ธ.ก.ส.ขอผ่อนเกณฑ์ NPL ยืดเวลาลูกหนี้เกษตรค้างเกิน 3 เดือน

ธ.ก.ส. วอนแบงก์ชาติจัดชั้นหนี้เสีย-คิดเอ็นพีแอลใหม่ ชี้ลูกหนี้เกษตรกรงวดชำระต่างจากลูกหนี้แบงก์อื่น ระบุใช้เกณฑ์เดียวกับแบงก์ทั่วไปจะดันเอ็นพีแอลระหว่างปีพุ่ง ด้าน สศค.พร้อมหนุนจัดชั้นหนี้ ธ.ก.ส.ใหม่

แหล่งข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธ.ก.ส.จะหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้เปลี่ยนวิธีการคิดหนี้ค้างชำระที่กลายเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เนื่องจากการชำระหนี้ของเกษตรกรมีความแตกต่างจากลูกค้าแบงก์ทั่วไป เพราะเป็นการชำระตามฤดูกาล ส่วนใหญ่จะไปชำระหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต หรือราวปลายปีบัญชี ธ.ก.ส. (ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.)

“การชำระหนี้ของลูกค้า ธ.ก.ส.ไม่เหมือนกับธนาคารทั่วไป เพราะ ธ.ก.ส.จะมีงวดชำระเป็นรายปี แต่ปัจจุบัน ธปท.จะกำหนดให้หนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน กลายเป็นเอ็นพีแอล ซึ่งธนาคารคงต้องคุยกับ ธปท.ขอปรับตรงนี้ อาจจะเป็นค้างชำระเกิน 6 เดือนค่อยเป็นเอ็นพีแอลก็ได้ หรือยังคงคิดเอ็นพีแอลหากค้างชำระเกิน 3 เดือน แต่แยกรายละเอียดการจัดชั้นหนี้ให้ละเอียดขึ้น โดยอาจจะนำแนวโน้มรายได้ตามฤดูกาลมาช่วย” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ปัจจุบันเอ็นพีแอลของลูกค้า ธ.ก.ส.จะเพิ่มขึ้นช่วงระหว่างปีค่อนข้างมาก อย่างปีบัญชี 2560 นี้ ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2560 ถึงปัจจุบัน ระดับหนี้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 5% ของสินเชื่อรวม ซึ่งเป็นแบบนี้ทุกปี ทำให้แบงก์มีภาระต้องตั้งสำรองมาก

ขณะที่ก่อนหน้านี้ในปีบัญชี 2559 (1 เม.ย. 2559-31 มี.ค. 2560) ถึง ณ วันที่ 31 มี.ค. 2560 ธ.ก.ส.มีเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ จำนวน 50,462.44 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจาก ณ 31 มี.ค. 2559 ที่อยู่ที่ 38,049.93 ล้านบาท) ประกอบด้วย ลูกหนี้จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน จัดชั้นสงสัย และจัดชั้นสงสัยจะสูญ เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ตามธุรกรรมปกติ จำนวน 46,883.28 ล้านบาท (ไม่รวมสินเชื่อด้อยคุณภาพเงินให้สินเชื่ออื่น จำนวน 19.70 ล้านบาท) และเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ตามธุรกรรมนโยบายรัฐ จำนวน 3,579.16 ล้านบาท ทั้งนี้ สินเชื่อด้อยคุณภาพคิดเป็น 4.03% ของยอดรวมเงินให้สินเชื่อเกษตรกร สถาบันเกษตรกร นิติบุคคล จำนวน 1,253,056.70 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีบัญชี 2559 ที่สินเชื่อด้อยคุณภาพมีสัดส่วน 3.23% ของยอดรวมเงินให้สินเชื่อเกษตรกร สถาบันเกษตร นิติบุคคล จำนวน 1,176,443.73 ล้านบาท)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวยอมรับว่า หากใช้วิธีการจัดชั้นหนี้เหมือนกับธนาคารอื่น ๆ ก็น่าเห็นใจ ธ.ก.ส.ที่มีงวดการชำระหนี้แตกต่างไป ซึ่งเรื่องนี้คงต้องขึ้นกับทาง ธปท.จะพิจารณา แต่ทางกระทรวงการคลังเห็นด้วย หากจะมีการปรับให้เหมาะสมขึ้น เช่น อาจจะพิจารณาจากการค้างชำระเกิน 3 งวดแทน จากเดิมที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน เป็นต้น

“เรื่องนี้ก็น่าเห็นใจ ธ.ก.ส. แต่ก็ต้องขึ้นกับทาง ธปท. หากทำได้ เราก็สนับสนุน” นายกฤษฎากล่าว