ธปท.ถกลดอุปสรรคลงทุนนอก “CIMBT” รับลูกปี’61 ประเดิม 1 หมื่นล้าน บ.-

ธปท.ถกแบงก์-ตลาดทุน หาแนวทางลดอุปสรรคการไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ เล็งปรับวิธี “รายงาน” ข้อมูลกระชับขึ้น หวังเพิ่มความคล่องตัวให้นักลงทุน “ซีไอเอ็มบี ไทย”  รับลูกเตรียมประเดิมพานักลงทุนออกไปลงทุนนอก 1 หมื่นล้านบาท ต้นปี 2561

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ธปท.ได้เชิญสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สถาบันการเงิน และบริษัทหลักทรัพย์ต่าง ๆ มาประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับรายงานการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ ก.ล.ต.

ทั้งนี้ ธปท.ต้องการลดอุปสรรคของการออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (TDI) ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าอุปสรรคสำคัญ ส่วนหนึ่งเกิดจากนักลงทุนไม่คุ้นชินกับการรายงานข้อมูลอย่างละเอียด ส่งผลให้การออกไปลงทุน ทั้งผ่านสถาบันการเงิน และการไปลงทุนโดยตรง ยังอยู่ระดับต่ำ ทั้งจำนวนรายและวงเงิน แม้ที่ผ่านมา ธปท.จะอนุญาตให้บุคคลธรรมดาออกไปลงทุนได้เสรีแล้ว วงเงินไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

“ธปท.รับมาปรับปรุง ลดข้อจำกัด โดยจะกระชับข้อมูลที่รายงานกลับมายัง ธปท.หรือ ก.ล.ต. เพื่อให้นักลงทุนคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาผู้ลงทุนยังไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ จากการอนุญาตของ ธปท. ก็หวังว่าหากลดอุปสรรคแล้ว นักลงทุนจะออกไปลงทุนได้คล่องขึ้น” นางจันทวรรณกล่าว

ที่ผ่านมา ธปท.มีการเพิ่มทางเลือกนักลงทุนในการออกไปลงทุนต่างประเทศมาตลอด อย่างที่ก่อนหน้านี้ได้มีการเพิ่มวงเงินออกไปลงทุนมาเป็นลำดับ ตั้งแต่ 5 หมื่นล้านบาท เป็น 7.5 หมื่นล้านบาท กระทั่งล่าสุด ธปท.อยู่ระหว่างรวบรวมข้อคิดเห็น และแนวทางในการปรับปรุงเกณฑ์ต่าง ๆ จากนั้นจะสรุปออกมาเป็นรายงาน และส่งหนังสือเวียนถึงสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายภูดินันท์ เศรษฐนันท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจบริหารเงิน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า หาก ธปท. ปรับปรุงเกณฑ์ต่าง ๆ ก็น่าจะช่วยให้นักลงทุนออกไปลงทุนได้ง่ายขึ้นมาก โดยเฉพาะธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ที่เป็นตัวกลางในการพานักลงทุนออกไปลงทุน ก็จะทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งในไตรมาสแรกปี 2561 ธนาคารมีแผนนำนักลงทุนออกไปลงทุนโดยตรงเป็นครั้งแรก

“ภายในไตรมาสแรกปีหน้า คาดว่าจะมีออกไปลงทุนราว 200-300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1 หมื่นล้านบาท โดยจะเริ่มที่กลุ่มไฮเน็ตเวิร์ท หรือกลุ่มที่มีสินทรัพย์ หรือมีรายได้เกิน 4 ล้านบาทต่อเดือน หรือมีเงินฝากและหลักทรัพย์รวม 20 ล้านบาท เนื่องจากกลุ่มนี้มีความคุ้นชินกับการออกไปลงทุนต่างประเทศ และมีความคล่องตัวสูง”

นายภูดินันท์กล่าวด้วยว่า ธนาคารยังเตรียมออกหุ้นกู้ที่อ้างอิงกับหน่วยลงทุนต่างประเทศ หรือ fund link note อายุ 3 ปี ซึ่งคาดว่าจะมีผลตอบแทนสูงถึง 10-14% แต่หากผลตอบแทนจากการลงทุนลดลง ก็คุ้มครองนักลงทุน โดยคืนเงินต้นทั้งหมดแทน ถือว่าไม่ได้ไม่เสีย แต่การลงทุนลักษณะนี้เป็นการลงทุนในระยะยาว ดังนั้นจึงเหมาะกับคนที่มีความคล่องตัวด้านสภาพคล่อง โดยคาดจะออกขายใน ธ.ค.นี้ ซึ่งน่าจะขายได้ราว 1,000 ล้านบาท และปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 3,000-4,000 ล้านบาท