เปิดกฎหมาย… เมื่อคนดังถูกตำรวจจับเพราะ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’

กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตเมื่อไม่เร็วๆ นี้ ถึงการตำรวจจับกุม น.ส.มนุษยา เยาวรัตน์ หรือ “ฟลุ๊คศรี มณีเด้ง” เน็ตไอดอลในข้อหาครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า จนมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ แถมยังมีกระแสเรียกร้องให้นำบุหรี่ไฟฟ้ามาเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการลดละเลิกบุหรี่

เลยไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังออกมากล่าวถึงเรื่องนี้ 

“บอกว่าเรื่องเล็กๆน้อยๆ แล้วต้องผ่อนผันไป ไม่ต้องทำอะไรหรือไง ทุกอย่างมันจะเกิดจากกฎหมายเล็กๆ ถ้าละเมิดกัน ก็จะปานปลายไปใช้กฎหมายแรงๆ มันจะเกิดอะไรขึ้นมา ดังนั้นต้องหยุดตั้งแต่แรก” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

“เน็ตไอดอลที่ว่าทำผิดหรือเปล่า ยอมรับความผิดไม่ใช่หรือ เขาก็เอาไปควบคุมตัวก็ดิ้นรนเกลือกกลิ้งอยู่อย่างนั้น แล้วก็มาพาลให้คนรู้สึกว่ารุนแรงเกินไป แล้วทำไงจะให้ปล่อยไป เเล้วอุ้มหรือ แล้วก็บอกว่าเอาทหารเจ้าหน้าที่ไปอุ้มประชาชนอีก ปัดโธ่” 

แต่ถ้าย้อนไปในช่วงเดือนสิงหาคม travelweekly ทำสกู๊ปเตือนนักท่องเที่ยวเมืองผู้ดีที่คิดจะมาท่องเที่ยวพักผ่อนที่เมืองไทยแล้วละก็… อย่าริเอาบุหรี่ไฟฟ้าติดตัวมาเป็นอันขาด เพราะนั่นอาจทำให้ติดคุก 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

และเว็บไซต์  www.gov.uk ของรัฐบาลอังกฤษ ก็ออกมาให้คำแนะนำคนชาติตัวเองว่า ห้ามอุปกรณ์สูบบุหรี่ที่ใช้ไอน้ำ เช่น บุหรี่ไฟฟ้า หรือบารากู่ไฟฟ้า เข้ามาในประเทศไทย เพราะมีนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษถูกจับมาแล้วหลายราย

‘บุหรี่ไฟฟ้า’ สิ่งต้องห้ามตามกฎหมายไทย

แต่สำหรับเมืองไทย “บุหรี่ไฟฟ้า” เป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมายไทยทั้ง “ห้ามนำเข้า” และ “ห้ามผ่าน” ในราชอาณาจักร

กรณีนำเข้า กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เมื่อ 12 ธันวาคม 2557 ในยุคของรัฐมนตรีชื่อ “พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ” เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557

โดยที่อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง (1) และมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522

ตามข้อ 4  ให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร ให้สาร สารสกัด หรือสิ่งอื่นใด ที่ใช้เป็นแหล่งกำเนิดควันหรือละอองไอน้ำ เพื่อการสูบแบบบารากู่ และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งนำเข้ามาพร้อมสินค้าตามวรรคหนึ่งเพื่อใช้ร่วมกัน เป็นสินค้า ห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรด้วย

เหตุผลของการออกประกาศฉบับดังกล่าวเพราะ…

“เป็นการสมควรกำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้าม ในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อป้องกันมิให้มีการนำสินค้าดังกล่าวไปใช้อันก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพ สุขอนามัย สังคม ความมั่นคงของประเทศ และความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน”

หากฝ่าฝืนก็จะเจอโทษตาม มาตรา 20 ของพระราชบัญญัติการส่งออก ไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีหรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้าที่ส่งออกหรือนำเข้า หรือทั้งจำทั้งปรับ กับให้ ”ริบสินค้า” รวมทั้ง “สิ่งที่ใช้บรรจุ” และ” พาหนะใดๆ ที่ใช้ในการบรรทุกสินค้า” 

นอกจากโทษที่ “จับ – ปรับ” แล้ว ไฮไลท์ของมาตรา 20 คือ อัยการมีสิทธิขอให้ศาลสั่งจ่าย “เงินสินบน” แก่ “ผู้นำจับ” ร้อยละ 30 และร้อยละ 25 ให้ “ผู้จับ” อีกด้วย ตามที่กฎหมายบัญญัติต่อว่า

“ในกรณีที่มีการจับกุมผู้กระทำความผิด เมื่อพนักงานอัยการร้องขอให้ศาลสั่งจ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับร้อยละสามสิบ และเงินรางวัลแก่ผู้จับร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนเงินสุทธิค่าขายของกลางที่ศาลสั่งให้ริบ หรือในกรณีที่มิได้ริบของกลาง หรือของกลางไม่อาจขายได้ให้หักจ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล”

“ในกรณีที่ไม่มีผู้นำจับให้จ่ายเงินรางวัลแก่ผู้จับร้อยละสามสิบของจำนวนเงินสุทธิค่าขายของกลางที่ศาลสั่งให้ริบ หรือในกรณีที่มิได้ริบของกลางหรือของกลางไม่อาจขายได้ให้หักจ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล”

“ในกรณีที่ผู้นำจับหรือผู้จับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีหลายคน ให้แบ่งจ่ายเงินสินบน หรือเงินรางวัลแก่บุคคลในฝ่ายนั้นคนละเท่า ๆ กัน”

“ในกรณีที่จับของกลางได้ แต่ไม่ปรากฏตัวผู้กระทำความผิด ให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศโดยอนุมัติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มี อำนาจสั่งจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลจากจำนวนเงินสุทธิค่าขายของกลางที่ตก เป็นของแผ่นดิน โดยไม่เกินอัตราที่กำหนดในมาตรานี้”

แต่ทว่า พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ที่บังคับใช้มาแล้ว 36 ปีไม่ทันสมัย

จึงมีการปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้อีกครั้งในยุคของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2558  สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  มีมติเห็นชอบวาระ 3 ให้พระราชบัญญัติ การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า (ฉบับที่ ๒) บังคับใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนน 186 ต่อ 0 งดออกเสียง 4 เสียง

สาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นมาจากเมื่อ 36 ปีที่แล้วคือเรื่อง “ห้ามนำผ่านราชอาณาจักร”

กฎหมายที่ปรับปรุงใหม่ให้นิยามคำว่า “นำผ่าน” ไว้ว่า “นำหรือส่งสินค้าผ่านราชอาณาจักรโดยมีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด ของการขนส่งนอกราชอาณาจักร ไม่ว่าจะมีการพักสินค้า การเปลี่ยนถ่ายยานพาหนะ หรือการเพิ่ม หรือเปลี่ยนภาชนะบรรจุสินค้าในราชอาณาจักรเพื่อประโยชน์ในการขนส่งหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ จะต้องไม่มีการใช้ประโยชน์ใดๆ ซึ่งสินค้านั้นในราชอาณาจักร”

และโทษของการ “นำผ่าน” สินค้าต้องห้ามคือ โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 2 เท่าครึ่งของสินค้าที่นำผ่าน หรือทั้งจำทั้งปรับ กับให้ริบสินค้ารวมทั้งสิ่งที่ใช้บรรจุและพาหนะที่ใช้ขนด้วย

เป็นเหตุให้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559  “อภิรดี ตันตราภรณ์”  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง สินค้าต้องห้ามนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. 2559 อาศัยอำนาจตามมาตรา 5/1 พระราชบัญญัติ การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า (ฉบับที่ ๒)

โดยปรากฏใน ข้อ 3 ให้สินค้าตามบัญชีท้ายประกาศนี้เป็นสินค้าต้องห้ามนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. 2559 ซึ่ง 1 ในบัญชีแนบท้ายประกาศลำดับ 3 ก็คือ “บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” นั่นเอง

ดังนั้น เมื่อ “บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” เป็นสิ่งที่กฎหมายไทยระบุว่า “เป็นสินค้าอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค”  จึงมีคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 ลงวันที่ 28 มกราคม 2558 และ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค(ฉบับที่3) พ.ศ. 2556 ห้ามขายสินค้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งนี้ ให้รวมถึงการให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือจัดหาให้ไม่ว่าด้วยประการใด ๆ รวมถึงการเสนอหรือการชักชวนเพื่อการดังกล่าว ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นี่จึงเป็นเหตุผลว่า “บุหรี่ไฟฟ้า” รวมไปถึง “บารากู่ไฟฟ้า” เป็นสิ่งต้องห้ามในประเทศไทย

หากเผลอนำเข้ามา หรือ ยืนสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่สนามบินในเมืองไทย อาจเจอ “แจ็กพ็อต” ถูกจับเอาง่ายๆ เพราะหากมีการจับกุมรางวัลสินบนนำจับก็จะตกอยู่กับทั้ง “ผู้แจ้ง” และ “ผู้จับ”

แย่กว่านั้นอาจเป็นช่องให้เกิดการ “รีดไถ” ก็เป็นได้