้งาน ณ ต่างประเทศ ไม่น่าประทับใจ อาจจะไม่คุ้มเงิน

เพิ่มแอป เพิ่มความสะดวก

แอปพลิเคชั่นตัวช่วยพื้นฐานอย่าง Google Map & Google Translate คือสิ่งที่ต้องมี เสริมด้วยพยากรณ์อากาศ และแอปพลิเคชั่นเฉพาะของแต่ละเมืองที่ไป ยกตัวอย่าง 2 ประเทศฮิตฟรีวีซ่า”ญี่ปุ่น” แนะนำ “HyperDia-Japan Rail Search” ซึ่งมีเว็บไซต์ให้ใช้งานด้วย http://www.hyperdia.com/en/, แค่ใส่สถานที่ต้นทาง-ปลายทาง ระบบจะช่วยวางแผนพร้อมบอกรายละเอียดของขบวนรถที่เหมาะสม เวลา-ค่าโดยสาร อีกแอปที่คล้ายกันคือ “NAVITIME for Japan Travel” ครอบคลุมขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบ ยังมีพิกัดจุด WiFi ฟรี, จุดแลกเปลี่ยนเงินตรา, ATM, ศูนย์ให้บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว ข้อมูลสำคัญอื่นๆ

“TABIMORI” คือ ให้ข้อมูลตั้งแต่การใช้ชีวิต และวัฒนธรรมญี่ปุ่น ประโยคบทสนทนาต่าง ๆ ข้อมูลเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

“TRAVEL JAPAN Wi-Fi” ค้นหาฟรีไวไฟทั่วญี่ปุ่นฟรี ครอบคลุมเมืองหลัก แนะนำร้านใกล้ ๆ พร้อมคูปองส่วนลด รองรับภาษาไทยด้วย ส่วนแหล่งข้อมูลดีๆ http://www.jnto.or.th/, https://chillchilljapan.com

ฟาก “ไต้หวัน” การท่องเที่ยวไต้หวัน http://www.taiwan.net.my/th แนะนำแอปพลิเคชั่น “Tour Taiwan” มีข้อมูลสถานที่กว่า 16,000 แห่ง ครบทั้งที่พักร้านอาหาร ศูนย์บริการท่องเที่ยว สถานีตำรวจ โรงพยาบาล ที่จอดรถ สถานีรถไฟ/รถบัส ทั้งช่วยวางแผนและหาพิกัดสิ่งสำคัญรอบตัว แถมด้วยแอปพลิเคชั่น “BusTracker Taiwan” กับ “Taipei Metro Route Map” และ “UBike” ให้ปั่นจักรยานเที่ยวแบบสบายใจ ช่วยนำทางและอัพเดตเส้นทางใหม่อยู่เสมอ


แหล่งข้อมูลดี ๆ เที่ยวไต้หวัน https://www.talontiew.com, http://www.1000milesjourney.com, https://pantip.com/forum/blueplanet